
ได้รับสาร "ฟูราดาน" มาก อาจถึงตาย
กระทรวงสาธารณสุข จัด โครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัยฯ เทิดพระเกียรติในหลวง 84 พรรษา เตือน หากได้รับ "ฟูราดาน" เข้าสู่ร่างกายมาก อาจทำให้เสียชีวิตได้
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้สารเคมีทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสารเคมีที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ สารกำจัดแมลง สารป้องกันและกำจัดโรคพืช สารกำจัดวัชพืช สารกำจัดไร สารกำจัดหนู สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช สารกำจัดหอย สารกำจัดไส้เดือนฝอย เป็นต้น
จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลการตรวจวิเคราะห์สารพิษที่ตรวจพบในร่างกายของผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ ของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา สารพิษกลุ่มที่ตรวจพบมากที่สุด คือ สารเคมีกำจัดแมลง คิดเป็นร้อยละ 34.6 และพบว่า สารพิษที่ตรวจพบมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโธมิล พาราไธออน ซิงค์ฟอสไฟด์ และโมโนโครโตฟอส ตามลำดับ
สารคาร์โบฟูราน เป็นสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มคาร์บาเมท มีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงที่ทำลายพืช โดยเฉพาะแมลงที่กัดกินต้นพืช ซึ่งเกษตรกรนิยมใช้หยอดหลุมแตงโม แตงกวา หรือหว่านในนาข้าว ดังนั้น เมื่อเกษตรกรได้รับ สัมผัสทางผิวหนัง หรือสูดดมสารเข้าไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น มีอาการมึนงง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย กระวนกระวาย ม่านตาหรี่ คลื่นไส้ น้ำตาและน้ำลายไหล เหงื่อออกมาก ปวดท้องเกร็ง ชีพจรเต้นช้า กล้ามเนื้อเกร็ง หากได้รับในปริมาณมากจะทำให้ระบบการหายใจล้มเหลว และอาจเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ยังพบว่า มีการนำมาใช้ในทางที่ผิด ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย สารคาร์โบฟูราน มีชื่อทางการค้าที่รู้จักและเรียกกันแพร่หลายทั่วไป คือ คูราแทร์ 3% จี หรือ ฟูราดาน เนื่องจากสารดังกล่าวเป็นสารพิษชนิดร้ายแรงที่มีอันตรายต่อคนและสัตว์ อย่างไรก็ตาม สารเคมีทางการเกษตรและวัตถุอันตรายถึงแม้จะมีคุณอนันต์ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง หรือใช้มากเกินความจำเป็น ก็มีโทษมหันต์ต่อเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ควรรณรงค์ให้เกษตรกรและผู้บริโภค ตระหนักถึงพิษภัยที่เกิดขึ้น รู้จักวิธีการใช้ที่ถูกต้อง และร่วมกันหาทางป้องกันแก้ไขปัญหา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์