ไลฟ์สไตล์

สัมผัสบรรยากาศใกล้ปากอ่าวไทยชมเลี้ยงกุ้ง-ปู-ปลาแบบธรรมชาติ

สัมผัสบรรยากาศใกล้ปากอ่าวไทยชมเลี้ยงกุ้ง-ปู-ปลาแบบธรรมชาติ

08 ส.ค. 2553

พื้นที่เวิ้งน้ำอันกว้างไกลกว่า 1,000 ไร่ สลับกับคันนาห่างๆ ตลอดรวมถึงป่าชายเลนนั้น หากดูอย่างผิวเผินราวกับว่าเป็นพื้นที่ร้างที่ดูเหมือนป่าชายเลนถูกทำลาย หากแต่ความเป็นจริง นั่นคือแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง ปู ปลา และหอยอินทรีย์แบบธรรมชาติในบ่อเดียวกัน ของสมาชิก

สุรกิจ บอกว่า เนื่องจากพื้นที่ ต.แหลมฟ้าผ่า ติดกับทะเลใกล้ปากอ่าวไทย บรรพบุรุษของชาว ต.แหลมฟ้าผ่า ส่วนหนึ่งจึงยึดอาชีพทำประมงชายฝั่ง เพราะบริเวณปากอ่าวไทยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด ทว่าอีกส่วนทำนาเกลือ แต่เนื่องจากน้ำทะลักเข้ามาบ่อยครั้ง การทำเกลือค่อนลำบาก ต่อมาเมื่อนาเกลือเกิดภาวะเป็นนาร้าง และมีน้ำทะเลทะลักเข้ามา ทำให้สัตว์น้ำชายฝั่งเข้าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นกุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย กุ้งขาวแวนนาไม ปูทะเล หอยแครง ปลาอีกหลายชนิด ทั้งปลาหมอทะเล ปลากุเลา ปลากะพง ปลากด ปลาดุกทะเล เป็นต้น โดยพื้นที่ดังกล่าวชาวบ้านจะเรียกขานว่า วังกุ้ง เพราะเป็นที่อาศัยของกุ้งจำนวนมาก

 ต่อมาลูกหลานของผู้ที่ทำนาเกลือ จึงใช้พื้นที่ดังกล่าวปรับเปลี่ยนมาเป็นการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติ คือให้กุ้งเข้ามาอาศัยเอง โดยไม่ต้องปล่อยลูกพันธุ์แม้แต่น้อย อีกทั้งไม่ต้องให้อาหารด้วย คือวิธีการเลี้ยงจะเปิดที่นากุ้งให้น้ำทะเลเข้ามาเอง แล้วบรรดาสัตว์น้ำต่างพากันเข้ามาในนา บวกกับพื้นที่บางส่วนมีการปลูกต้นไม้ด้วย จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กุ้ง ปู ปลา หอย เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคมของทุกปี สัตว์น้ำทะเลเหล่านี้จะเข้ามามากที่สุด

 "ถ้าเกษตรกรมีพื้นที่ 15 ไร่ก็อยู่ได้ครับ เพราะแต่ละวันเราจะมีรายได้จากการจับปู หาหอย จับปลา โดยเฉพาะหอยแครงมาขายกัน ขยันหน่อยก็ได้วันละ 300-500 บาท ถึงเวลา 2 เดือนที่ปากนากุ้งจะสูบน้ำออกจะได้กุ้งขนาดต่างๆ ตั้งแต่ 30-80 ตัวต่อกก. ส่วนใหญ่จะเป็นกุ้งขาวแวนนาไม ผลพลอยได้คือปูทะเลหากได้ขนาดตัวละ 8 ขีดจะมีราคา กก.ละ 500-600 บาท นอกจากนี้ยังปลาชนิดต่างๆ อีกรวมแล้วรายได้จากการเลี้ยงแบบธรรมชาติที่ว่านี้ พื้นที่ 1 ไร่จะได้ปีละกว่า  5,000 บาท ตรงนี้จะไม่รวมรายวันจากการที่หาปู ปลา และหอย" สุรกิจ กล่าว 

   ตอนหลัง สุรกิจ ยอมรับว่าปริมาณกุ้งในธรรมชาติเริ่มน้อยลง เขาจึงรวบรวมเกษตรกรผู้เลี้ยงใน ต.แหลมฟ้าผ่า ตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงอินทรีย์ ต.แหลมฟ้าผ่า เมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มด้วยมีสมาชิก 15 ราย แต่ละคนมีพื้นที่เลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติรายละ 15-100 ไร่ รวมแล้วมีพื้นที่เลี้ยงกุ้ง จำนวนกว่า 1,000 ไร่ อย่างของเขามี 65 ไร่ เพื่อผลิตกุ้งอินทรีย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยราชการผลิตลูกกุ้งอินทรีย์มาให้ จนวันนี้กุ้งจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงอินทรีย์ ต.แหลมฟ้าผ่า ได้รับการรับรอง "กุ้งมาตรฐาน" จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) แล้ว

 "การเลี้ยงกุ้งแบบอินทรีย์จะอาศัยแพลงตอนจากน้ำทะเลเป็นอาหารสำหรับสัตว์น้ำ แต่จะให้ปลาเป็ดสับเป็นอาหารเสริมเดือนละครั้ง และใช้น้ำหมักชีวภาพจากสับปะรดสุก ผสมเศษปลาเป็ด กากน้ำตาล และหัวเชื้อ พด.6 ที่หมักทิ้งไว้ 1 เดือนขึ้นไป มาใช้กำจัดน้ำเสีย โดยผสมกับน้ำในบ่อกุ้ง ในอัตราส่วน 1 ต่อ 10 แล้วสาดให้ทั่วบ่อ เดือนละ 2 ครั้ง ในช่วงที่น้ำทะเลลง วิธีนี้จะช่วยปรับสภาพน้ำในบ่อให้ดีขึ้น เห็นผลชัดเจนมาก" สุรกิจ กล่าว

 ด้าน วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข รองผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (มกอช.) ซึ่งพาคณะไปชมฟาร์มกุ้งของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงอินทรีย์ ต.แหลมฟ้าผ่า ก่อนหน้านี้ บอกว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเพื่อยกระดับระบบการผลิตกุ้งให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตลอดสายการผลิต ตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศผู้นำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการค้าแล้ว ยังสามารถช่วยรักษาตลาดส่งออกสินค้ากุ้งไทยในต่างประเทศเอาไว้ไม่ให้ถูกชิงส่วนแบ่งของการตลาด อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่จะช่วยขยายตลาดส่งออกใหม่ได้ในอนาคตด้วย

 "ตอนนี้ประเทศไทยจะเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกสินค้ากุ้งอยู่ในอันดับ 1 ของโลก ในปี 2552 มีการส่งออกกุ้งสายพันธุ์ต่างๆ ในรูปของกุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง กุ้งบรรจุกระป๋อง กุ้งต้มสุกแช่แข็ง และกุ้งแห้ง ถึง 391,144.97 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 91,843.63 ล้านบาท แต่ปัจจุบันประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย ได้พัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงกุ้งและเจาะตลาด ขณะที่ประเทศผู้นำเข้ากุ้งทั่วโลก ได้กำหนดมาตรการด้านสุขอนามัยทุกขั้นตอน ฉะนั้นการผลิตกุ้งอินทรีย์จะเป็นช่องทางที่จะช่วยขยายตลาดส่งออกในอนาคต" รองผอ.มกอช.กล่าว

 นับเป็นอีกวิธีการหนึ่งของวงการประมงของไทย ที่จะเน้นในด้านคุณภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคนั่นเอง!
          
ดลมนัส  กาเจ