
"หมี่กาแป๊ะฮูลู"บ้านร่วมใจพัฒนา ของดีเมืองเบตงส่งขายต่างแดน
หากเอ่ยถึง อ.เบตง จ.ยะลา เชื่อแน่ว่าใครหลายคนที่เคยเดินทางมาสัมผัสดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้ คงยังประทับใจกับอาหารจานเด็ดมากมายหลายชนิดที่ยกขบวนมาเสิร์ฟจนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักชิมทั่วประเทศ ไล่เรียงตั้งแต่เมนูที่ปรุงจากไก่เบตง ผักน้ำเบตง
แต่ด้วยผลพวงของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แม้ อ.เบตงจะไม่ใช่พื้นที่เป้าหมายสำคัญในการก่อความรุนแรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ใต้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวห่างหายไปไม่น้อยหากเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงหาช่องทางในการส่งเมนูความอร่อยจาก “เบตง” ถึงบ้านผู้บริโภคทันทีโดยไม่ต้องพะวงกับการเดินทางเข้าสู่พื้นที่แดนใต้ในห้วงที่สถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวย
ดั่งเช่น “หมี่เบตง” จากกลุ่มแม่บ้านร่วมใจพัฒนา “บ้านกาแป๊ะฮูลู” คือหนึ่งในสินค้าตัวอย่างที่กำลังไปได้สวยในท้องตลาด หลังผู้บริโภคมีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ส่งผลหนุนให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนวันนี้สมาชิกในกลุ่มบางคนแทบไม่มีเวลาว่าง เพราะต้องเร่งผลิตให้ทันออเดอร์ของลูกค้าจากทั่วประเทศที่มีเข้ามาไม่ขาดสาย
ยารีเย๊าะ เบอโต อายุ 50 ปี ประธานกลุ่มแม่บ้านร่วมใจพัฒนา บอกว่า ในอดีตสตรีแม่บ้าน หรือสตรีชาวสวนในเบตงได้รวมกลุ่มกันผลิตสินค้าท้องถิ่นออกขายในท้องตลาดมากมายหลายชนิดแต่ไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของรายได้เท่าที่ควร จนกระทั่งในปี 2544 ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางด้วยการผลิตหมี่เบตงออกขายในท้องถิ่น และส่งให้ร้านอาหารมุสลิมในพื้นที่ ปรากฏว่าได้รับกระแสในทิศทางบวกอย่างไม่น่าเชื่อ จึงตัดสินใจวางมือจากผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นแล้วหันมาทุ่มเทให้การผลิตหมี่เบตงอย่างจริงจัง
“แรกๆ เราทำขายในวงแคบๆ คือจำหน่ายในท้องตลาด และส่งร้านอาหารไม่กี่แห่ง กระทั่งมีกระแสปากต่อปากถึงรสชาติและความอร่อยทำให้สมาชิกต้องเพิ่มกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งต้องสร้างโรงงานผลิตเส้นหมี่เบตงในพื้นที่หมู่ 7 บ้านกาแป๊ะฮูลู ถนนสุขยางค์ ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา โดยมีเทศบาลเมืองเบตงเป็นผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินการอย่างเต็มที่” นางยารีเย๊าะกล่าว
ที่สำคัญหลังจาก “กลุ่มแม่บ้านร่วมใจพัฒนา” มีโรงงานผลิตหมี่เป็นของตนเอง ก็สามารถยกระดับการผลิตให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จนได้รับตรา “ฮาลาล” ประทับรับรองคุณภาพสินค้า จนทำให้เป็นที่ยอมรับในท้องตลาดมากขึ้น และกลายเป็นผลดีต่อยอดจำหน่ายที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวลาไม่นาน
“สินค้าเรามีตราฮาลาลรับรองทำให้สามารถขยายตลาดไปได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศที่นิยมรับประทานหมี่เบตงจะโทรมาสั่งสินค้าไม่ขายสายเลยทีเดียว” นางยารีเย๊าะกล่าวด้วยความภูมิใจ
ส่วนตลาดหลักของ “หมี่กาแป๊ะฮูลูเบตง” นอกจากจะอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นส่วนมากแล้วยังมีลูกค้ากระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะผู้บริโภคชาวมุสลิม รวมไปถึงลูกค้าใน จ.สมุทรปราการ ที่จะสั่งสินค้าเป็นจำนวนมากประจำทุกเดือน และที่สำคัญยังมีลูกค้าประจำจากประเทศมาเลเซียทั้งที่เดินทางเข้ามารับซื้อถึงที่กับกลุ่มที่ให้ส่งไปถึงบ้าน
รวมทั้งร้านอาหารของพี่น้อง 3 จังหวัดที่ไปเปิดให้บริการอยู่ในถิ่นมาเลเซีย โดยสินค้าของกลุ่มแม่บ้านร่วมใจพัฒนาจะจำหน่ายกิโลกรัมละ 60 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณในการแยกบรรจุหีบห่อซึ่งมีตั้งแต่ราคา 30บาท/กล่องขึ้นไป ประธานกลุ่มแม่บ้านร่วมใจพัฒนากล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีสมาชิก 29คน ส่วนใหญ่จะมีอาชีพหลักคือทำสวนยาง โดยทุกคนจะใช้เวลาว่างหลังกรีดยางมารวมตัวกันผลิตสินค้าทุกวัน โดยกำลังการผลิตหมี่กาแป๊ะฮูลูเบตง โดยใช้แป้งสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญเฉลี่ยอยู่วันละ 3-4 กระสอบ หากเป็นช่วงเทศกาลสำคัญโดยเฉพาะเดือนรอมฎอน หรือถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว
เคล็ดลับการทำ"เส้นหมี่เบตง"
สำหรับความโดดเด่นของ “หมี่กาแป๊ะฮูลูเบตง” ยารีเย๊าะกระซิบบอกว่า เส้นจะมีความเหนียว นุ่ม ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของเส้นหมี่จาก อ.เบตง อันเป็นผลสืบเนื่องจากกรรมวิธีการผลิตที่ให้ความสำคัญและใส่ใจในทุกรายละเอียด โดยเฉพาะการนำแป้งสาลีผสมน้ำและน้ำเกลือ ก่อนจะนวดคลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกันก่อนนำเข้าเครื่องบดแป้ง กระทั่งนำไปเข้าเครื่องรีดให้แบนและเป็นแผ่นเดียวกัน
จากนั้นจึงลงมือตัดให้เป็นเส้น แล้วจึงนำเส้นหมี่ที่ได้ไปเข้าตู้นึ่งจนได้ที่ เมื่อสุกแล้วนำมาปั่นเป็นก้อนแล้วนำบรรจุถุง และนำลงกล่องเพื่อรอออกจำหน่าย โดยเฉพาะกล่องหรือแพ็กเกจนั้นได้ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อผู้บริโภคเป็นหลัก ทั้งนี้หากใครสนใจสนับสนุนสินค้า “กลุ่มแม่บ้านร่วมใจพัฒนา” ติดต่อได้ที่หมายเลข 0-7323-4855 ได้เลย
"สุพิชฌาย์ รัตนะ "