ไลฟ์สไตล์

โรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้

22 มิ.ย. 2553

โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อย ปัจจุบันพบจำนวนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก หากละเลยในการรักษาโรคภูมิแพ้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เกิดผลต่างๆ ตามมาได้

เช่น ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลและต่อมอดีนอยด์อักเสบ หูอักเสบ นอนกรน สมาธิสั้น แม้กระทั่งอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของใบหน้า เช่น ฟันบนยื่น
 โรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้ ได้แก่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ โรคเยื่อบุตาอักเสบจากการแพ้ โรคหืด โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผื่นลมพิษ โรคผื่นแพ้จากการสัมผัส แพ้ยา แพ้อาหาร และปฏิกิริยาแพ้แบบรุนแรง (Anaphylaxis) เกิดอาการช็อกหมดสติ
สาเหตุการเกิดโรค
 มีหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ถ้าพ่อหรือแม่เป็น ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ 30% แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็น ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ถึง 50-70% อีกสาเหตุคือ ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกันไป เช่น
 - โรคลมพิษ ผู้ป่วยจะมีผื่นนูน บวม คันอาจมีตาบวม ปากบวมร่วมด้วย
 - โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีผื่นคันเรื้อรังเหมือนเม็ดทราย ผิวแห้ง พบบ่อยบริเวณข้อพับแขนขา หรือบริเวณแก้มในทารก
 - โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก คันจมูก จาม น้ำมูกไหล อาจมีอาการคันตา ซึ่งเป็นอาการของโรคเยื่อบุตาอักเสบมักพบโรคจมูกอักเสบและเยื่อบุตาอักเสบร่วมกัน
 - โรคหืด ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หอบ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย เวลากลางคืน หรือเวลาเป็นหวัด
 ปฏิกิริยาแพ้แบบรุนแรง (Anaphylaxis) ผู้ป่วยจะมีอาการแบบเฉียบพลันหลังจากสัมผัสสารที่แพ้ ภายในเวลาเป็นนาที หรือไม่เกิน 6 ชั่วโมง โดยมีอาการหลายระบบ ได้แก่
 - อาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นลมพิษ หน้าบวมปากบวม
 - อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจขัด แน่นหน้าอก ไอ หอบ
 - อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว
 - อาการทางระบบไหลเวียนโลหิต เช่น หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ และอาจถึงแก่ชีวิตได้
สาเหตุ
 เกิดได้จากการแพ้อาหาร แพ้ยา หรือแพ้แมลงต่างๆ เป็นต้น
การรักษา
 การหลีกเลี่ยงและกำจัดสารก่อภูมิแพ้ หรือสารระคายเคือง เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด สามารถทราบได้ว่า เราแพ้อะไร จากการทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง และคอยหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ จะทำให้อาการลดน้อยลงได้ ซึ่งสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด จะมีวิธีการหลีกเลี่ยงที่แตกต่างกัน จึงเป็นสาเหตุที่จะต้องหาชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่เราแพ้ให้ชัดเจน แต่สารก่อภูมิแพ้บางชนิดเป็นสิ่งที่อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น ไรฝุ่น เป็นต้น
 ส่วนสารระคายเคืองจะกระตุ้นให้ผู้ป่วยภูมิแพ้มีอาการกำเริบได้ เช่น ควันบุหรี่ ควันธูป ไอระเหยจากสเปรย์ เป็นต้น
 แพทย์จะคอยปรับขนาดยา เพิ่มหรือลดตามอาการ ไม่ควรซื้อยาใช้เอง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากยาได้
พญ.ธิดารัตน์ พงศ์สิริพิพัฒน์
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
โทร. 02-877-1111