
ปะการังฟอกขาวตายครั้งใหญ่พบมากแถบอาเซียนรวมไทย-หวั่นกระทบท่องเที่ยว
ซิดนีย์- นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลียออกโรงเตือนแนวปะการังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดีย กำลังตายครั้งใหญ่จากปรากฏการณ์ฟอกขาวครั้งร้ายแรงสุดในรอบกว่าทศวรรษ ชี้อีกนานกว่าจะฟื้นคืนสภาพเดิม คาดกระทบท่องเที่ยว-ประมง
นายแอนดรูว์ บายด์ นักชีววิทยาทางทะเล จากศูนย์เพื่อความเป็นเลิศด้านแนวปะการังศึกษาของออสเตรเลีย กล่าวเมื่อวันอังคาร (19 ต.ค.) ว่า ปรากฏการณ์ฟอกขาวซึ่งเกิดจากกระแสน้ำอุ่นขนาดใหญ่ไหลเข้ามาในมหาสมทุรอินเดียเมื่อเดือนพฤษภาคม เป็นเหตุให้แนวปะการังตั้งแต่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา พม่า ไทย สิงคโปร์ ศรีลังกา ไปจนถึงหมู่เกาะซีเชลล์ มีสีซีดลงและตาย
สภาพปะการังตายจำนวนมากครั้งนี้ เลวร้ายที่สุดเท่านับจากปี 2541 ซึ่งในครั้งนั้น กระแสน้ำอุ่นได้ฟอกขาวปะการังทั่วโลกจนตายไปถึง 16%
นายบายด์ กล่าวว่า อุณหภูมิน้ำบางแห่งในมหาสมุทรอินเดียเพิ่มสูงกว่าระดับปกติมาก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน แนวปะการังที่เกาะอาเจะห์ของอินโดนีเซีย เป็นพื้นที่ที่เผชิญปรากฏการณ์นี้เลวร้ายที่สุด โดยในช่วง 6-8 สัปดาห์นับจากกลางเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิของน้ำแถวนั้นสูงมาก ชาวบ้านในท้องถิ่นออกปากว่าไม่เคยพบเห็นสภาพเช่นนี้มาก่อน
การฟอกขาวเกิดจากกระแสน้ำอุ่นแผ่ปกคลุมปะการัง ทำให้ปะการังปรับสภาพไม่ทันและมีสีขาวซีด ผลคือทำให้สาหร่ายที่อาศัยอยู่ตามปะการังตาย เมื่อสาหร่ายตาย ปะการังก็จะตายเพราะไม่มีอาหารจากสาหร่าย
ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าแนวปะการัง "เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ" แหล่งท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อของออสเตรเลีย เสียหายไปด้วยหรือไม่ แต่คาดว่าปรากฏการณ์ฟอกขาวกระทบต่อปะการังในทะเลอันดามัน และแปซิฟิกตอนกลางเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์ท่านนี้กล่าวด้วยว่า ขอบข่ายของแนวปะการังฟอกขาวครั้งนี้ กว้างใหญ่ไพศาลมาก และอาจใช้เวลายาวนานในการฟื้นฟู ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการทำประมงและการท่องเที่ยวในภูมิภาค ทั้งยังอาจกลายเป็นประเด็นด้านความมั่นคงได้ และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายๆ ประทศอย่างออสเตรเลีย จำเป็นต้องตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่งตั้งแต่บัดนี้ เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน