
พระบรมฯทรงเปิดมหาวิทยาลัย"มจร."
สมเด็จพระบรมฯทรงเปิดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ และทรงเปิดอาคาร ม.ว.ก. 48 พรรษา ณ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทรงรับการถวายของที่ระลึกจากสมเด็จพระสังฆราชกัมพูชา พระอุทุกกมะ ศรีพุทธรักขิตะ มหานายกะ แห่งสยามนิกายฝ่ายอัสคีรีประ
เมื่อเวลา 15.05 น.วันที่ 3 ธันวาคม 2553 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและเปิดอาคาร ม.ว.ก. 48 พรรษา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี นายศุภชาติ ถิ่นพังงา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพลตรี ประพนธ์ ศักดิ์สุภา ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสระบุรี พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 และคณะกรรมการจัดงาน ฯ เฝ้ารับเสด็จ
ในการนี้ทรงรับการถวายของที่ระลึกจากสมเด็จพระอัครมหาสังฆราชาธิบดี เทพวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา, พระอุทุกกมะ ศรีพุทธรักขิตะ มหานายกะ แห่งสยามนิกายฝ่ายอัสคีรี ประเทศศรีลังกา, ผู้แทนประมุขสงฆ์ จากประเทศต่าง ๆ และผู้แทนวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการแสดงประวัติ และพัฒนาการของมหาวิทยาลัย ซึ่งจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต, หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต, หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิตนานาชาติ, หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต, หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต และหลักสูตรประกาศนียบัตร
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาขึ้น ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง สำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ เมื่อ พ.ศ. 2430 เป็นต้นมา และต่อมา พ.ศ. 2540 รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้เป็นนิติบุคคล และมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
เมื่อนายแพทย์รัศมีและคุณหญิงสมปอง วรรณิสสร ทราบว่ามหาวิทยาลัยมีสถานะเป็นนิติบุคคลสามารถรับบริจาคที่ดินได้ จึงถวายที่ดินจำนวน 84 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา ณ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแก่มหาวิทยาลัย เพื่อจัดสร้างเป็นศูนย์กลางการบริหารของมหาวิทยาลัย โดยผู้มีจิตศรัทธาทั้งสองได้เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายโฉนดที่ดินแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อพระราชทานแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2542 ต่อมาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในบริเวณที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2542
นับแต่นั้นเป็นต้นมาพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์กลางการบริหารของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ สถานที่ที่ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แห่งนี้ พร้อมทั้งระดมทุนจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม จนกระทั่งปัจจุบันมีที่ดินรวมทั้งสิ้น 323 ไร่
การก่อสร้างดำเนินไปด้วยดีตามลำดับ ทั้งนี้ก็ด้วยการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาล รวมทั้งการระดมทุนอุปถัมภ์การก่อสร้าง และการบริจาคโดยตรงจากผู้มีจิตศรัทธา ที่สำคัญประกอบด้วย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ พระวิสุทธาธิบดี วัดสุทัศนเทพวราราม
พระพรหมมังคลาจารย์ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระราชพิพัฒน์โกศล วัดศรีสุดาราม นางยุวรี เอื้อกาญจนวิไล นายศักดิ์ชัยและนางสุดาวรรณ เตชะไกรศรี โดยใช้งบประมาณค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปแล้วทั้งสิ้น 2,100,000,000 บาท (สองพันหนึ่งร้อยล้านบาทถ้วน) ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ขยายพื้นที่เพิ่มเติมเป็น 325 ไร่ ขณะนี้ กำลังดำเนินการจัดสร้างวิทยาลัยพระพุทธศาสตร์นานาชาติเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาของชาวไทยและชาวโลกต่อไป
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ย้ายสถานที่ปฏิบัติงานจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มายังสำนักงานแห่งใหม่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานเปิดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อย่างเป็นทางการวันที่ 3 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา