ไลฟ์สไตล์

พยาบาลน่านวิจัยเยี่ยมพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย

พยาบาลน่านวิจัยเยี่ยมพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย

05 ส.ค. 2553

พยาบาลวิชาชีพประจำโรงพยาบาลท่าวังผา จ.น่าน คว้ารางวัลวิจัยยอดเยี่ยมกระทรวงสารณสุขประจำปี 2552 จากความสำเร็จในการคิดค้นพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยโรคเลือดฮีโมฟีเลีย ซึ่งมีปัญหาเลือดออกง่าย เป็นตลอดชีวิต โดยใช้ทีมสหวิชาชีพร่วมงาน ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้และดูแลตนเอง

ในการประชุมวิชาการประจำปี 2553 เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 78 พรรษา 12 สิงหาคม 2553 ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นางจุฬารัตน์ สุริยาทัย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการจากโรงพยาบาลท่าวังผา จังหวัดน่าน ได้รับรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยม ประจำปี 2552 ของกระทรวงสาธารณสุข จากผลงานโดดเด่นการวิจัยเรื่อง “ การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยฮีโมฟีเลียจังหวัดน่าน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันแบบสหวิชาชีพ มุ่งเน้นตอบสนองความจำเป็นของผู้ป่วย เพิ่มพลังให้ผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยให้สามารถดูแลสุขภาพร่วมกันได้ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยได้เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

 นางจุฬารัตน์ กล่าวว่า โรคฮีโมฟีเลีย ( Hemophilia ) หรือโรคเลือดออกง่ายหยุดยาก เป็นโรคที่เกิดจากการขาดสารช่วยให้เลือดแข็งตัวเรียกว่าแฟคเตอร์ 8 และ 9 ( Factor VIII, IX ) เป็นโรคเรื้อรัง ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เมื่อได้รับยีนโรคนี้ ฝ่ายหญิงจะไม่แสดงอาการของโรค แต่มียีนแฝงและถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ โดยลูกชายจะแสดงอาการของโรค คือ เลือดออกง่าย และหยุดยาก ในประเทศไทย มีคนเป็นโรคฮีโมฟีเลียประมาณ 4,000 คน จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โรคนี้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูงเนื่องจากต้องรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งที่จังหวัดน่าน มีผู้ที่เป็นโรคนี้ 14 คน

 ที่ผ่านมาโรงพยาบาลน่าน ทำหน้าที่เป็นเพียงหน่วยบริการส่งต่อผู้ป่วยเท่านั้น เนื่องจากขาดแคลนแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเฉพาะ ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางไปรักษาในต่างจังหวัดที่มีความพร้อมเช่นที่ อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ ดังนั้นในปี 2550 โรงพยาบาลน่านจึงได้พัฒนาแนวทางดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ได้รับบริการอย่างทันท่วงทีภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด เนื่องจากโรคนี้มีความเสี่ยงความพิการสูง เพราะอาการของเลือดออกนั้น จะปรากฏภายในข้อต่างๆ ของร่างกาย เมื่อแรกเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตึง ขัดๆที่บริเวณกล้ามเนื้อและข้อ อาการจะรุนแรงมากขึ้น มีข้อติด กล้ามเนื้อลีบ หรือเกิดภาวะข้อพิการได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยได้จัดตั้งกลุ่มผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลียน่านภายใต้มูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟิเลียแห่งประเทศไทย โดยขอรับการปรึกษาสนับสนุนด้านวิชาการจากแพทย์ผู้เชียวชาญโรคเลือดจากโรงพยาบาลรามาธิบดี รวมทั้งชุดตรวจจำแนกชนิดของโรคภาคสนามจำนวน 30 ชุด และขึ้นทะเบียนผู้ป่วยทั้งหมดในโครงการหลักประกันตามสิทธิ์ผู้ป่วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง และเปิดคลินิกให้บริการโรคฮีโมฟิเลีย ที่แผนกผู้ป่วยนอก เพื่อบริการตรวจสุขภาพผู้ป่วยโรคนี้ทั้งเรื่องสุขภาพฟัน การทำงานกระดูกและข้อ การให้คำปรึกษา ให้ความรู้แนะนำผู้ป่วยในการแลตัวเองตามแนวทางขององค์การฮีโมฟีเลียโลกและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใน 4 หลักการใหญ่ ดังนี้

 1.การป้องกันภาวะเลือดออก เสริมสร้างพลังผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลตนเอง ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่จะทำให้เลือดออก การเลือกอาชีพที่เหมาะสม การตรวจสุขภาพช่องปาก การทำงานของข้อ 2.การรักษาในภาวะที่เลือดเริ่มออก จะเน้นรูปแบบการดูแลรักษาที่บ้าน ( home – based care ) โดยจ่ายยาแฟกเตอร์เข้มข้นให้ผู้ป่วยไปเก็บที่บ้านเพื่อนำมาใช้อย่างทันท่วงที ภายใน 1 ชั่วโมง พร้อมทั้งสอนผู้ป่วยและญาติในการดูแลดูแลเบื้องต้นเมื่อมีเลือดออกฉุกเฉิน สอนวิธีการฉีดยาแฟคเตอร์เข้าเส้นเลือดดำและประเมินภาวะเลือดออกก่อนตัดสินใจฉีดยา เช่น วัดรอบข้อที่บวม การประเมินความเจ็บปวด และจัดยาสำรองไว้ที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชนที่มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนในความดูแล พร้อมใช้ทันทีสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินและเป็นอันตรายถึงกับชีวิต 3. การดูแลระบบข้อและกล้ามเนื้อในระยะยาว ตามหลักสากล เช่นการวัดมุมข้อ การยืดเหยียด การเอ็กซเรย์ การฝึกสอนการออกกำลังกาย การกายภาพบำบัด จัดระบบติดตามผู้ป่วยทางโทรศัพท์ ทีมงานเยี่ยมบ้านปีละ 1-2 ครั้ง และ 4.การป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา เช่นการแพ้ยา การเกิดสารต้านปัจจัยการแข็งตัวของเลือด

 นางจุฬารัตน์กล่าวต่อว่า จากการวิจัยประเมินผลการดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียในจังหวัดน่านในพ.ศ. 2551 หลังดำเนินการพัฒนาระบบมาแล้ว 12 เดือน ศึกษาจากผู้ป่วยทั้งหมด 13 คน อายุระหว่าง 6-41 ปี เป็นเด็ก 6-15 ปี จำนวน 5 คน และผู้ใหญ่ 8 คน อยู่ในระดับความรุนแรงมาก 8 คน ปานกลาง 4 คน และรุนแรงน้อย 1 คน มีรายได้ครอบครัวต่อเดือนเฉลี่ย 2,850 บาท โดยประเมินใน 6 เรื่องเปรียบเทียบกับช่วงก่อนดำเนินการในปี 2550 ดังนี้ 1.ผู้ป่วยมีความรู้เกี่ยวกับโรคและการดูแลตนเองดีขึ้นร้อยละ 27 จากเดิมเฉลี่ย 7.50 เป็น 10.25 (คะแนนเต็ม 20) 2. ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ผู้ป่วยสามารถไปโรงเรียนได้ ทำงานได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลเลย ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยนอนเฉลี่ยคนละ 1-2 ครั้งต่อปี 3. ค่ารักษาลดลงร้อยละ 44 จากเดิมปีละ 620,450บาท เหลือเพียง 344,468.95 บาท เฉลี่ย 26 ,497 บาท 4. ไม่มีปัญหาแทรกซ้อนจากการใช้ยาเช่นแพ้ยา ซึ่งก่อนหน้าพบผู้ป่วยแพ้ส่วนประกอบของเลือด 2 ครั้ง 5 ผู้ป่วยมีความพึงพอใจร้อยละ 96 ส่วนผู้ให้บริการมีความพึงพอใจร้อยละ 92 6. ไม่มีรายงานความพิการของข้อเพิ่มขึ้น โดยจำนวนครั้งการเจ็บป่วยด้วยฮีโมฟีเลียเฉลี่ย 1.25 ครั้งต่อเดือน ซึ่งมีผลให้ค่าใช้จ่ายลดลง คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 “ การดูแลผู้ป่วยฮีโมฟีเลียจังหวัดน่านภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นี้ สามารถพัฒนาและจัดระบบที่มีประสิทธิภาพได้ เพียงแต่ผู้ให้บริการเข้าใจและเข้าถึงปัญหาของผู้ป่วยและญาติ ซึ่งเป็นหัวใจของการบริการที่ดีต่อผู้ป่วย ดังนั้นสถานบริการสาธารณสุขอื่นๆทั้งรัฐและเอกชน สามารถนำรูปแบบนี้ไปปรับปรุงใช้เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยฮีโมฟีเลียในพื้นที่ได้ ดิฉันและทีมงานโรงพยาบาลน่านยินดีและพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย ” นางจุฬารัตน์ กล่าว