ไลฟ์สไตล์

หัวใจเศรษฐี (๑) เศรษฐี & พ่อค้า ใครว่าเหมือนกัน

23 ต.ค. 2553

ระหว่างที่ผู้เขียนทำโครงการ “ท่องเที่ยวไทยให้ถึงธรรม” ร่วมกับ หอจดหมายเหตุพุทธทาสและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ทุกเช้าผู้เขียนได้กล่าวธรรมกถาเพื่อเพิ่มพูนศรัทธาปสาทะในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้แก่เ

  เช้าวันนี้ มีพุทธบริษัทญาติโยมจากกรุงเทพฯ ยกคณะขึ้นมาถึงศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวันเพื่อถวายพระพุทธรูปสององค์ แต่ถวายแล้วไม่ได้เก็บไว้ที่นี่ แต่จะส่งต่อไปประดิษฐานที่ศูนย์วิปัสสนากรรมฐานแห่งหนึ่ง ณ มณฑลยูนนาน แคว้นสิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน 

 ที่สิบสองปันนา มีศูนย์วิปัสสนากรรมฐานก่อตั้งโดยพระชาวสิบสองปันนา สอนโดยพระพม่า ร่วมกับพระชาวสิบสองปันนา ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรของอาตมาเอง ที่สิบสองปันนั้นในเวลานี้ พระมหาเถระที่นั่นกำลังพยายามร่วมกันกู้พุทธศาสนาสายเถรวาท ซึ่งคงอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศจีน ให้ฟื้นคืนมาที่สิบสองปันนาอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากวันนี้ทุกท่าน ทุกคน ที่ยกคณะกันขึ้นมาถวายพระพุทธปฏิมาทั้งสององค์ ล้วนเป็น เศรษฐีใจบุญ เป็นนายทุนใจดี อาตมภาพก็เลยอยากจะเชิญชวนให้เรามาเรียนรู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “เศรษฐี” กับ “นายทุน/คนรวย” ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร 

 คำว่า “เศรษฐี” ความหมายอย่างที่รู้ๆ กันตามภาษาชาวบ้าน “เศรษฐี” ก็แปลว่า “ผู้มีทรัพย์มาก”  แต่ตามรากศัพท์ในภาษาบาล “เศรษฐี” มาจากคำว่า “เสฏฺฐ” แปลงรูปเป็น “เศรษฐี” ตามหลักบาลีไวยากรณ์ แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” หรือ “ผู้ประเสริฐที่สุด” ก็ได้

 เหมือนกับที่เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อแรกประสูติ พระองค์ได้เปล่งอาสภิวาจาว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโฐหมสฺมิ  โลกสฺส” แปลว่า “เราเป็นยอดคนของโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก” คำว่า “เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก” นั้นทรงใช้คำว่า  “เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส” เฉพาะคำว่า “เสฏฺโฐ” แปลว่า “ประเสริฐที่สุด” แล้วยังมีคำไวพจน์อีกสองคำคือ  “อคฺโค” และ “เชฏฺโฐ” สองคำที่มาขยายคำว่า “เสฏฺโฐหมสฺมิ” เมื่อกล่าวโดยความหมายที่แท้ก็คือเรื่องเดียวกัน 

 กล่าวคือมุ่งไปที่ “ความเป็นเลิศ ความประเสริฐ ความวิเศษสุด” นี่คือรากศัพท์ที่แท้จริงของคำว่า  “เศรษฐี” ดังนั้นคำว่า “เศรษฐี” จึงไม่ได้แปลกันอย่างผิวเผินตื้นๆ ว่า “ผู้มีทรัพย์มาก” เท่านั้น แต่สามารถแปลได้อีกความหมายหนึ่งว่า “ผู้ประเสริฐ, ผู้เป็นเลิศ, ผู้เป็นยอดคน”

 ถ้าพิจารณาความหมายของเศรษฐีตามนัยดังกล่าวมานี้ คนธรรมดาๆ ที่แม้จะไม่มีเงินเลยแม้แต่บาทเดียว แต่หากเป็นผู้ประเสริฐเพราะมีความประพฤติดีงาม ทั้งยังสร้างสรรค์แต่สิ่งดีที่มีคุณค่าฝากไว้ให้แผ่นดิน ก็นับเป็นเศรษฐีได้เหมือนกัน

 ในภาษาบาลี มีคำอีกคำหนึ่งซึ่งตรงกับคำว่า “เศรษฐี” ในความหมายอย่างสามัญที่แปลกันว่า “คนมีทรัพย์มาก, คนมั่งคั่งร่ำรวย” นั่นก็คือ คำว่า “มหาธนวาณิชฺโช” “มหาธนวาณิช” มาจากคำว่า  “มหา” สมาสกับคำว่า “ธน” และ “วาณิช” คำว่า “มหา” แปลว่า “มาก” “ธน” แปลว่า “ทรัพย์” ส่วน  “วาณิช” แปลว่า “พ่อค้า” “มหาธนวาณิช” แปลเอาความว่า “พ่อค้าผู้มีทรัพย์มาก” ดังนั้นคำว่า “เศรษฐี” จึงต่างจาก “มหาธนวาณิช” 

 เศรษฐี ต้องเป็นคนดี (สมัยก่อนเรียกคนดีว่าเป็น คนใจบุญ) ต้องเป็นคนใจบุญจึงได้เป็นเศรษฐี ทางล้านนาเรียกเศรษฐีว่า “พ่อเลี้ยง” ส่อความหมายว่า ต้องเป็นคนใจดีที่เป็นผู้กว้างขวางเพราะเป็นพระผู้ให้ การเป็นเศรษฐีจึงต้องมีบุคลิกภาพของการเป็นผู้ให้ ส่วนผู้มีทรัพย์มาก จึงได้เป็นมหาธนวาณิช คนไทยเรียกรวมกันเป็นคำซ้อนว่า “พ่อค้าวาณิช” คนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ เขาเรียกว่า “วาณิชธนกิจ” คำว่า “วาณิช” ถ้าเป็นชื่อกิจกรรมแปลว่า “การทำมาค้าขาย”  ถ้าเป็นชื่อคนแปลว่า “พ่อค้า” ดังนั้น “เศรษฐี” กับ “คนรวย” จึงต่างกัน  

"ว.วชิรเมธี"