ไลฟ์สไตล์

แก้วมังกรสีชมพู

23 ส.ค. 2553

คราวที่แล้วเล่าให้ฟังเกี่ยวกับที่มาของแก้วมังกรในเมืองไทย ซึ่งนักวิชาการไทยเป็นคนนำเข้ามาปลูกเป็นการค้า และตั้งชื่อว่า แก้วมังกร ตามชื่อของผลไม้ชนิดนี้ในภาษาจีน ซึ่งปัจจุบันแก้วมังกรกลายเป็นผลไม้ที่แพร่หลายอยู่ทั่วเมืองไทย

และที่สำคัญคือมีคุณภาพที่ดีขึ้น จนกระทั่งอาจเรียกได้ว่าดีกว่าต้นฉบับคือพันธุ์แก้วมังกรที่นำเข้ามาจากเวียดนามตั้งแต่ต้น เพราะว่าได้มีการคัดเลือกพันธุ์ที่ดีมาปลูก แสดงว่าคนไทยเก่งมากในเรื่องของการคัดเลือกพันธุ์ผลไม้ชนิดต่างๆ แต่ว่าการคัดเลือกพันธุ์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ และโอกาสได้พันธุ์ดี ก็ช้ากว่าการผสมพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะทำให้มีตัวเลือกมากขึ้น และโอกาสหาพันธุ์ที่ดีกว่าเดิมก็มากขึ้นด้วย

 ดร.สุรพงษ์ โกสิยะจินดา ซึ่งเป็นผู้ที่นำเข้าพันธุ์แก้วมังกรจากเวียดนามและสหรัฐอเมริกา เมื่อหลายปีก่อนนี้ และเป็นผู้ผลักดันให้แก้วมังกรกลายเป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดหนึ่งในประเทศไทย ก็ได้ปรับปรุงพันธุ์แก้วมังกรโดยการผสมข้ามพันธุ์ตามหลักวิชา ระหว่างแก้วมังกรเนื้อสีขาวกับเนื้อสีแดง จนกระทั่งได้แก้วมังกรพันธุ์ใหม่ที่มีเนื้อสีชมพู และมีเมล็ดแทรกกระจายในเนื้อเป็นจุดประเหมือนแก้วมังกรทั่วไป แต่ความที่มีเนื้อสีชมพู จึงทำให้แตกต่างจากของที่มีอยู่เดิม และที่สำคัญคือรสชาติที่หวานอร่อยและไม่มีกลิ่นเหม็นเขียวแม้แต่น้อย

 การที่ได้สีชมพูอย่างนี้ก็มีประโยชน์ในแง่ที่นำมาทำเป็นสลัดผลไม้ ที่ให้สีที่แตกต่างออกไป หรือว่าจะกินสดก็อร่อย เพราะว่าความหวานค่อนข้างสูงมาก การบอกความหวานโดยประมาณ ตามปกติแล้วใช้หน่วยเป็นบริกซ์ (Brix) อย่างเช่น มะม่วงน้ำดอกไม้สุก อาจบอกความหวานได้ประมาณ 22-24 บริกซ์ ในขณะที่ชมพู่เพชรทั่วไปอาจมีความหวานประมาณ 8-10 บริกซ์ แต่ว่าแก้วมังกรสีชมพูพันธุ์ใหม่นี้มีความหวานประมาณ 16 บริกซ์ และอาจสูงถึง 19 บริกซ์ได้ แสดงว่าความหวานน้อยกว่ามะม่วงน้ำดอกไม้สุกไม่มากเท่าไหร่

 โดยรวมแล้วก็เลยกลายเป็นแก้วมังกรพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์โดยนักวิชาการไทย และปลูกเป็นการค้าแล้ว โดยตั้งชื่อว่า พิงกี้ชอยส์ (Pinky Choice) ซึ่งมีรสชาติอร่อยและสีเนื้อสวยงาม ไม่เข้มจนน่ากลัวเหมือนเนื้อสีแดง และไม่ซีดจางแบบเนื้อสีขาว แต่ว่ากว่าที่จะได้พันธุ์นี้มาก็ต้องมีการผสมหลายพันธุ์หลายต้น และมีการคัดเลือก ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปี กว่าที่จะรู้ว่าต้นใดดีหรือไม่ดี หากไม่ดีก็ต้องตัดทิ้งไป ซึ่งโอกาสได้พันธุ์ที่ด้อยลงกว่าเดิมก็มีมาก ในขณะที่โอกาสได้พันธุ์ดีนั้นมีน้อยกว่า

 ดังนั้น เมื่อเจอต้นที่ใช้ได้และดีกว่าเดิมแล้ว ก็ต้องทดสอบจนแน่ใจก่อนที่จะขยายพันธุ์ให้กว้างขวางมากขึ้น จนกระทั่งได้ผลผลิตออกมาจำหน่ายในตลาดได้ รวมแล้วต้องใช้เวลามากกว่า 8 ปี ในการสร้างพันธุ์พิงกี้ช็อยส์ นี้ขึ้นมา

 อีกไม่นานเราก็คงจะเห็นแก้วมังกรเนื้อสีชมพูวางตลาดอย่างแพร่หลายแน่นอน แต่ว่าในขณะนี้ ผลิตผลน่าจะยังมีน้อยอยู่ ดังนั้นอาจจะยังหาดูได้ยาก หากใครสนใจก็คงต้องติดต่อ ดร.สุรพงษ์ โดยตรงที่สวนแก้วมังกรบ้านโป่ง ราชบุรี หรืออาจต้องไปหาซื้อผลมาลองชิมดูตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

 แก้วมังกรสีชมพู เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จของคนไทยที่มีความเก่งในเรื่องเกษตรอย่างมาก ทั้งในเรื่องของภูมิปัญญาของชาวบ้าน หรือความสามารถของนักวิชาการเกษตรโดยตรง จนกระทั่งหลายชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้าน เรายอมรับในฝีมือ อย่างเช่น ฝรั่งเวียดนาม กระท้อน และอีกหลายชนิดที่ชื่อเรียกในภาษาอังกฤษจะมีคำว่าไทยหรือแบงค็อก กำกับไว้ เพื่อบอกว่าผลไม้เหล่านั้นเป็นของไทย ไม่แน่ว่าในอนาคตแก้วมังกรในภาษาอังกฤษอาจมีคำเหล่านี้กำกับไว้ด้วยเช่นกันก็เป็นได้

รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ