ไลฟ์สไตล์

แตรวงเด็กบ้านหนองเอี่ยนสร้างอนาคตกันมั่วยาบ้า

30 พ.ค. 2553

เสียงเครื่องดนตรีหลายประเภทประสานเสียงด้วยความพร้อมเพรียงทำให้เกิดทำนองอันไพเราะดังสนั่นทั่วหมู่บ้านหนองเอี่ยน ในช่วงเย็นวันศุกร์ และ เสาร์ ที่บริเวณใต้ถุนบ้านทรงไทยหลังงามของนายสุพจน์ วงศ์ยะรา กำนันตำบลวัดแก้ว อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที

 นายสุพจน์ เล่าให้ฟังถึงการกำเนิดแตรวงฟ้าประทาน ว่า ในหมู่บ้านหนองเอี่ยนนั้นมีชาวบ้านหลายคนมีอาชีพเป่าแตรวงมาก่อนจึงเกิดแนวคิดว่าถ้าสนับสนุนให้เยาวชนในหมู่บ้านนั้นได้เป่าแตรวงบ้างก็น่าจะดีเพราะในหมู่บ้านนั้นมีเด็กที่อยู่ในวัยเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 8 - 18 ปี จำนวนมาก จึงเกรงว่าถ้าปล่อยให้เด็กเหล่านี้ใช้เวลาว่างไปในทางที่ผิดก็จะทำให้เกิดปัญหาสังคมขึ้นมาได้ การเล่นดนตรีแตรวง ก็จะทำให้เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านไม่หันไปหายาเสพติด โดยเฉพาะเรื่องของยาเสพติดที่ตอนนี้กำลังระบาดหนัก เล่นการพนัน หรือเข้าร้านเกมส์ที่ส่งผลกระทบกับเด็กในอนาคต

 จึงได้เริ่มนำเด็กมาฝึกสอนพร้อมกับยืมเครื่องดนตรีจากชาวบ้านที่มีอาชีพเป่าแตรวงมาให้เด็กได้ลองเล่นดูและที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กก็ได้ให้การสนับสนุนลูก ๆ มาฝึกซ้อมเล่นดนตรีแตรวง เพื่อในอนาคตสามารถนำวิชาความรู้การเล่นดนตรีไปเป็นอาชีพได้ โดยมีนายอุดร วงศ์ยะรา ซึ่งเก่งในเรื่องของเครื่องดนตรีแตรวงแถบทุกชิ้น ไม่ว่าจะตีกลองชุด เป่าแตร ทรัมเบ็ด แซกโซโฟน มาช่วยฝึกสอนให้ อีกทั้งยังมีอาจารย์ประเทือง บัวแตง อดีตข้าราชการบำนาญ ผู้ที่จิตใจงดงามมีจิตวิทยาสูงในการควบคุมอุปนิสัยของเด็ก ๆ ที่มาฝึกซ้อมให้อยู่ในระเบียบวินัยได้เป็นอย่างดี

 ช่วงเริ่มแรกนั้นก็มีเด็กมาร่วมฝึกฝนบ้าง แต่ยังไม่มากนักเพราะมีเครื่องดนตรีน้อย ตนได้จึงทำเรื่องเสนอของบประมาณจากกองทุนพัฒนาชุมชนจังหวัดราชบุรีในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด และบริษัท ราชบุรี เพาเวอร์ จำกัด เป็นจำนวนเงิน 230 , 850 บาท เพื่อซื้ออุปกรณ์แตรวงจำนวน 210 , 450 บาท ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายให้กับครูฝึกสอน และครูผู้ควบคุมดูแล 24 , 000 บาท และได้รับเงินบริจาคจากนายณัฐพร ศรีสิงห์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าราชบุรี อีก 15 , 000 บาท ทำให้มีอุปกรณ์ในการเล่นแตรวงพร้อม เด็กๆในหมู่บ้านก็เริ่มสนใจและหันมาร่วมฝึกซ้อมกันเป็นจำนวนมาก

 จนทำให้ เกิดแตรวง ชื่อ ฟ้าประทาน มาตั้งแต่ต้นปี 2552 คำว่า “ ฟ้าประทาน ” เป็นชื่อของคณะแตรวง มีความหมายว่า มีผู้มอบเงินมาช่วยเหลือ จนสามารถตั้งเป็นคณะขึ้นมาได้ เหมือนกับมี “ ฟ้าประทาน ” ให้ กำนันสุพจน์กล่าวอย่างนั้น ที่ผ่านมาแตรวง ฟ้าประทาน ได้ออกรับงานเล่นแตรวงตามงานพิธีต่าง ๆ ทั้งงาน บวชนาค ทอดกฐิน ผ้าป่า งานขึ้นบ้านใหม่ ตามแต่จะถูกว่าจ้างให้ไปเล่น ซึ่งเงินค่าจ้างที่ได้มาส่วนหนึ่งก็จะเป็นค่าแรงให้กับเด็กๆที่ไปเล่นเพื่อเป็นกำลังใจและเป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวของเด็กได้อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนหนึ่งก็จะเก็บไว้เป็นกองทุนในการซ่อมแซมและซื้ออุปกรณ์ใหม่แทนของเก่าที่ชำรุด นอกจากนี้แตรวง “ ฟ้าประทาน ” กำลังจะพัฒนาไปสู่การเล่นดนตรีสากล และรำวงย้อนยุคด้วยฝีมือของเด็ก เยาวชนเหล่านี้ด้วย

 และความตั้งใจของเด็ก ๆ ที่ร่วมกันฝึกซ้อมจนสามารถบรรเลงเพลงได้กว่า 70 เพลง ออกงานได้อย่างสบาย และมีผู้มาว่าจ้างให้ไปเล่นบรรเลงในงานบวชนาคแล้วเกือบ 20 งาน แต่ละงานจะเล่น 2 ช่วงเวลา ตั้งแต่ช่วงโกนผมนาค และแห่นาคเข้าโบสถ์ ส่วนใหญ่งานจะมีวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ทำให้เด็กทำงานนอกเวลาเรียนได้ แต่ละครั้งจะรับงานละ 8 , 000 – 10 , 000 บาท อยู่ที่งานใหญ่หรือเล็ก เฉลี่ยเด็กจะได้เงินค่าแรงครั้งละ 250 – 300 บาทต่องาน ส่วนครูสอนและผู้ควบคุมวง ตลอดจนค่าจ้างคนขับรถรับส่งเครื่องดนตรี ก็จะได้เงินค่าแรงตามสัดส่วนกันไป ที่เหลือก็นำเข้าเป็นเงินกองทุนเพื่อนำไปซื้อและบำรุงอุปกรณ์เครื่องดนตรีต่อไป

 “ช่วงแรกที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาชุมชนจังหวัดราชบุรี ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า แล้วมาทำประชาคมหมู่บ้าน ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าให้เด็กในหมู่บ้าน และหมู่บ้านข้างเคียงมาฝึกซ้อมดนตรีเพื่อให้เกิดวิชาความรู้ด้านดนตรี และจะช่วยทำให้เด็กห่างไกลยาเสพติด นอกจากนี้ผู้ปกครองบางคนมีอาชีพเล่นแตรวงอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีแตรวงประจำหมู่บ้าน ตรงนี้ผู้ปกครองก็เลยให้การสนับสนุนมาเป็นครูฝึก ” กำนันสุพจน์กล่าว

 นายอุดร วงศ์ยะรา ครูฝึกสอน บอกถึงวิธีการฝึกสอนให้เด็กว่า ช่วงแรกให้เด็กเป่าแตรวงให้ดังก่อน แล้วไล่เสียงอ่านโน้ต โด เร มี ของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น เมื่อทุกคนทำได้ก็มาเล่นรวมกันบรรเลงให้เป็นไปตามทำนองเพลง ด้วยบันไดเสียงตามตัวโน้ต การฝึกต้องใจเย็น และค่อย ๆ หัดไปจากเพลงหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม เมื่อเด็กเป่าได้ก็จะเพลินไปกับเพลงจนทุกคนเก่งไปเอง แต่ต้องใช้เวลาหน่อย สำหรับเพลงที่เล่นก็เป็นเพลงลูกทุ่ง เพลงสตริง ตั้งแต่จังหวะรำวง กลองยาว เพลงม้าย่อง สามช่า แล็กเก้

 นายประเทือง บัวแตง ครูผู้ควบคุมวงอดีตข้าราชการบำนาญ ให้ทัศนะถึงอุปนิสัยของเด็กว่า ดนตรีเป็นศิลปะเพลิดเพลิน ได้ความสนุกสนานและได้สมาธิ การฝึกให้เด็กเล่นดนตรีก็จะได้ทั้งวิชาความรู้ติดตัว วันศุกร์ – เสาร์ – อาทิตย์ ได้ไปเป่าตามงานก็จะได้เงินเด็ก ๆ จะได้ไม่ต้องไปขอเงินพ่อแม่ไปโรงเรียน ที่สำคัญเด็กเหล่านี้จะได้ห่างไกลยาเสพติด สอนตั้งแต่เรื่องอุปนิสัย คุณธรรม จริยธรรม การปฏิบัติตนให้สอดแทรกไปกับการเล่นดนตรี

 “ใหม่ ๆ เหมือนกับจับปูใส่กระด้ง เพราะเด็กต่างวัย ตั้งแต่ 8 – 18 ปี แต่ค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมของเด็กให้สามารถเข้ากันได้ สอดแทรกวิชาการ คุณธรรม จริยธรรมไปพร้อม ๆ กับครูสอนดนตรี ประการแรกต้องการให้เด็กมีความรู้เรื่องดนตรี ประการที่สองเพื่อมีอาชีพเสริมติดตัวไปในอนาคต ประการที่สามให้เป็นไปตามนโยบายของหมู่บ้านที่ส่งเสริมให้เด็กเล่นดนตรี แทนที่เด็กจะไปมั่วสุมเรื่องของยาเสพติด ในที่ ๆ ไม่ควรจะไปเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ที่สำคัญเด็กที่มีวิชา มีความรู้พิเศษติดตัวไป มีโอกาสเข้าเรียนในระดับสูง เพราะมีความสามารถติดตัวอยู่แล้ว เมื่อฝึกสอนจบแล้วทางคณะกรรมการหมู่บ้านก็จะออกหนังสือรับรองว่าเด็กได้ผ่านการฝึกสอนด้านดนตรีของหมู่บ้านเพื่อเกียรติบัตรเป็นหลักฐานในการจบหลักสูตรด้านดนตรีของหมู่บ้าน ” อาจารย์ประเทือง บัวแตง กล่าว

 ด้านเด็กชายชยาวุฒิ ภูเบ้าทอง อายุ 10 ปี นักเรียนโรงเรียนบ้านหนองเอี่ยมกล่าวให้ฟังว่า “ ทีแรกก็เป่าดังบ้าง ไม่ดังบ้าง พอฝึกไปนาน ๆ ก็สามารถเป่าให้เป็นเพลงได้ ด้วยอาศัยความจำ และอ่านโน้ต รู้สึกสนุกสนานกับการเล่นดนตรีมากครับ ซึ่งเพื่อน ๆ ในวงก็คงรู้สึกแบบเดียวกับผม อย่างน้อยได้เงินจากการเล่นดนตรีตามงานมาช่วยพ่อแม่แบ่งเบาภาระเรื่องการเงินได้บ้าง ”

 ส่วนเด็กชายชินณุพงศ์ อิ่มบุญ อายุ 12 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่เก่งในด้าน เป่าแตร กล่าวว่า “ เด็กในหมู่บ้านส่วนใหญ่ชอบดนตรีอยู่แล้ว เมื่อมีงานบวชทีไร มักจะไปดูช่วงที่มีการแห่นาค และมีแตรวง ทุกคนจึงจำฝังใจที่จะอยากเล่นดนตรีแตรวง เพราะคนในหมู่บ้านเล่นแตรวงกันมาก เมื่อมีโอกาสได้มาเล่นก็จะนำวิชาความรู้ไปประกอบหาเลี้ยงชีพได้ ซึ่งเด็กหลายคนก็ชอบ ครูที่สอนก็บอกว่าอนาคตอาจจะมีการเล่นเป็นดนตรีสากล หรือจะเป็นรำวงย้อนยุค เพราะทุกคนที่มาฝึกซ้อมเก่งแล้ว ”

 และแตรวง ฟ้าประทานของชุมชนบ้านหนองเอี่ยม จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ผู้นำชุมชนเห็นความสำคัญของเด็ก และเยาวชนในหมู่บ้าน มอบโอกาสและวิชาความรู้ให้ แม้จะเป็นหมู่บ้านเล็กในอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี แต่ที่นี่ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง และมีความสุข

สายชล ศรีนวลจันทร์รายงาน