เรื่องเด่นประเด็นดัง-บ้านนี้มีอริยะ
การพยายามนำธรรมะกลับเข้ามาสู่หัวใจของผู้คน การเยียวยาผู้คน ผ่านกิจกรรมและสื่อที่หลากหลายดูจะกลายเป็นภาพจำของ "เสถียรธรรมสถาน" ป่าปลูกมือใจกลางกรุงไปแล้ว เพราะนอกจากใน 7 วันธรรมดาที่เสถียรธรรมสถานเปิดประตู "บ้าน" กว้าง รับผู้คนเพื่อเข้าไปปฏิบัติธรรม ศึกษาธ
โดยได้ผลิตสื่อเพื่อ "ส่ง" ธรรมะให้ผู้คน "รับ" ไปในหัวใจ และทำหน้าที่เป็น "เพื่อนร่วมทุกข์" อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้มเพลงภาวนา ซึ่งมีเนื้อเพลงที่เราคุ้นหูกันดี อย่าง "ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ดั่งดอกไม้บาน..." นิตยสารและหนังสือธรรมะที่ใช้ภาษาง่ายๆ เหมาะกับทุกเพศวัย การ์ตูนแอนิเมชั่นสอนธรรมะแก่เด็กๆ กระทั่งโฆษณาสอนใจ ที่ใช้เวลาสั้นๆ ไม่เกิน 30 วินาที โดยสื่อทุกประเภทที่กล่าวมานี้มีจุดประสงค์อย่างเดียวกัน คือ การทำให้ผู้คนรู้ทัน และก้าวพ้นจากความทุกข์
และไม่นานมานี้ เสถียรธรรมสถานก็ได้แนะนำผลงานสื่อชนิดใหม่ที่จะมาช่วยเสริมให้การเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์ให้ไปได้กว้างขวางมากขึ้น ได้แก่ รายการโทรทัศน์ หนึ่งในการทำงาน "ป้องกัน" ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของการทำงานของเสถียรธรรมสถาน คือ เป็นการสร้าง "ภูมิคุ้มกันความทุกข์" แก่ผู้คนและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นแทนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
"บ้านนี้มีอริยะ" คือ ชื่อของรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 6 โมงเย็น ที่ช่อง TNN2 โดยเป็นรายการที่มุ่งหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างให้ส่วนที่เล็กที่สุดในสังคม คือ ครอบครัว ได้ทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุดในการร่วมกันสร้างให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวเป็น "อริยชน" คือ บุคคลผู้ประเสริฐ หรือบุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ผ่านการนำข้อธรรมะทางพุทธศาสนาเข้าไปประยุกต์ใช้ชีวิตประจำวันธรรมดาทั่วไป
โดยรายการบ้านนี้มีอริยะจะสอดแทรกธรรมะสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันผ่านช่วงต่างๆ ของรายการหลากหลายช่วง ไม่ว่าจะเป็นช่วงการสนทนาธรรมตอบคำถามสั้นๆ ระหว่างหนูน้อยสติมา ตัวการ์ตูนหน้าตาน่ารักกับท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต หรือช่วงสัมภาษณ์ที่จะนำเสนอแนวคิดดีๆ เกี่ยวกับการพัฒนาให้ครอบครัวเป็นครอบครัวอริยะผ่านมุมมองของผู้ที่ใช้ชีวิตตามแนวทางของพระพุทธองค์อย่างตั้งใจ และช่วงสุดท้าย ที่นำเสนอเรื่องราวของเหล่าอาสาสมัคร ที่เข้ามาแบ่งปันความรู้ ความสามารถ ความถนัด และความชำนาญ ในการร่วมกันสร้างให้เกิดสังคมอริยะขึ้น
“เราควรเริ่มต้นที่บ้านของเราค่ะ ทำทุกบ้านให้มีอริยะ และพัฒนาสติปัญญาเพื่อเป็นรากฐานของการเดินทางเข้าสู่กระแสของอริยชน ถ้าบ้านนี้มีอริยชนได้ เราก็จะมีอริยธรรม อริยะ แปลว่า ประเสริฐ แปลว่ามีอิสระจากทุกข์ ฉะนั้น ถ้าเราสร้างให้บ้านเป็นที่สร้างหรือบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งสติปัญญาในใจของเราทุกคน เริ่มต้นกันทุกบ้าน เมื่อบ้านนี้มีอริยะ โลกใบนี้ก็มีอริยชน" คือคำกล่าวที่แม่ชีศันสนีย์ให้ไว้เกี่ยวกับความตั้งใจของเสถียรธรรมสถานเกี่ยวกับการผลิตงานชิ้นใหม่นี้
นอกจากสื่อโทรทัศน์แล้ว สิ่งของง่ายๆ ที่ทุกคนคุ้นชิน และไม่คิดว่าจะสามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่ธรรมะได้ อย่าง "ขวดน้ำดื่ม" ก็ถูกนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการเผยแผ่ธรรมะได้อย่างน่าสนใจเช่นกัน
ขวดน้ำสีสวย 5 สี ไม่ว่าจะเป็นสีทอง สีเงิน สีฟ้า สีชมพู และสีม่วง ดูเผินๆ แล้วอาจเป็นแค่ขวดน้ำธรรมดา แต่ถ้าคนดื่มมองที่ฉลากบนขวดก็จะเห็นข้อธรรมสั้นๆ ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่เสถียรธรรมสถานตั้งใจให้เมื่อมองเห็นแล้ว "สะกิดใจ" ผู้ที่มองเห็น
"ทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่มีไว้ให้เป็น Suffering is to be seen, not to be lived"
"รู้ทันไหว ใจจึงตื่น Awareness of mental changes leads to consciousness"
"รู้ ตื่น เบิกบาน Be conscious and joyful"
"รักให้เป็น ไม่เป็นทุกข์ Love based on wisdom, never bring forth suffering"
"จิตที่คิดจะให้นั้นเบา จิตที่คิดจะเอานั้นหนัก Willing to give to others makes a light mindset, while engrossing to take from others makes a heavy one"
ข้อธรรมสั้นๆ ข้างต้น หากมองเผินๆ อ่านผ่านๆ อาจจะไม่ได้เห็นความลึกซึ่งของความหมาย แต่หากอ่านอย่างพิจารณาและตั้งใจ ข้อธรรมทั้งหมดนั้นคือหลักธรรมข้อใหญ่ที่จะทำให้ผู้ประพฤติตามสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข...ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นกุศโลบายที่น่าสนใจในการนำธรรมะเข้าไปสะกิดใจผู้คนในทุกเพศวัย และก็เป็นอีกหนึ่งในการทำงานเชิงรุกของเสถียรธรรมสถานเช่นเดียวกัน
นอกจากการทำงานเชิงรุกแล้ว เสถียรธรรมสถานก็ไม่ได้ทิ้งงานเชิงรับ และหนึ่งกิจกรรมที่เห็นได้ก็คือ การรวบรวมอาสาสมัครจากหลากหลายองค์กรภาคีที่มี "จิตอาสา" มาร่วมกันฟื้นฟูและเยียวยากรุงเทพฯ หลังเหตุการณ์ความไม่สงบจบลง ในโครงการ "ร้อยดวงใจไทยอาสา จิตอาสาภาวนารับใช้" โดยเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่กว่าห้าร้อยชีวิตได้ร่วมลงพื้นที่ นำของไปบริจาค และร่วมพูดคุยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้น
“ผมมาเป็นอาสาสมัครของเสถียรธรรมสถานอย่างรู้ ตื่น เบิกบาน ขอบคุณงานครับ” "อ๊อฟ" ศุภณัฐ เฉลิมชัยเจริญกิจ เอเอฟ 2
“ผมฟังเรื่องราวของของกิจกรรมจิตอาสาแล้วรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ เพราะเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามัคคีกลมเกลียวกันในประเทศ เป็นการละลายความขัดแย้งในสังคม ผู้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมนี้ เราจะไม่แบ่งแยกว่าเป็นเสื้อสีไหนครับ ทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เราช่วยเหลือกันหมด ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดี คือมันไม่ใช่แค่เรื่องของการฟื้นฟูทางด้านวัตถุแล้ว เราต้องฟื้นฟูทางด้านจิตใจของคนในประเทศชาติของเราด้วย เป็นกิจกรรมที่สุดยอดมากครับ” "โจ้" สุรศักดิ์ ชนะศรีโยธิน เอเอฟ 4
ด้าน "แนน" ลลิตา เจียรมณีพินิจ เอเอฟ 4 บอกว่า “จิตอาสาในโครงการนี้ คือคนที่อยากจะทำให้เพื่อนมนุษย์ทุกคนที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้มีความสุขจิตใจสบาย และใจเย็นกันมากขึ้น สำหรับเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมา อยากให้ทุกคนคิดว่า สุดท้ายแล้ว ปัญหาทุกอย่างจะผ่านไปได้ ใครที่รู้สึกว่ากำลังเดือดร้อน หรือรู้สึกกำลังถูกทอดทิ้ง ก็อยากจะให้นึกถึงเพื่อนๆ ในโครงการจิตอาสานี้ ทุกคนยินดีที่จะเป็นกำลังใจให้ และอยากจะให้คำแนะนำนะคะ ไม่ว่าจะเรื่องของกำลังกายหรือกำลังใจ ทุกคนยินดีค่ะ”
การมุ่งทำงานเชิงรุก โดยสร้างภูมิคุ้มกันความทุกข์ให้แก่ผู้คนผ่านสื่อ อันเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง และการทำงานเชิงรับ ผ่านการรวบรวมเหล่าจิตอาสามาทำงานเยียวยาสังคม คือหนึ่งในกระบวนการทำงานสำคัญของเสถียรธรรมสถาน และเป็นหนึ่งในงานการปฏิบัติบูชาเพื่อเฉลิมฉลอง "พุทธชยันตี" 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ธรรมของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะมาถึงในปี พ.ศ.2555 โดยเป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระบรมศาสดาสัมมาพุทธเจ้า ต่อพระธรรม และต่อสังฆะ คืออริยเจ้าทั้งหลาย ผ่านการท้าทายให้มนุษย์ทุกคนใช้ศักยภาพในการเกิดนี้ให้เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นและพัฒนาตนให้เป็นมนุษย์ที่แท้ ไม่เป็นแค่เหยื่อ
การฝึกเจริญสติอยู่ในวิถีชีวิต ฝึกทำให้เป็นกิจวัตร เป็นวัฒนธรรม และเป็นอริยธรรม ตั้งแต่ที่ตนเอง และครอบครัว โดยเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัวทั้งหลาย นับเป็นความพยายามในการสร้างให้ "บ้านหลังใน" อันได้แก่จิตใจของตนเองและบุคคลในครอบครัวเป็นอริยะ อันจะส่งผลต่อไปยัง "บ้านหลังนอก" อันได้แก่สังคม เป็นสังคมที่มีอริยะได้ เพราะ...
เมื่อบ้านนี้มีอริยะ โลกใบนี้ก็มีอริยชน