ไลฟ์สไตล์

ยางพารายืนต้นตายสนิทที่อีสาน"เลย"บทเรียนล้ำค่าก่อนส่งเสริม

ยางพารายืนต้นตายสนิทที่อีสาน"เลย"บทเรียนล้ำค่าก่อนส่งเสริม

16 ส.ค. 2553

จากกรณีต้นยางพาราที่ปลูกในโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ในภาคอีสาน และต้นยางพาราที่เกษตรกรปลูกเองนอกโครงการยืนต้นตายสนิท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ถึงขนาดในพื้นที่ จ.เลย มีต้นยางพารายืนต้นตา

 เนื่องเพราะจากความเป็นจริงที่เคยพบเห็นมา ยางพาราถือเป็นไม้ยืนต้นที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีพอสมควร จะเห็นได้ในพื้นที่ทางภาคใต้ และภาคตะวันออก แม้จะมีการปลูกยางพาราที่ใช้ต้นกล้าในลักษณะที่เป็นตาเขียว คือหลังจากติดตา พอใบแตกใบก็ถอนไปปลูกทันทีโดยไม่ต้องไปเพาะชำในถุงดำ และไม่ต้องรอให้แตกใบถึง 2 ฉัตร แต่เมื่อปลูกไปแล้ว มีฝนตกในปริมาณที่เพียงพอเพียง 1-2 ครั้ง ต้นยางพาราจะงอกงามจนถึงวันที่กรีดน้ำยางได้ ขณะที่ยางพาราที่ปลูกใน จ.เลย ใช้ต้นกล้าที่เพาะชำในถุง และปลูกแล้ว 2-4 ปี พอเจอสภาพแล้งกลับยืนต้นอย่างไม่น่าเชื่อ

 นายเพิก เลิศวังพง ประธานชุมชนสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้ภาวะภัยแล้งค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในภาคอีสาน ทำให้ยางพารายืนต้นตายจำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางในจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสาน ยืนยันมาว่า มีต้นยางพารายืนต้นในพื้นที่หลายจังหวัด แต่ที่มากที่สุดคือในพื้นที่ จ.เลย เป็นส่วนยางพาราที่อยู่ภายใต้การดูแลของ สกย.จังหวัดเลย มีต้นยางพารายืนต้นตายในพื้นที่กว่า 7,000 ไร่ นอกจากนั้นยังมีต้นยางพาราที่เกษตรกรปลูกเองตามอำเภอต่างๆ อีกจำนวนมากเช่นกัน

 อย่างไรก็ตาม ในภาคตะวันออกในปีนี้พบว่ามีสวนยางพาราในพื้นที่ จ.ตราด กว่า 10 ไร่ และบางส่วนใน จ.จันทบุรี มีต้นยางพาราตายเช่นกัน แต่เป็นการตายจากโรคระบาด ซึ่งกำลังตรวจสอบดูว่าเป็นโรคเดียวกันกับที่เคยเกิดในประเทศบราซิลหรือไม่ เกษตรกรได้แจ้งหน่วยงานรับผิดชอบแล้ว โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตร แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยสนใจเท่าไรนัก 

 นายทรงศักดิ์ ประจงจัด นายกสมาคมชาวสวนยาง จ.เลย กล่าวว่า จากการสำรวจทางราชการทราบมาว่า ในพื้นที่ จ.เลย มีพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด 7.4 แสนไร่ ในจำนวนนี้ปรากฏว่าในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา มีต้นยางพารายืนต้นตายกระจัดกระจายในพื้นที่ต่างๆ กว่า 2 หมื่นไร่ ที่พบมากที่สุดคือ พื้นที่ อ.ผาขาว อ.วังสะพุง อ.นาด้วง และ อ.เมือง จ.เลย ส่วนใหญ่เป็นต้นยางพาราที่มีอายุตั้ง 1-2 ปี จะตายมากที่สุด ในส่วนที่เกษตรกรปลูกในโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ในระยะแรกไม่มีปัญหา เกษตรกรสามารถกรีดได้แล้ว จะมีบ้างที่ปลูกรุ่นสุดท้ายที่ปลูกในปี 2549 แต่น้อยมาก

 "ของผมต้นโตปลูกมา 2-3 ปี ก็ตายเหมือนกัน ราว 20-30 ต้น ที่เหลือผมรดน้ำทัน จึงรอดไป แต่ที่ผมเพิ่งปลูกใหม่กว่า 10 ไร่ เสียทั้งหมดเลย" นายทรงศักดิ์ กล่าวและว่า สาเหตุที่ต้นยางพาราตายนั้น มาจากความแห้งแล้งในช่วงเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นยางพาราผลัดใบ พอเริ่มแตกยอดอ่อน ใบยางต้องการน้ำสูง จึงดูดน้ำในลำต้นจนหมด ขณะที่น้ำในดินแห้ง รากไม่สามารถดูดน้ำไปเลี้ยงลำต้นได้ ทำให้ต้นยางยืนตายทั้งต้น แต่ไม่ใช่ตายทั้งสวน แต่ตายเป็นย่อมๆ สลับกันเท่านั้น" 

 ขณะที่ นายหล้า พรหมมาศ ประธานกลุ่มสหกรณ์กองทุนสวนยางผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวว่า ขณะนี้มีสมาชิกของกลุ่มสหกรณ์ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งเป็นอย่างมาก เนื่องจากยางพาราที่ปลูกในโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ เกิดอาการยืนตายไปดื้อๆ อย่างกรณีของนายสุดท้าย ไพรยา เกษตรกรหมู่ 14  ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง ซึ่งเข้าร่วมโครงการปี 2548 ปลูกยางจำนวน 2,500 ต้น ได้รับความเสียหาย 1,073 ต้น  ปัจจุบันแม้ฝนเริ่มตกลงมาแล้ว แต่ต้นยางก็ไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นขึ้นแต่อย่างใด 

 "โครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ เป็นโครงการที่ดี ที่ภาครัฐได้นำมาส่งเสริมให้แก่เกษตรกรในภาคอีสานได้ปลูก เพราะถือเป็นความหวังของเกษตรกรที่จะได้ลืมตาอ้าปากได้อย่างยั่งยืน อย่างของผมเข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2547 ในพื้นที่ 10 ไร่ ปลูกยางพาราได้ 760 ต้น ผมดูแลและจัดการอย่างดี ทำให้ต้นยางเจริญเติบโตดี ได้ขนาดมาตรฐาน สามารถเปิดกรีดตั้งแต่อายุ 5 ปี กรีดวันเว้นวัน ตอนนี้ทำยางแผ่นได้วันละ 25 แผ่น แม้จะประสบภัยแล้ง แต่ผมติดตั้งระบบน้ำจึงไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม เมื่อภาครัฐได้ดำเนินโครงการนี้แล้ว ใคร่ขอวิงวอนให้ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีการติดตาม ประเมินผลโครงการนี้ด้วย อย่างปัจจุบันเกษตรกรได้รับความเสียหาย ภาครัฐควรเร่งรัดหาแนวทางแก้ไขและจัดเป็นนโยบายอย่างเร่งด่วนด้วย" นายหล้า กล่าว

 กรณีที่ต้นยางพารายืนต้นตายเพราะภัยแล้งใน จ.เลย นั้น เป็นตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่จะให้เกษตรกรและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องน่าจะนำมาเป็นกรณีศึกษา ก่อนที่จะตัดสินใจส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพาราในแต่ละพื้นที่ในอนาคตได้เป็นอย่างดี 
       
ทางออก"ติดตั้งระบบน้ำยด"

  นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร   เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า เนื่องจากปีนี้เกิดภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรง นับว่าเป็นปัญหากับภาคการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และยางพารา ซึ่งแม้ว่ายางพาราเป็นพืชยืนต้น แต่วันนี้ต้องประสบกับปัญหาต้นยางพาราของเกษตรกรในภาคอีสานเกิดยืนต้นตายจำนวนมาก

 อย่างไรก็ตาม บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงดำเนินการวางระบบการติดตั้งระบบน้ำหยดให้แก่สวนยางพาราของเกษตรกร ซึ่งถือว่าเป็นทางออกของชาวสวนยางที่จะแก้ปัญหาเรื่องแล้งได้ อย่างที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ได้วางน้ำหยดในสวนยางปลูกใหม่จำนวน 70 ไร่ ในพื้นที่ ต.ลำไทรโยง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เวลาผ่านไป 13 เดือน ต้นยางมีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และโตสม่ำเสมอ วัดเส้นรอบวงที่ 15 ซม. หากเทียบกับยางที่ปลูกรุ่นเดียวกันแต่ไม่ได้วางระบบน้ำหยดแล้ว มีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วกว่าเท่าตัว

 "วันนี้ราคายางดีมาก ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เมื่อเกษตรกรเปิดกรีดได้แล้วจะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 2-3 หมื่นบาทต่อไร่ เมื่อเทียบกับการลงทุนติดตั้งระบบน้ำหยดให้กับสวนยางแล้ว 1 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000 บาท เกษตรกรควรลงทุนในการติดตั้งระบบน้ำหยดให้แก่สวนยางแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์คือสามารถเปิดกรีดได้เร็วขึ้น ให้ผลผลิตสูง และการบริหารจัดการสวนยางก็ง่ายด้วย” นายมนตรี กล่าว

ดลมนัส  กาเจ