ไลฟ์สไตล์

ผลิตภัณฑ์ใหม่"ชาใบหมากเม่า" 
แต่งรสเพิ่มค่า-สร้างชุมชนมีอาชีพ

ผลิตภัณฑ์ใหม่"ชาใบหมากเม่า" แต่งรสเพิ่มค่า-สร้างชุมชนมีอาชีพ

17 ธ.ค. 2553

หมากเม่า ผลไม้ยืนต้นสูงใหญ่ของไทย ไม่เพียงแค่ผลเท่านั้นที่กินได้และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไวน์เม่า ใบเม่าเองก็สามารถนำมาบริโภคหรือผสมอาหารเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ จากการวิเคราะห์คุณประโยชน์ของใบ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เหมาะแก่การ แปรรูปเป็นชา เพื่อสร้างม

 ดังที่ ดร.พรประภา ชุนถนอม อาจารย์ประจำโครงการการพัฒนาชาใบเม่าแต่งรสเพื่อเพิ่มผลิตผลของชุมชน คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ต้องการให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากใบหมากเม่าอย่างคุ้มค่า จึงเป็นที่มาของแนวคิดการพัฒนา ชาใบเม่าแต่งรสเพื่อเพิ่มผลิตผลของชุมชน ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความร่วมมือของมหาวิทยาลัย

 "เราได้ศึกษาทดลองตลอดระยะเวลา 1 ปี ด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนบรรลุวัตถุประสงค์ พบประโยชน์ของชาใบเม่ามีสารอนุมูลอิสระในปริมาณสูง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านมะเร็ง ฯลฯ โดยผ่านกระบวนการอบแห้งที่ใช้ความร้อนต่ำ รักษาคุณค่าของสารออกฤทธิ์ เช่น โพลีฟีนอล วิตามินซี และคลอโรฟิลล์" ดร.พรประภาบอกถึงเหตุผล

 พร้อมระบุว่า ระยะแรกผลิตภัณฑ์ชาที่ได้มีกลิ่นเหม็นเขียว ไม่น่ารับประทานนัก จึงปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพิ่ม ทั้งกลิ่น สี รสชาติ โดยใช้ยอดเม่าตัวผู้ผสมรวมกับเปลือกผลเม่า ในอัตราส่วน 1/1 ทำให้ผลิตภัณฑ์มีสีม่วงอ่อนสวยงามจากโมเลกุลให้สีแอนโทไซยานิน รสชาติฟาดอมเปรี้ยว ดื่มง่าย และเป็นที่ยอมรับจากผู้ทดสอบมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเปรียบเทียบว่า การแยกเปลือกผลแล้วอบแห้งด้วยความร้อนต่ำ กับการหมักหรือคั่วก่อนอบแห้ง กรรมวิธีใดจะให้รสชาติดีกว่ากัน

 น.ส.อัญชลี หมู่มาก ผู้ช่วยงานวิจัยโครงการ บอกว่า ชุมชนเข้ามามีส่วนพัฒนางานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย โดยชมรมหมากเม่าสกลนครคัดเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมในการผลิตชา กระทั่ง ผลงานวิจัยสำเร็จเป็นรูปธรรม ล่าสุด จัดแสดงผลงานนำเสนอผลิตภัณฑ์แก่ประชาชนใน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2553” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งองค์ความรู้นี้จะถ่ายทอดสู่ชุมชนต่อไป เช่นเดียวกับโครงงานวิจัยปรับปรุงผลิตภัณฑ์จากเม่าต่างๆ อาทิ ไวน์เม่า น้ำผลไม้เม่าเข้มข้น น้ำเม่าพร้อมดื่ม แยมเม่า ฯลฯ ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ในชุมชนทุกภาคส่วน

 สอดรับกับ นายคนพ วรรณวงศ์ ประธานชมรมหมากเม่าสกลนคร สะท้อนถึงการพัฒนางานวิจัยเพื่อชุมชน ช่วยให้อาชีพเกษตรกรเพาะปลูกเม่าเจริญเติบโต เนื่องจากการเก็บผลเม่าเพื่อการค้า ถือเป็นอาชีพเสริมรายได้หลังการทำนาของชาวบ้าน โดยเฉพาะ จ.สกลนคร

 "เราพบเม่าอุดมอยู่แถบเทือกเขาภูพานเป็นจำนวนมาก ปัญหาอยู่ที่ผลผลิตแต่ละปีออกดอกผลมากน้อยต่างกัน รายได้ของเกษตรกรจึงถูกลดทอน การคิดเพิ่มผลิตผลของชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก ขยายพันธุ์ กระทั่งกระบวนการผลิตสินค้าแปรรูปเพื่อการจำหน่าย ที่ได้รับการสนับสนุนความรู้จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย ผลักดันให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับเม่ามีเงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาท กระจายอย่างทั่วถึงในชุมชน"

 ทว่า ที่ผ่านมาเมื่อผู้ประกอบการหรือสมาชิกกลุ่มใดประสบปัญหา จะได้รับการช่วยเหลือจากคลินิกเทคโนโลยีอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงเตรียมอุปกรณ์ วัตถุดิบในการผลิต เช่นเดียวกับชาใบเม่าแต่งรสที่จะได้รับการถ่ายทอดกระบวนการทำ เพื่อเพิ่มผลิตผลของชุมชน เน้นใช้ต้นหมากเม่าทั้งใบและผล ลดต้นทุนการผลิตด้วยวิธีอบแห้ง เป็นผลิตภัณฑ์ชาสุขภาพอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภค สำหรับผู้ที่สนใจ ติดต่อคลินิกเทคโนโลยี โทร.0-4277-2393 หรือชมรมหมากเม่าสกลนคร โทร.08-9575-7214