
เพลง สาธุการ
ถ้าท่านผู้อ่าน ได้อ่านเมื่อฉบับที่แล้วก็จะทราบว่า ผมกำลังเขียนถึงเรื่อง ประวัติเพลงสาธุการ
ซึ่งมีความต่อเนื่องมาจากการที่ผมได้รับเชิญจาก พระมหาสมปอง ให้ไปแสดง และสาธิต ดนตรีไทยกับพระพุทธศาสนา ที่วัดสร้อยทอง โดยเมื่อฉบับที่แล้วผมได้เขียนประวัติเพลงสาธุการไปเพียงนิดหน่อย ยังไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ผมคิดว่าจะเริ่มต้นเขียนประวัติเพลงสาธุการใหม่ เพื่อความต่อเนื่อง และเผื่อว่าอาจจะมีท่านผู้อ่านบางท่านไม่ได้อ่านในฉบับที่แล้วก็เป็นไปได้ ผมจึงขออนุญาตท่านผู้อ่านบางท่านที่อ่านไปแล้ว เริ่มต้นอ่านประวัติเพลงสาธุการใหม่ก็แล้วกันนะครับ
เมื่อครั้ง พระพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้ในระยะปฐมโพธิกาล หรือในระยะเริ่มแรกนั่นเอง ตอนนั้นพระองค์มีชื่อเสียงร่ำลือไปทั่วทั้งโลกมนุษย์ และสวรรค์ จึงทำให้เหล่าเทวดา นางฟ้า ต่างก็ลงจากสวรรค์มายังโลกมนุษย์ โดยมีความประสงค์ที่จะฟังพระธรรมเทศนาจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเมื่อถึงเวลาที่ พระอิศวร เสด็จออกมาประชุมสภาตามปกติ แต่กลับไม่มีเทวดามาเข้าเฝ้าอย่างที่เคย และหลังจากที่ทราบเรื่องทุกอย่างจาก พระนนที พระอิศวร ก็ทรงกริ้วเหล่าเทพยดาเป็นอันมาก จึงได้ตรัสชวน พระอุมา ผู้เป็นมเหสี และ พระนนที รวมถึงบริวาร เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ และทรงเห็นเหล่าเทพยดา นางฟ้า ต่างสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาด้วยความสงบ และมิได้สนใจต่อพระองค์ผู้เป็นนาย จึงทำให้ พระอิศวร ทรงกริ้วเหล่าเทพยดา นางฟ้า รวมถึง พระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสต่อว่าท้าทาย พระพุทธเจ้า ให้มาประลองฤทธิ์กัน ด้วยวิธีซ่อนหา
โดยครั้งที่ 1 พระอิศวร ได้นิมิตองค์เป็นธุลี ไปซ่อนอยู่ในเมล็ดรัตน ที่ประดับอยู่บนยอดพรหมพิมาน และ พระพุทธเจ้า ก็ทรงทราบด้วยพระญาณ ครั้งที่ 2 พระอิศวร เสด็จไปซ่อนอยู่ที่ใต้บาดาล พระพุทธเจ้า ก็ทรงทราบด้วยพระญาณ ส่วนครั้งที่ 3 พระอิศวร ได้ลงไปซ่อนที่ยมโลก พระพุทธเจ้า ก็ทรงทราบด้วยพระญาณของท่าน และทั้ง 3 ครั้งที่ พระอิศวร ได้แปลงกายซ่อนตัว พระพุทธเจ้า ก็บันดาลด้วยพระพุทธานุภาพ ให้พุทธบริษัท และเหล่าเทพยดาที่ประชุมอยู่ในธรรมสภาได้มองเห็น พระอิศวร ทั่วกัน
เมื่อครั้นถึงคราว พระพุทธเจ้า ซ่อนบ้าง พระองค์ก็ทรงนิมิตกาย เป็นละอองปรมาณู ปลิวไปติด ณ ปลายพระเกศาของ พระอิศวร และ พระอิศวร ก็ทรงเปล่งรัศมีฉายแสงสว่างไปทั่วทุกทิศ แต่ก็ไม่สามารถพบ พระพุทธองค์ จึงทำให้ พระอิศวร ประกาศวาจายอมแพ้แก่ พระพุทธเจ้า และเมื่อทรงเห็นว่า พระอิศวร ยอมแพ้แล้ว แต่ก็ยังคงแสดง ทิฐิมานะ และกระด้างกระเดื่องอยู่ เพื่อที่จะทำให้ทิฐิมานะของ พระอิศวร ได้คลายลง พระพุทธเจ้า จึงไม่ยอมเสด็จลงจากพระเกศาของ พระอิศวร ถึงแม้ พระอิศวร จะอัญเชิญพระพุทธเจ้า ให้เสด็จลงมาจากพระเกศา แต่ พระพุทธเจ้า ก็ไม่ยอมเสด็จลงมา และ พระพุทธเจ้า ก็ตรัสสั่งต่อ พระอิศวร ว่า ถ้ายอมแพ้จริงให้นำ วงปัญจดุริยางค์ดนตรี มาขับประโคมถวายเป็นพุทธบูชา ด้วยเพลงที่เรียกว่า “สาธุการ” พระพุทธเจ้า จึงยอมเสด็จลงมาจากพระเกศาของ พระอิศวร ด้วยเหตุนี้จึงเป็นธรรมนิยมที่สืบต่อกันมาว่า ถ้าจะบรรเลงเพลงดนตรีสำหรับเคารพบูชา หรือนอบน้อมนมัสการ ก็ต้องบรรเลงเพลงสาธุการ และถือเป็นเพลงครูที่ใช้ในการบรรเลงบูชาสรรพสิ่งต่างๆ ที่เคารพนับถือ เหมือนกับที่เราถวายดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อเคารพในสิ่งที่เราเลื่อมใสนั่นเอง
และนี่คือประวัติเพลงสาธุการ เพลงที่นักดนตรีปี่พาทย์จะต้องเริ่มหัดเป็นเพลงแรก รวมถึงเป็นเพลงที่นักดนตรีปี่พาทย์ได้ยินแล้วจะต้องยกมือขึ้นไหว้ท่วมหัวกันทุกคน และผมคิดว่าประวัติเพลงสาธุการ ก็คงจะทำให้ท่านผู้อ่านได้รับความเพลิดเพลิน หรืออาจถือว่าเป็นความรู้ชนิดหนึ่งก็เป็นได้ และก็เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในวงการดนตรีไทย แต่มีความสนใจในเรื่องของดนตรีไทย เอาไว้ฉบับต่อไป ผมจะมาเล่าเรื่องอื่นๆ ในมุมมองของดนตรีไทยกับพุทธศาสนา
ท้ายนี้ก่อนที่จะจากกันในฉบับนี้ ผมก็ต้องขอแสดงความยินดีกับรายการ “อัศจรรย์ คันธรรพ” ที่ได้รับรางวัล โทรทัศน์ทองคำ ในด้าน ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมดีเด่น ซึ่งผมคิดว่าแฟนรายการอัศจรรย์ คันธรรพ ซึ่งมีไม่น้อย ก็คงจะปลื้มอก ปลื้มใจกันทุกๆ คน และก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าดนตรีไทยล้วนๆ ก็สามารถเดินไปสู่ความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง โดยมิต้องมีอะไรมาเจือปน ดั่งเหมือนกับเพลงสาธุการที่ดังกังวานมายาวนานตั้งแต่สมัยพุทธกาล ใส...สะอาด ตลอดกาลครับ
"ขุนอิน"