ไลฟ์สไตล์

"อนุบาลบุณยรักษ์"สมดุลในความเป็นไทยและสากล

"อนุบาลบุณยรักษ์"สมดุลในความเป็นไทยและสากล

20 ธ.ค. 2553

"เด็กที่จบอนุบาล 3 จะต้องอ่านออกเขียนได้ เป็นสิ่งที่สังคมต้องการ ผู้เชี่ยวชาญด้านปฐมวัย เชื่อว่าเด็กพัฒนาได้ เราไม่ควรปิดกั้น แต่บางที่สุดโต่ง เด็กยังไม่ถึงเวลาก็ดัน แต่เราจะพัฒนาตามวัยและมีความสุข ผมไม่อยากให้เด็กและผู้ปกครองมองว่าเข้าห้องสี่เหลี่ยมในโร

 เพราะเด็กเรียนรู้ได้ทุกที่ ที่รถ ที่บ้าน ไปเที่ยวกับพ่อแม่ เป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ถ้าพ่อแม่เข้าใจขบวนการเรียนรู้ของเด็ก แต่ทุกวันนี้เด็กไทยมาโรงเรียนถึงได้เรียนรู้" รุ่งรุจน์ธนัน บุณยรักษ์  ผู้จัดการ โรงเรียนอนุบาลบุณยรักษ์ ให้ทัศนะของคำว่า "โลกแห่งการเรียนรู้ของเด็กก่อนปฐมวัย

 อนุบาลบุณยรักษ์ รับเด็กอายุขวบครึ่งถึง 6 ขวบ เพราะมีจุดประสงค์ให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ สิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องสร้างทัศนคติที่ดีในการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ให้คนไทยมีคุณภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต   

 "ผมต้องการให้เด็กเรียนรู้ได้ทุกเวลา ไม่ใช่จับเด็กมานั่งอ่านหนังสือโดยไม่ได้ใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ในเชิงบวก ทำให้เด็กแข่งขันกันตลอดเวลา การแข่งขันจะทำลายการเรียนรู้ของเด็ก เพราะเป็นสิ่งที่กดดันเด็กค่อนข้างมาก แต่ผมใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ ผ่านกิจกรรมหลากหลาย ทำให้เด็กของเรากล้าแสดงออกทุกคน"

 กิจกรรมที่จัดดึงชุมชนมาร่วมจัดการศึกษาด้วย เพื่อสร้างเครือข่ายทางการเรียนรู้ ร่วมกับโรงเรียนชุมชนในชนบท จริงๆ เกิดการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นครูและพนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทุกกิจกรรมของโรงเรียน ส่วนผู้บริหารจะเป็นฝ่ายสนับสนุน ไม่ออกคำสั่ง

 "ผมให้ความสำคัญมากที่สุด คือ การพัฒนาศักยภาพครู ผมเชื่อว่าคุณภาพของการศึกษาไม่สามารถสูงไปกว่าคุณภาพของครูได้ ผมจึงส่งเสริมศักยภาพของครูตรงกับความถนัด เพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญให้มากขึ้น ให้ทุนครูเรียนต่อปริญญาโท เราพัฒนาครูไม่ใช่เฉพาะคุณวุฒิ แต่พัฒนารอบด้าน"

 เหนืออื่นใด ผลสัมฤทธิ์วัดได้จากตัวเด็ก เน้นทั้งวิชาการ และการปฏิบัติ ดูได้จากการไปประกวดศิลปะ ว่ายน้ำ ดนตรี ฟุตบอล มีความโดดเด่น เพราะครูเราพัฒนารู้ทันโลก หาข้อมูลตลอดเวลาเพื่อจะพัฒนาตนเอง  

 ด้านวิชาการจะบูรณาการแบบหลากหลาย อะไรที่ดีของ ทฤษฎีต่างๆ เรานำมาประยุกต์ใช้ อย่าให้เด็กทำโปรเจกท์ปีละ 2 ครั้ง หรือเทอมละครั้ง ซึ่งเด็กเรียนรู้ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคณิต วิทย์ ภาษา เพลง

 “ผมจะพยายามทำให้ผู้ปกครองรู้ว่า การแบ่งคาบเรียนไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกันหมด การแบ่งการเรียนเป็นวิชาค่อนข้างสติ๊ก คนในวงการศึกษาจะรู้ว่ามันทำลายเด็กจริงๆ สำหรับเด็กก่อนปฐมวัย สิ่งที่สำคัญคือการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน เราจึงปลูกฝังให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ มีการสร้างสรรค์ ความรู้เป็นฐานจริงๆ ก็คือกระบวนการเรียนรู้ เช่น การเรียนรู้วันลอยกระทง ครูต้องผลิตสื่อจากแหล่งเรียนรู้รอบๆ ชุมชน"

 สิ่งที่เมืองไทยและการปฏิรูปการศึกษาขาดจริงๆ คือ ไม่ได้มองว่าต้องให้ความสำคัญ หรือให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง ถ้าเราให้ความรู้ผู้ปกครองควบคู่ไปกับเด็ก เช่น เด็กปฐมวัย เราต้องให้ความรู้ผู้ปกครองด้านพัฒนาการของเด็กที่ถูกต้อง เด็กอายุ 2-5 ขวบ มีพัฒนาการอย่างไร ทุกวันนี้การศึกษาจึงไม่ช่วยให้การเรียนรู้สมบูรณ์

 “ความหมายของการศึกษาที่แท้จริง คือ การพัฒนามนุษย์ให้สมบูรณ์ ผมจึงให้ครูสื่อสารกับผู้ปกครองผ่านเฟซบุ๊ก ขณะเดียวกันจัดสภาพแวดล้อมเหมือนบ้าน จัดระบบเดินเรียน เพราะผลวิจัยของญี่ปุ่นระบุว่า เด็กเดินวันละเกิน 1 หมื่นก้าวต่อวัน จะเป็นเด็กอัจฉริยะได้ ซึ่งสอดคล้องการวิจัยของเด็กปฐมวัยว่า เด็กใช้มือใช้เท้ามากที่สุด จะเป็นการพัฒนาสมอง แต่ละห้องมีครู 1 คน พี่เลี้ยง 1 คน เพื่อดูแลเอาใจใส่นักเรียน 25 คน เหมือนลูกหลาน"

  "รุจน์ธนัน" ยังวาดฝันถึงก้าวต่อไปในปี 2554 ว่า เราจะไม่บอกว่า โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนสองภาษา หรืออินเตอร์ แต่หลักสูตรจะมีความสมดุลในความเป็นสากลและเป็นไทย และหลักสูตรสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน เพราะครูทุกคนรู้ปัญหาของเด็กแต่ละระดับชั้น เราจะช่วยกันพูดคุยกันว่า ตรงไหนที่ต้องปรับปรุง พัฒนา เราจะพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน แผนการสอนปรับตลอด เพราะเด็กแต่ละคนเรียนรู้แตกต่างกัน หากเด็กอ่อน เราจัดสอนเสริม ส่วนการสอบจะดูพัฒนาการของเด็กระหว่างเรียน แต่การวัดผลวิชาการสามารถประเมินได้ตลอด เพราะการจัดสอบไม่ใช่จุดตายตัวว่าเด็กเก่งหรือไม่เก่ง ต้องวัดผลในระยะยาว