
"ขนุนดิน"กลิ่นเอียน
22 มิ.ย. 2553
หากชอบเดินป่า จะมีโอกาสได้เห็น "ขนุนดิน" รูปร่างแปลกๆ โผล่ช่อดอกพ้นดินขึ้นมา เพื่อการผสมพันธุ์และแพร่พันธุ์ ชาวแถบภาคอีสาน นำมาทำยาแก้โรคหอบหืด เพราะส่วนลำต้นที่เป็นหัวฝังอยู่ใต้ดินมีสารโคนิเฟอริน นอกจากนี้ยังนำเป็นส่วนประกอบเครื่องยาโรคหัวใจอีกด้วย
เป็นพืชล้มลุกในวงศ์ BALANOPHORACEAE ลำต้นสีแดงรวมกันเป็นกลุ่มก้อน สูงตั้งแต่ใต้ดินถึงปลายยอด 10-15 เซนติเมตร
ใบ เป็นใบเดี่ยวเล็ก ขึ้นเรียงตรงกันรอบๆ ต้น แต่ละต้นมีราว 10-20 ใบ
ดอก ออกเป็นช่อ เพศผู้และเพศเมียแยกกันคนละต้น ดอกเพศผู้ชูก้านเหนือดินยาว 6-12 เซนติเมตร เมื่อบานมี 6 กลีบ ปลายแหลม 4 กลีบ ส่วนอีก 2 กลีบปลายตัด มีเกสรตัวผู้ 4-5 อัน ส่วนดอกเพศเมียจะเล็กเรียงชิดกันแน่น กลมรี สีน้ำตาลแดง กลิ่นหอมเอียน
ขยายพันธุ์ แยกหน่อ ขึ้นในทุกสภาพดิน ความชื้นและแสงแดดปานกลาง
"นายสวีสอง"