ไลฟ์สไตล์

"งานช่างศิลปกรรมและสุนทรียภาพไทย-ญี่ปุ่น”

"งานช่างศิลปกรรมและสุนทรียภาพไทย-ญี่ปุ่น”

13 ก.พ. 2554

"งานช่างศิลปกรรมและสุนทรียภาพไทย-ญี่ปุ่น” เป็นกิจกรรมที่มี จุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อให้นานาประเทศได้เห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมความสนใจในประวัติศาสตร์อันยาวนานและความสัมพันธ์อันดีของสองประเทศ เป็นนิทรรศการแห่งความร่วมมือตั้งแต่ระดับชาติสู่ระดับอาส

ในอดีตคนไทยรู้จัก คนญี่ปุ่น เพราะมีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน อย่างเช่น “หมู่บ้านญี่ปุ่น” ในกรุงศรีอยุธยา แต่สินค้าญี่ปุ่นยังถือว่าเป็นของที่มีมูลค่าและคุณค่าสูง อย่างดาบญี่ปุ่น แม้จะมีการทำเลียนแบบในสมัยหลัง แต่ก็เป็นของสำหรับพระราชทานแก่เหล่าขุนนางเท่านั้น คนทั่วไปไม่ได้มีโอกาสซื้อหามาใช้

 ส่วนคนญี่ปุ่นรู้จักกับ สินค้าไทย เช่น เครื่องสังคโลก เครื่องปั้นดินเผา ซึ่งบางชนิดพบว่ามีการนำไปใช้ในพิธีชงชาของญี่ปุ่นด้วย

 สาระสำคัญของนิทรรศการครั้งนี้จะแบ่งออกเป็นส่วนๆ โดยเริ่มจากจุดเริ่มต้นวัฒนธรรมของสองประเทศตั้งแต่ยุดก่อนประวัติศาสตร์ จนเข้ามาสู่การรับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ที่นำไปสู่การติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจนพัฒนากลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และประเด็นสุดท้ายของการนำเสนอในนิทรรศการคืองานช่างดั้งเดิมที่นำมาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ เช่น เครื่องเซรามิก และสิ่งทอต่างๆ

 นิทรรศการครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของสำนักกิจการวัฒนธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่นที่นำมาจัดในเอเชีย ศิลปวัตถุที่นำมาจัดแสดงล้วนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญของประเทศ

 ลักษณะของการจัดนิทรรศการ ถือได้ว่าเป็นแนวความคิดใหม่ในการนำวัฒนธรรมของสองประเทศมาจัดร่วมกัน คือ มีการนำศิลปวัตถุจากสองประเทศนำมาจัดแสดงไว้คู่กัน เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ผู้เข้าชมนิทรรศการจะสนุกสนานกับการที่สามารถพิจารณาเปรียบเทียบความคล้ายคลึงและความแตกต่างของสองวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจน

 เช่น คคินิยม "การฝังศพในไห" ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พบกันในหลายพื้นที่บนโลก ภายในห้องจัดแสดงผู้ชมสามารถเปรียบเทียบไหของไทยอายุราว 2,000 ปี ที่พบที่ จ.ร้อยเอ็ด กับไหจาก จ.ฟุคุโกะ อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ไหจากสองแหล่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการประกอบพิธีฝังศพ ด้วยความเชื่อที่ใกล้เคียงกัน ลักษณะของไหมีความคล้ายกันมาก

 "ธรรมจักร" ทั้งของไทยและญี่ปุ่น ต่างก็แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนา จะแตกต่างกันบ้างในเรื่องของรูปแบบและข้อความที่จารึกลงในธรรมจักรเท่านั้น หรือลูกปัด “มากาตะมะ” ที่พบใน จ.ฟุคุโอกะ กับลูกปัดที่พบใน จ.กาญจนบุรี ก็มีลักษณะที่คล้ายกันอย่างน่าอัศจรรย์

 ศิลปวัตถุบางชิ้นบ่งบอกถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและการติดต่อระหว่างดินแดนที่ห่างไกล เช่น ตุ๊กตาฮานิวะ รูปม้า ที่ค้นพบจากกลุ่มเนินสุสานมานาเบะ เป็นม้าทรงเครื่องประดับเต็มยศ กล่าวกันว่าม้าที่นำเข้ามาในญี่ปุ่นชนิดนี้เป็นม้าพันธุ์เดียวกับที่แพร่หลายกันอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในภูมิภาคมองโกล

 แนวคิดใหม่ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การที่กลุ่มอาสาสมัครจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกิวชู และชมรมคนรักพิพิธภัณฑ์ของญี่ปุ่น กับอาสาสมัครพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ร่วมมือกันจัดกิจกรรมโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญร่วมกัน คือ ให้พิพิธภัณฑ์เข้าถึงประชาชน อันจะนำไปสู่การปลูกจิตสำนึกในการดูแลสมบัติของชาติให้แก่เยาวชน

 ในครั้งแรกนี้อาสาสมัครของทั้งสองประเทศตกลงร่วมกันว่า ในวันแรกของการเปิดงานเราจะให้เด็กๆ ทั้งไทยและญี่ปุ่น มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการละเล่น และการประดิษฐ์ของเล่นของทั้งสองประเทศ หลังจากนั้นก็เชิญครอบครัวทั้งไทยและครอบครัวชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยเข้าร่วมกิจกรรม สนุกทั้งอาสาสมัคร และผู้เข้าร่วมกิจกรรม 

 วันนั้นหลายท่านอาจจะได้เห็นภาพคุณลุงคุณป้าอาสาสมัครญี่ปุ่นอธิบายเรื่องของเล่นญี่ปุ่นให้เด็กไทยฟัง และเห็นอาสาสมัครไทยอธิบายของเล่นไทยให้เด็กญี่ปุ่นฟัง โดยที่ภาษาที่แตกต่างกันไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้ใดๆ

 นิทรรศการนี้จะจัดในประเทศไทยที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ ๑๔ มกราคม-๑๓ มีนาคม ๒๕๕๔ และจะนำกลับไปจัดแสดงในลักษณะเดียวกันนี้อีกครั้งที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกิวชู จ.ฟุคุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๑๒ เมษายน-๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ เป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศให้มากขึ้น

 การที่ประชากรของประเทศใดเข้าใจถึงรากฐานความเป็นมาของประเทศของตน จะทำให้การพัฒนาต่อไป ในอนาคตเป็นไปอย่างเหมาะสมและยั่งยืน และยิ่งหากได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับความเป็นมากับชาติอื่นด้วยแล้ว การพัฒนาความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นในสังคมโลกย่อมเป็นไปได้โดยง่าย

www.oknation.net/blog/paaru