โรคจากกระเป๋าสะพาย
กระเป๋าถือ หรือ กระเป๋าสะพาย กลายเป็นเครื่องประดับชิ้นหลักในชีวิตประจำวันของสาวๆ โดยเฉพาะสาวทำงาน ที่เน้นค่านิยมด้านแฟชั่นเข้าไปด้วย โดยเฉพาะแฟชั่นในปัจจุบัน ที่กระเป๋าสะพายมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อให้ใช้งานได้มากขึ้น เช่น ใส่เอกสาร และข้าวของจิปาถะ ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็นที่สาวๆ หลายคนทำใจไม่ได้ถ้าในกระเป๋าจะไม่มีสิ่งของประจำตัวที่ขาดเสียไม่ได้ ทั้งๆ ที่บางครั้งสิ่งของบางอย่างก็ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวันเลย แต่ขอให้มีติดกระเป๋าไว้เพื่อความสบายใจ อาทิ กระเป๋าใส่เครื่องสำอาง
ดีไซเนอร์ยุคนี้ก็ขยันออกแบบสายกระเป๋าสะพายให้ยาวขึ้น ซึ่งเสี่ยงกับการเกิดอาการปวดไหล่ หลัง และคอ มากกว่ากระเป๋าสายสั้น ในที่สุดก็เกิดโรครุนแรง ยากเกินเยียวยา แต่สาวๆ ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ คิดว่าแค่กินยาหรือทำกายภาพบำบัด หรือแค่พักผ่อน ก็ช่วยให้หายได้ แต่นั้นเป็นแค่การรักษาตามอาการเบื้องต้นเท่านั้น
ในปัจจุบัน ปัญหาที่พบบ่อยในกลุ่มคนทำงาน คืออาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ บางครั้งต้องเพิ่มการนวด จับเส้นกันบ่อยๆ ความจริงแล้วปัญหาการปวดต้นคอ ไหล่ ที่พบได้บ่อย มาจากกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ และบ่า ไหล่ ทำงานไม่ได้ตามปกติ เป็นปัญหาที่ผู้หญิงมักมองข้ามเรื่องการสะพายกระเป๋าที่หนักเกินไป โดยกล้ามเนื้อต้นคอ บ่า ไหล่ เป็นกล้ามเนื้อที่ต้องทำงานตลอดเวลา เพื่อให้ศีรษะตั้งตรง หันไปมาตามต้องการได้
โดยกล้ามเนื้อที่ทำงานหนักเช่นนี้ จำเป็นที่จะต้องมีคุณสมบัติที่ดีของกล้ามเนื้ออยู่ตลอดเวลา คือต้องมีความยืดหยุ่นและแข็งแรงไปพร้อมกัน ถ้าขาดความยืดหยุ่น ทำให้กล้ามเนื้อฉีก หรือเคล็ด อักเสบได้ ถ้าเคลื่อนไหวมากเกินกว่าความยืดหยุ่นนั้น แต่ถ้าขาดความแข็งแรง ก็จะทำให้รู้สึกตัวเมื่อยล้า จนอยากให้มีคนมานวด โดยเฉพาะหลังจากทำงาน หรือสะพายกระเป๋าหนักมาทั้งวัน กล้ามเนื้อที่ดี จำเป็นต้องมีการบริหารเพื่อยึดความยืดหยุ่นและแข็งแรงไปพร้อมๆ กันอยู่เสมอ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา
ความจริงแล้ว ขนาดกระเป๋าไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่น้ำหนักของกระเป๋าต่างหากที่ทำให้มีปัญหา หากพฤติกรรมสะพายกระเป๋าหนักยังเป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ผลเสียในระยะยาวอาจทำให้เป็นกล้ามเนื้ออักเสบ เริ่มจากการปวดไหล่ ปวดหลัง เรื่อยมาจนปวดคอ แม้ไม่อันตรายถึงขั้นเป็นอัมพาต แต่เป็นโรคที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานได้
ทางที่ดี คือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะนั้นคือ การรักษาถาวร ได้แก่
1. เลือกกระเป๋าใบไม่ใหญ่เกินไป ใส่แต่ของที่จำเป็น น้ำหนักของกระเป๋าไม่ควรเกิน 10% ของน้ำหนักตัวผู้ถือหรือสะพาย
2. ถ้าคุณเป็นพวกบ้าหอบฟาง ชอบใช้กระเป๋าใหญ่ๆ ขอให้เลือกใช้สายคล้องที่ใหญ่ และนุ่ม เพื่อการกระจายน้ำหนัก
3. ควรเปลี่ยนสะพายสลับข้างซ้าย/ขวา ถ้าไหล่เริ่มล้า เปลี่ยนไปคล้องแขนบ้าง
4 .ควรสะพายกระเป๋าให้สายคล้องชิดกับคอ มากกว่าสะพายห่างออกไปจากหัวไหล่
5. ควรบริหารกล้ามเนื้อต้นคอ บ่า ไหล่ เป็นประจำ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและแข็งแรงของกล้ามเนื้ออยู่เสมอ
ศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ
โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719