
คาใจ เรื่องล้อ (2)
ถ้าเราพูดกันถึงเรื่องของช่วงล่างส่วนใหญ่เราจะเข้าใจกันเพียงแค่ความแข็งอ่อนความนุ่มนวลของรถยนต์ที่ใช้อยู่ แล้วจึงไปพูดถึงเรื่องการทรงตัวของรถในทุกสภาวะของการขับขี่ ความแข็งกระด้างหรือความนุ่มนวลของการขับขี่ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานของระบบกันสะเทือนกล
ไม่ว่าจะเป็นแบบ คานแข็ง หรือแบบหลายแกนยึด โดยที่เราลืมกันไปว่าส่วนต่างที่กล่าวมานั้นต้องยึดโยงหรือเกาะเกี่ยวกันอยู่กับมุมของล้อ ยางดี โช้คอัพเยี่ยม สปริงยอด ถ้ามุมของล้อไม่อยู่ในพิกัด ในองศาลิปดาที่ควรจะเป็น ประสิทธิภาพหรือคุณภาพของระบบกันสะเทือนนั้นก็จะด้อยลง และมากที่สุดถึงขั้นที่ยากที่จะควบคุมทิศทางของรถให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ และเมื่อถึงจุดนั้นความปลอดภัยของผู้ขับและผู้โดยสารก็จะแปรผันไปตามองศาลิปดาของมุมล้อที่คลาดเคลื่อนไป
มุมของล้อในรถยนต์มีอยู่ด้วยกันสามมุมคือมุมโท(โทอิน-โทเอ้าท์-โทเอ้าท์ ออนเทอร์น) มุมคาสเตอร์ และมุมแคมเบอร์ มุมโท(มุมโทอินโทเอ้าท์)
มุมโทอินโทเอ้าท์ นั้นวัดกันด้วยระยะห่างเป็นความกว้างหรือแคบมีหน่วยเป็นจุดทศนิยมของ มิลลิเมตร ถ้าหยิบไม้บรรทัดขึ้นมาดูที่หน่วยวัดที่เป็นเซนติเมตรจะเห็นว่าหนึ่งมิลลิเมตรก็แค่ขีดเดียวของเส้นดินสอ แต่ค่าของมุมโทที่ถูกกำหนดขึ้นมาแต่ละคันแต่ละรุ่นของรถนั้นมีค่าเพียงจุดทศนิยมของมิลลิเมตร
ครับพอมองเห็นแล้วถึงความละเอียดอ่อนของมุมล้อเพียงมุมเดียวที่เรียกว่ามุมโท (Toe) ในอีกสองมุมคือมุมแคสเตอร์ (Caster) และมุมแคมเบอร์ (Camber) นั้นใช้ค่าความแตกต่างเป็นองศาและลิปดา ถ้าลากเส้นขึ้นมาสองเส้นให้มีมุมหนึ่งองศาศูนย์ลิบดา ถ้าวัดความยาวของเส้นทั้งสองสักเพียหนึ่งนิ้วจะเห็นว่ามุมหนึ่งองศานั้นแคบนิดเดียวจนไม่น่าจะมีผลต่อการควบคุมการทรงตัวของรถ แต่ถ้าเติมเส้นสองเส้นนั้นให้ยาวเป็นฟุต ยาวเป็นเมตร คุณจะเห็นว่ามุมนั้นกว้างอย่างน่าฉงน
มุมทั้งสามจะต้องได้ค่าที่แน่นอนตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้และมุมทั้งสามถูกเรียกกันว่า ศูนย์ล้อ และในความเป็นจริงแล้วการหาค่าของมุมล้อว่าผิดพลาดไปจากค่าที่ตั้งไว้นั้น ต้องยึดถือพื้นฐานจากทั้งสี่ล้อแม้ว่ารถยนต์หลายคันจะ(อ้างว่าเป็นแบบคานแข็ง)
ดูกันง่าย ถ้าเขียนรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดสักสองคูณสามนิ้ว จากจุดเอไปจุดบีเป็นความกว้างสองนิ้วจากจุดเอไปจุดซีเป็นเส้นตรงความยาวสามนิ้วและจากจุดบีไปจุดดีความยาวสามนิ้วเท่ากันจากดีไปบีก็เป็นความกว้างตายตัวคือสองนิ้วและมุมทุกมุมเป็นมุมฉาก
ถ้าคุณเขียนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามที่กล่าวมา สมมติกันว่าจุดเอและบี คือล้อคู่หน้าของรถคันที่คุณขับเช่นเดียวกับจุดบีและจุดดีจะเป็นล้อคู่หลัง มองที่มุมเอและมุมซี ตี๊...ต่าง ว่า มุมซี(หรือล้อหลังผิดไปสององศา แล้วลากเส้นจากจุดเอไปจุดซีที่เพี้ยนไปสององศา ลากเส้นทั้งสองนี้ไปจนสุดกระดาษ
คุณจะเห็น ว่าสององศาจากจุดเริ่มต้นนั้นถ่างกว้างออกจนน่าตกใจ และลองนึกภาพดูว่าฐานล้อของรถคุณจากจุดเอไปจุดซี เอากันแค่สองเมตร มุมที่เพี้ยนไปแค่สององศาลากเส้นทั้งสองเส้นไปสองเมตรนั่นละคุณจะเห็นว่า ศูนย์ของล้อที่วัดความเพี้ยนต่างไปสององศานั้นมีความน่ากลัวแค่ไหนกับช่องห่างเพียงสององศาจากจุดเริ่มต้น
มุมของล้อมีความสำคัญต่อการขับขี่ ทั้งในเรื่องของความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการขับขี่ เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ใช้รถจะต้องรักษามุมล้อทั้งสามมุมให้เที่ยงตรงอยู่ตลอดเวลา(ตามค่าที่ผู้ผลิตกำหนดไว้)
การสลับยางการเปลี่ยนยางแต่ละครั้ง การเปลี่ยนโช้คอัพ การเปลี่ยนคอยล์สปริง หรือแม้แต่การซ่อมช่วงล่างในจุดที่เกี่ยวข้องยึกโยงอยู่กับมุมล้อทุกมุมนั้นควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตรวจเช็คศูนย์ล้อให้ได้ค่าตามที่กำหนดไว้ ยางสึกหรอเร็วผิดปกติ เบรกแล้วรถแถไปข้างใดข้างหนึ่ง(แม้จะเพียงนิดหน่อย) ต้องเกร็งข้อมือข้อแขนตลอดเวลาแม้รถจะวิ่งบนทางตรงถนนเรียบหรือเครียดเกร็งในการควบคุมรถ ทั้งหมดเป็นอาการบ่งบอกเตือนให้คุณต้องนำรถเข้าร้านตรวจเช็กศูนย์ล้อกันแล้วละ
ถ้ามีคำถามว่า เมื่อควรจะต้องตรวจเช็กศูนย์กันเมื่อไหร่อย่างไรคำตอบง่ายๆ ก็คือยึดถือตามข้อกำหนดในหนังสือคู่มือประจำรถ ถ้าเพิ่งได้รถเก่ามาไม่มีหนังสือคู่มือก็ใช้ประมาณการว่า ไม่ควรจะให้เกินกว่า สองหมื่นกิโลเมตร จากระยะทางที่ใช้งาน และถ้าคุณใช้รถกันแบบไม่บันยะบันยังคุณก็ควรต้องทำให้ถี่ขึ้นอาจจะทุกครั้งที่เข้าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ช่วงล่างไม่เพียงให้ความนุ่มนวลแข็งกระด้างแต่จะให้ความปลอดภัยกับคนใช้รถมากขึ้น ถ้าคุณใส่ใจกับศูนย์ล้อของรถที่คุณขับอยู่ โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นฤดูฝนอย่างจริงจังฝนตกน้ำขังถนนลื่น ยางดีเบรกดีช่วงล่างดีศูนย์ล้อต้องเที่ยงคุณถึงจะเอาอยู่