"โขนเด็กรุ่นจิ๋ว" สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ศาสตร์-ศิลป์ชั้นสูง
เปิดมุมมองผู้ปกครองสนับสนุนให้ลูกเรียน "โขนเด็กรุ่นจิ๋ว" ศาสตร์-ศิลป์ชั้นสูง สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมไม่ให้เลือนหาย อันเป็นสมบัติของชาติ สาขานาฏศิลป์ให้คงอยู่ และเป็นที่ประจักษ์กว้างไกลในระดับสากล
เป็นอีกเรื่องที่น่ายินดีกับประเทศไทยเมื่อทาง เว็บไซต์ U.S. News & World Report ได้ประกาศรายชื่อการจัดอันดับ “ประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก” ประจำปี 2567 ซึ่งประเทศไทยติดอันดับที่ 8 ในการจัดอันดับ “ประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมที่สุดในโลก 2567” หรือ Thailand Ranked 8 th in 2024 Best Countries Heritage จากทั้งหมด 89 ประเทศ
และอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยนั่นก็คือ โขน (Khon) เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างาม อลังการและอ่อนช้อย การแสดงประเภทหนึ่งที่ใช้ท่ารำตามแบบละครใน แตกต่างเพียงท่ารำที่มีการเพิ่มตัวแสดง เปลี่ยนทำนองเพลงที่ใช้ในการดำเนินเรื่องไม่ให้เหมือนกับละคร แสดงเป็นเรื่องราวโดยลำดับก่อนหลังเหมือนละครทุกประการ ซึ่งไม่เรียกการแสดงเหล่านี้ว่าละครแต่เรียกว่าโขนแทน มีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งโขนไทยได้รับการขึ้นบัญชีเป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2552 และได้ผ่านการพิจารณา ของคณะกรรมการร่วม ระหว่างรัฐบาลของยูเนสโก ขึ้นบัญชี ‘Khon, masked dance drama in Thailand’ (การแสดงโขนในประเทศไทย) เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2561
ซึ่งในปัจุบันก็มีโรงเรียนและหลายสถานที่ให้เด็กๆมาฝึก มาเรียนการแสดงโขน รวมถึงพื้นที่ในการให้เด็กๆได้แสดงออก เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทย อาทิ คุณ พุทธิชัย โชติประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันเอกชนการละคร และผู้ทำคุณประโยชน์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขา ศิลปะการแสดง รายการโขน ประจำปีพุทธศักราช 2565 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ กระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงความสำคัญในการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของไทยไว้ว่า
นาฏกรรมโขน เป็นอีกมิติในการพัฒนางานศิลปะนาฏกรรมให้มีความร่วมสมัย และเหมาะแก่การเรียนรู้ของเด็กเจนอัลฟาที่สามารถเรียนรู้ได้เร็ว เป็นการสืบสานรักษาต่อยอดให้โขนสามารถถ่ายทอดสู่เด็กรุ่นต่อไป ตามแนวทางที่ยูเนสโกได้ให้ไว้ เมื่อครั้งประกาศให้โขน เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาวงการนาฏศิลป์ และเป็นกิจกรรมที่สามารถต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติได้อย่างแท้จริง โขนเป็นกิจกรรมที่พัฒนาทักษะผู้เรียน ทั้งด้านร่างกาย ด้านสติปัญญา ด้านอารมณ์ ด้านสังคม ด้วยความมุ่งมั่น ที่จะพัฒนา ให้โขนสร้างคน เพื่อให้คนไปสร้างชาติ
ทาง คมชัดลึกออนไลน์ ได้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับผู้ปกครองรวมถึงเด็กๆนักเรียนที่ได้เข้ามาเรียนโขน โดยให้ความสําคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรมไทย สืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ และอีกหนึ่งนักเรียนรุ่นเล็ก โขนเด็กรุ่นจิ๋ว อย่าง ด.ช.ธีร์วริศ กีรติพัฒน์ธำรง (น้องต้นกล้า) วัย 5 ขวบ ได้เล่าความในใจว่าทำไมถึงสนใจอยากเรียนโขน เพราะว่า "ต้นกล้าชอบโขน เพราะว่าได้ไปไหว้ครูที่สุโขทัยกับแม่ กลับมาถึงกรุงเทพ ต้นกล้าก็บอกแม่ว่า อยากเรียนโขน การเรียนไม่ยาก แต่ช่วงแรกๆก็มีความงอแงนิดหน่อย ดีใจที่ได้เรียนโขน ดีใจมากๆที่ได้แสดงโขน จะเรียนไปถึงตอนโตเลย"
ทางด้าน คุณ พิมพาภัทร์ กีรติพัฒน์ธำรง (คุณแม่น้องต้นกล้า) กล่าวว่า "ด้วยแม่ชอบโขน และจบจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (นาฏศิลป์) เมื่อต้นปีที่ผ่ามมา แม่ได้มีโอกาสพาน้องต้นกล้า ไปเข้าร่วมพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ ที่ วิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่น้องได้เห็นการรำ การเต้นโขน ซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูงของไทยอย่างใกล้ชิด ได้จับได้ถ่ายรูปกับเศียรโขนครั้งแรก และเมื่อกลับจากงานพิธีไหว้ครูในวันรุ่งขึ้นน้องต้นกล้าได้เดินมาขออนุญาตแม่ว่า “ต้นกล้าขอเรียนโขนได้มั้ยครับแม่” ด้วยสายตาที่มุ่งมั่ง แม่ไม่ลังเลเลยค่ะ ในการติดต่อทางสถานบันเอกชนการละครให้น้องต้นกล้าได้เข้าเรียนรู้และฝึกปฏิบัติโขนไทยตามที่น้องตั้งใจ แม่ภูมิใจมากๆค่ะ ไม่คิดว่าน้องต้นกล้าจะจริงจัง อดทน มุ่งมั่นกับการฝึกโขนได้ขนาดนี้ เพราะศิลปะแขนงนี้ต้องใช้ความอดทนสูงในการฝึกฝน แม้กระทั้งการใส่ชุดแสดงจริง ที่ทั้งแน่น หนัก อึดอัด และไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้เลย ภูมิใจและจะส่งเสริมสนับสนุนน้องต้นกล้าต่อไปค่ะ"
ทางด้านคุณพ่อน้องต้นกล้า คุณ จักรพันธ์ กีรติพัฒน์ธำรง กล่าวว่า "ผมมีความชื่นชอบในเรื่องของการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยอยู่แล้ว พอลูกชอบและสนใจ เราก็อยากสนับสนุน ภรรยาก็เลยพาไปเรียนโขนที่สถาบันแห่งนี้ พอเรียนแล้วก็ได้มีโอกาสไปแสดงในโอกาสต่างๆ ทำให้ลูกฝึกความกล้าแสดงออก ฝึกสมาธิ ฝึกความอดทน และยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกฝังให้ลูกรักและสืบทอดในศิลปวัฒนธรรมไทยอีกด้วย" เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ให้ลูกหลานชาวไทยได้สืบสานต่อ ยอดผ่านการเรียน “โขนเด็กรุ่นจิ๋ว” อันเป็นสมบัติของชาติ สาขานาฏศิลป์ให้คงอยู่ และเป็นที่ประจักษ์กว้างไกลในระดับสากล