ไลฟ์สไตล์

เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์-"กบมันร้อง เพราะเหตุใด?

20 ก.ย. 2553

“ฝนเอยทำไมจึงตก ฝนเอยทำไมจึงตก มันจำเป็นต้องตก เพราะว่ากบมันร้อง...” น้องๆ เคยได้ยินบทเพลงนี้มาบ้างใช่หรือเปล่าคะ แล้วสงสัยเหมือนพี่ฮัมมิ่งเบิร์ดหรือเปล่าคะ ว่ากบร้องเพราะท้องมันปวด เหมือนในบทเพลงจริงๆ หรือว่า กบมันร้องเพราะสาเหตุอื่นกันแน่ ??

 กบ เป็นสัตว์สี่เท้าจำพวกสะเทินน้ำสะเทินบก หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ กบมีผิวหนังขรุขระ ไม่มีขนและเกล็ด ที่บริเวณผิวหนังมีต่อมเมือกและน้ำใสๆ เพื่อช่วยให้ผิวหนังของกบ มีความชุ่มชื่นอยู่เสมอ มีหัวลักษณะคล้ายรูปทรงสามเหลี่ยม มีสัณฐานค่อนข้างแบนเรียบปากกว้าง นัยน์ตากลมโตและโปนโดยบริเวณหนังตามีแผ่นเนื้อเยื่อบางๆ ซึ่งทำหน้าที่เปิดและปิดนัยน์ตาดำของกบ มีหูอยู่บริเวณด้านหลังของนัยน์ตาที่มีลักษณะเป็นแอ่งกลมๆ ภายในปากมีฟันขนาดไล่เลี่ยกันคล้ายกับเลื่อย ลิ้นมีปลายแยกออกเป็นสองแฉก ใช้สำหรับจับแมลงและสัตว์อื่นเป็นอาหาร หายใจโดยใช้ปอดและสามารถหายใจได้ทางผิวหนัง ไม่มีคอและหาง มีขา 2 คู่ ขาด้านหน้ามีขนาดเล็กและสั้น มีข้อเท้าขนาดยาวช่วยในการกระโดด ระหว่างนิ้วเท้าทั้งห้าของขาคู่หน้าและหลัง มีหนังบางๆ เป็นแผ่นๆ ยึดติดกันใช้สำหรับว่ายน้ำ

 ส่วนสาเหตุ “เมื่อฝนตกได้ยินเสียงกบร้อง” ความเชื่อที่ว่ากบร้องเฉพาะเวลาฝนตกหรือหลังฝนตกไม่ใช่ความจริง แต่ตามหลักทางวิทยาศาสตร์มีข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงกัน คือฝนตก กบร้อง เนื่องจากเมื่อเกิดฝนตกน้ำฝนจะไหลท่วมรูที่กบอาศัยอยู่ทำให้พวกมันต้องออกมาข้างนอกและทำกิจกรรมที่ตามปกติจะทำในรูหรือในที่กำบัง เช่น หาอาหาร ผสมพันธุ์ เป็นต้น จนดูเหมือนว่าฝนเป็นปัจจัยที่ทำให้กบหรือจิ้งหรีดส่งเสียงร้อง ความจริงเป็นการส่งเสียงตามปกติอยู่แล้ว แต่เราสามารถได้ยินด้วยก็เท่านั้นเองนอกจากนั้นความเงียบของโลกหลังฝนตกเป็นเหตุผลเสริมอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราได้ยินเสียงของสรรพชีวิตได้ดีเป็นพิเศษ

 ว่ากันว่า เป็นเรื่องของจิตใจและสัญชาตญาณของสัตว์โลกค่ะ สัตว์ทุกชนิดมีสัญชาตญาณและความรู้สึกนึกคิดคล้ายกับเราที่เป็นมนุษย์เหมือนกันสิ่งมีชีวิตทั้งหลายจึงควรเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันโดยมีความจริงทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวเสริม (ที่มา บทความเรื่อง ทำไมกบร้องเสียงดังหลังฝนตก? วิทยาศาสตร์รอบตัวจาก สสวท) แล้วพบกันสัปดาห์หน้าค่ะ