วัดหลวงเมืองลื้อ-สิบสองปันนา (ถนนนี้ไปคุนหมิง)
"คุนหมิง" กลายเป็นเมืองที่เราได้คุ้นเคยกันมากขึ้น เมื่อการเดินทางด้วยภาคพื้นเชื่อมต่อกันจากเมืองสู่เมือง จาก กรุงเทพมหานคร มุ่งสู่ เชียงของ ข้ามแม่น้ำโขงไปที่ ห้วยไซ (บ่อแก้ว หลวงน้ำทา นาเตย บ่อเต็น) ประเทศลาว แล้วเดินทางต่อไปถึง ด่านบ่อเต็น เข้าเขตประเท
การเดินทางด้วยรถยนต์ ทำให้เราได้บันทึกเรื่องราวริมทางได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางผ่านของลาว ได้เห็นสภาพภูมิประเทศและความเป็นอยู่ รวมถึงผู้คนในถิ่นนั้น นอกจากนี้ระยะทางราว 226 กม. ยังอบอวนไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมแห่งต่างแดนของเพื่อนบ้าน มีไกด์สาวชาวลาวมาคอยแนะนำขณะรถวิ่งในช่วงนี้ จึงได้รู้เรื่องราวคร่าวๆ อยู่บ้างว่า สาวสวยแห่งเมืองลาว เขาเรียกว่า “สาวงามกระดั๊กกระด้อ” แต่พอข้ามเขตไปยังเมืองสิบสองปันนา สาวงามที่นั่นเรียกว่า “อีนางตัวดี”
เส้นทางนี้มุ่งตรงสู่คุนหมิง แล้วย้อนกลับมาเที่ยวต่อที่เมือง สิบสองปันนา (พันนา) ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของจีน เขตปกครองพิเศษสิบสองปันนา มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองเชียงรุ้ง มีเนื้อที่ประมาณ 19,700 ตร.กม. มีชายแดนติดต่อกับรัฐฉานของพม่า และแขวงหลวงน้ำทา แขวงพงสาลี ของประเทศลาว ด้วยระยะทาง 966 กม. มีแม่น้ำโขงไหลผ่านกลาง และเมืองเชียงรุ้งมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงคล้ายสะพานพระราม 8 ของเราด้วย ประชากรส่วนใหญ่เป็น ชาวไท และ ชาวฮั่น ดังนั้นชาวไทลื้อจึงพูดภาษาเดียวกับภาษาไทยเหนือ ซึ่งสามารถสื่อสารกันได้เข้าใจพอสมควร
หลังจากเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเฮฮามาตลอดทริป จุดหมายสุดท้ายของการมาเที่ยวเมืองจีนในทริปนี้ ก็คือ เมืองเชียงรุ้ง เราแวะชม วัดหลวงเมืองลื้อ วัดที่ใช้ทุนสร้าง 350 ล้านหยวน บนเชิงเขาเกือบครึ่งลูก เป็นวัดนิกายเถรวาท เนื่องจากมีพื้นที่กว้างเราจึงต้องยอมเสียค่ารถคนละ 20 หยวน นั่งขึ้นไปชมอารามด้านบนสุดก่อน ซึ่งมีพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่มาก ด้านใต้ฐานแบ่งเป็นส่วนๆ ผนังของแต่ละด้านมีช่องสำหรับวางพระพุทธรูปโลหะองค์เล็กรอบด้าน ประดับด้วยแสงไฟที่สาดส่องกระทบองค์ ทำให้เกิดแสงเปล่งประกายอย่างงดงาม
จากด้านบนสุดมีทางเดินเชื่อมมาถึงพระวิหารด้านล่าง รอบบันไดทางเดินมีรูปปั้นพระสงฆ์อยู่ทั้งสองด้าน พระวิหารด้านล่างเป็นการสร้างด้วยศิลปะแบบผสมผสาน ทั้งไทลื้อ ลาว และพม่า ทั้งศิลปะพุทธนิกายหินยาน มหายาน และทิเบต นอกจากนี้ยังมีลายประจำยาม และลายขนดของไทยสอดแทรกอยู่ด้วย อาคารในกลุ่มนี้มีทั้งหมด 4 หลังด้วยกัน มีพระวิหารใหญ่ พระประธานหันหน้าสู่ทิศตะวันออก ผนังด้านในมีภาพวาดพระพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า สองด้านซ้ายขวาเป็นอาคารหลังรอง
วัดหลวงเมืองลื้อ หรือ วัดใหม่ไทลื้อ เป็นวัดพุทธนิกายหินยานที่ใหญ่ที่สุดของจีน เป็นศูนย์กลางของการศึกษาวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยศาสนาพุทธสิบสองปันนา เพื่อใช้ศึกษาวิจัยศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ในอนาคตคงจะเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ทั้งในเชิงการท่องเที่ยว ศาสนา และวัฒนธรรม
วัดแห่งนี้ นับเป็นวัดที่งดงามและประทับใจอย่างยิ่ง ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ด้านภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม เพราะมีป่าไม้ล้อมรอบ มีความร่มรื่น
ถนนสาย Bangkok-Kunming Highway ได้เรียงร้อยวัฒนธรรมชองชนชาติเข้าด้วยกัน จากเหนือจรดใต้ แม้ว่าจะแตกต่างกันด้วยชาติพันธุ์และภาษา แต่ความสัมพันธ์แห่งมวลมนุษย์ถูกเชื่อมต่อด้วยบางสิ่งบางอย่าง และได้ผันแปรไปตามกาลเวลา นอกจากประวัติอันยาวนานที่ได้บ่งบอกไว้ถึงอารยธรรม และความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา แต่ในยุคปัจจุบัน คงไม่มีการรบราฆ่าฟันเพื่อแบ่งแยก แก่งแย่งกันเหมือนแต่โบราณ สิบสองปันนา จึงมุ่งสร้างความมั่นคงทางศิลปวัฒนธรรม รวมถึงศาสนาอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตใจ ให้เจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น โดยมีวัดทั้งหมด 588 วัด มีพระสงฆ์ราว 1,000 รูป และสามเณรอีกกว่า 4,000 รูป ซึ่งบางส่วนได้มาศึกษาในประเทศไทยและสอบได้เปรียญธรรม 9 จำนวนไม่น้อย ในอนาคตสิบสองปันนาคงจะสามารถจัดการแผนการศึกษาบาลีได้เอง
การเดินทางของชีวิต บางครั้งก็มีความหมายมากกว่าที่จะได้ไปเยือนต่างถิ่น เพื่อหวังจะได้เห็นความแตกต่างทางกายภาพ แต่อีกด้านหนึ่ง ในส่วนของความฉาบฉวยของการเดินทางนั้น ได้เคลือบแฝงไปด้วยกลิ่นอายแห่งความลึกล้ำของประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และการดำเนินชีวิตของผู้คนในชุมชนแห่งนั้นๆ ซึ่งได้สะท้อนกลับมายังตัวเอง
ในบางครั้ง ในบางเรื่องราวก็ไม่อาจจะอธิบายถึงความรู้สึกที่ส่งผลในจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดของผู้ประสบพบเห็น การเดินทางจึงมีความหมายและอาจสร้างแนวคิด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตของนักเดินทางได้ไม่น้อย
เส้นทางสายกรุงเทพมหานคร ถึงคุนหมิง แม้จะดูเหมือนไกลในยุคก่อน บัดนี้ระยะทางกี่หมื่นกี่พันลี้ก็เชื่อมกันได้ด้วยไมตรี และการเปิดใจยอมรับซึ่งกันและกัน ความหมายแห่งการเดินทางบนถนนสายนี้ ยังคงรอคอยให้ท่านได้ไปเก็บเกี่ยวและบันทึกการเดินทางไว้ในความทรงจำด้วยตนเอง