ไลฟ์สไตล์

พุทธังสะระณังคัจฉามิ

พุทธังสะระณังคัจฉามิ

31 ส.ค. 2553

มีชาวพุทธสักกี่คนในประเทศเราที่เข้าใจว่า พุทธะหมายความว่าอย่างไร ที่เราสวดว่า “พุทธังสะระณังคัจฉามิ” พุทธะนี่หมายความว่าอย่างไร

   พุทธะ หมายถึงความรู้ตัว ความแจ้ง ความรู้แจ้ง ความตื่น หลายคนนึกว่า พุทธะหมายถึงพระพุทธเจ้า
 พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นมนุษย์เดินดินเหมือนกับเรา เคยเดินดินอยู่ที่ปัจจุบันเป็นประเทศอินเดีย เกิดที่ดินแดนที่เรียกว่า "ลุมพินี"

 พระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์คนนั้นหรือ ที่จะช่วยเป็นสรณะให้เราพ้นทุกข์ได้ ไม่น่าจะใช่ เพราะว่าพระองค์เองทรงมีสังขารเป็นมนุษย์ สังขารก็เสื่อมโทรมไปตามหลักไตรลักษณ์ นั่นก็คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 แม้ท้ายที่สุด สังขารของตนเองก็ไม่ที่จะยืนหยัดอยู่ได้ เมื่อครบ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
 ถ้าอย่างนั้น พุทธะจะหมายถึงพระพุทธรูปกระมัง พระพุทธรูปที่เรากราบไหว้บูชานั้น ไม่ว่าจะเป็นโลหะ ไม่ว่าจะเป็นไม้แกะสลัก ไม่ว่าจะเป็นหินแกะสลัก ไม่ว่าจะเป็นหยกแกะสลัก เช่น พระแก้วมรกต ของเรานี่เป็นหยกแกะสลัก พระพุทธรูปทั้งหลายที่เป็นวัตถุ แท้ที่จริงแล้วเป็นเครื่องบ่งชี้ เตือนสติเราให้เราระลึกถึงอะไรบางอย่างที่ไปพ้นจากวัตถุธรรม

 พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นมนุษย์ ก็เป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ให้เรานึกถึง ระลึกถึงธรรมะวิเศษ อันทำให้พระองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นพุทธะที่แท้จริงที่จะช่วยให้เราเป็นสรณะ ให้เราพ้นทุกข์ได้นั้น ไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์เดินดิน ไม่ใช่พระพุทธรูปที่เป็นวัตถุสิ่งของ แต่เป็นคุณวิเศษ เป็นคุณสมบัติพิเศษในจิตใจ ที่จะทำให้เรารู้แจ้ง

 เราเชื่อว่าเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา ได้ตรัสรู้ธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 เราเชื่อต่อไปด้วยว่า ธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นั้นเป็นจริง ทำให้พระพุทธองค์รู้แจ้ง แทงตลอด ละวางความทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง เราเชื่อต่อไปด้วยว่า พุทธะความรู้แจ้งนั้น ความตื่นของพระพุทธองค์แม้แต่เราซึ่งปฏิบัติตามพระองค์ ก็สามารถจะเข้าถึงได้ และข้อสำคัญ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้วางวิธีการเข้าถึงเอาไว้ ปรากฏอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ ว่า ถ้าหากว่า ดำเนินรอยตามนี้ เราทุกๆ คนก็สามารถจะบรรลุธรรม หลุดพ้นจากการร้อยรัดเกี่ยวเกาะจากความทุกข์ได้เช่นกัน

   ลำพังเราเชื่อในพระพุทธองค์อย่างเดียว ยังไม่สามารถที่จะเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกถึง ที่จะทำให้เราหลุดพ้นได้ แต่เราจะต้องน้อมนำมาสู่ภาคปฏิบัติ

 เมื่อเราเชื่อแล้ว เราเชื่อต่อไปว่าเราจะต้องดำเนินชีวิตของเราให้สอดคล้องกับวิถีทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางไว้เป็นแนวทาง   

"ธัมมนันทา"