ไลฟ์สไตล์

สธ.เก็บตัวอย่างแมลงชอนไชผิวหนังผู้ป่วยส่งตรวจ

สธ.เก็บตัวอย่างแมลงชอนไชผิวหนังผู้ป่วยส่งตรวจ

15 มิ.ย. 2553

ปลัด สธ.สั่งให้เก็บตัวอย่างแมลงชอนไชผิวหนังผู้ป่วยส่งตรวจที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมวิทย์ คาดเกิดจากแมลงหวี่วางไข่ ในขณะที่อธิบดีกรมการแพทย์ สันนิษฐานอาจเป็นโรคหนอนไชผิว

 ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีชายอายุ 52 ปีชาว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง มีแมลงบินออกจากรอยแผลตามผิวหนังว่า จากการรายงานน่าจะเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ 1. ชายคนดังกล่าวมีประวัติเข้าไปในป่า อาจมีแผลเกิดขึ้นตามผิวหนังแล้วมีแมลงหวี่ มากินน้ำเหลือง และเลือด แล้วไข่ทิ้งไว้ จากนั้นก็กลายเป็นตัว 2.ต้องดูว่าชายคนนี้มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำหรือไม่

 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สั่งการให้ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง ส่งแมลงไปให้นักกีฏวิทยา ภาควิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตรวจ รวมทั้งส่งให้กองกีฏวิทยาทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจด้วย ตรวจด้วยว่าเป็นแมลงชนิดใด นอกจากนี้จะให้แพทย์ผิวหนังเข้าไปตรวจดูว่าเป็นโรคอะไรกันแน่

 นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่าที่สบายใจ คือ อาการดังกล่าวไม่ใช่โรคติดต่อและไม่ทำอันตรายถึงชีวิตเพราะแมลงดังกล่าวคงไม่สามารถเข้าไปทำอันตรายอวัยวะในร่างกายจนทำให้เกิดอันตรายได้

  ด้าน นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคดังกล่าวอาจจะเป็นโรคหนอนไชผิว ภาษาอังกฤษเรียกว่า Maggots หรือ Myaiasis   เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากอาการมีแมลงไชจากผิวหนังหรือเป็นหนอนจากผิวหนัง โดยโรคผิวหนังนี้เกิดจากแมลงได้หลายชนิด เป็นกลุ่มแมลงวันดูดเลือด พบได้ในแอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้ โดยแมลงดังกล่าวจะเข้าสู่ผิวหนังทางบาดแผลหรือแมลงกัดและไข่ทิ้งไว้ในผิวหนัง เมื่อถึงเวลาไข่ที่ฝังตัวในผิวหนังจะฟักตัวเกิดเป็นหนอนหรือแมลงออกจากผิวหนังได้ ในประเทศไทยเคยมีรายงานในภาคใต้นานมาแล้ว เกิดกจากหนอนไชจากผิวหนัง   การรักษาในท้องถิ่นอาจใช้น้ำส้มสายชูหรือใบยาสูบหมักในน้ำแล้วนำมาถูกบริเวณที่มีอาการ เพื่อให้ไข่แตกหรือตัวของแมลงตาย

สสจ.ลำปางระบุไม่อันตรายถึงชีวิต 

 นายแพทย์ ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ นายแพทย์ 9 ด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจ.ลำปาง เปิดเผยว่า หลังจากพบชายอายุ 52 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคประหลาด มีแมลงขนาดเล็กมีปีกออกมาตามผิวหนังของร่ายกาย และผู้ป่วยนอนพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแม่ทะ ขณะนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขฯได้รับรายงานเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ยังได้กำชับให้เป็นผู้ป่วยพิเศษ ที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญจากหลาย ๆ ด้านเข้ามาศึกษาอาการ และการเกิดโรค

 ทั้งนี้ในเบื้องต้นแพทย์สันนิษฐานว่า ผิวหนังของผู้ป่วยอาจเกิดความผิดปกติ จนทำให้แมลงชนิดดังกล่าว ที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นชนิดใด ชอนไชเข้าไปวางไข่ในผิวหนัง จนสามารถเกิดตัวอ่อน และกลายเป็นแมลงได้  ลักษณะตัวอ่อนของแมลงที่ออกมาตามร่างกายของผู้ป่วยนั้นคล้ายกับแตนเวียน ที่อาศัยอยู่ตามป่า

 ส่วนการรักษาได้ประสานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจากสถาบันโรคผิวหนัง และผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงมาดูอาการผู้ป่วย เพื่อจะทำการศึกษาอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังมีการนำชิ้นเนื้อผิวหนังของผู้ป่วยไปตรวจทางห้องปฎิบัติการ สำหรับการป่วยจะไม่เป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิต เพราะถือว่าเป็นโรคทางผิวหนังชนิดหนึ่งเท่านั้น และไม่พบการติดต่อระหว่างคนสู่คน

 สำหรับการเกิดแมลง ออกมาตามร่างกายของผู้ป่วย ไม่ได้เกิดขึ้นทั่วร่างกาย จะเป็นเฉพาะจุดเท่านั้น คือ บริเวณมือ เท้า ข้อพับตามร่างกาย และศรีษะ ซึ่งก่อนที่จะมีแมลงออกมา ผู้ป่วยจะมีอาการคันและมีตุ่มแดง มีน้ำใส่ขึ้นมาก่อนที่จะแตก และมีแมลงโผล่ออกมา

 นายแพทย์ ชิโนรส กล่าวอีกว่า   ขอให้ประชาชนอย่าได้แตกตื่น เพราะถือว่าสามารถรักษาหายได้ แต่สาเหตุที่เกิดโรคดังกล่าว ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดต่อไป ก่อนหน้านี้ผู้ป่วยเคยไปทำงานอยู่ที่ป่าเขตดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ อาจเป็นไปได้ว่าจะมีแมลงตัวแก่ได้กัดตามผิวหนัง แล้วช่อนไชเข้าไปวางไข่ จนทำให้เกิดแพร่ตัวอ่อนบริเวณผิวหนังของผู้ป่วยได้