"แมลงทับ"แมลงสวยงามที่กำลังจะสูญพันธุ์
ปัจจุบันดูเหมือนว่า "แมลงทับ" ซึ่งเป็นแมลงมีปีกสีสันสวยงาม ลำตัวสีเขียวมรกตมันวาว ซึ่งในประเทศไทยพบ 2 ชนิด คือ แมลงทับบ้านขาแดง มีถิ่นอาศัยในป่าเต็งรัง และแมลงทับบ้านขาเขียว มีถิ่นอาศัย
ในเขตเมืองหรือในป่าละเมาะที่มีพืชเป็นอาหาร ซึ่งชาวบ้านมักจะนำปีกแมลงทับมาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่ง เช่น ต่างหู พวงกุญแจ เป็นต้น แต่กำลังจะสูญพันธุ์แล้ว ซึ่ง รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า จากความสวยงามของแมลงชนิดนี้ทำให้เป็นที่สนพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระราชดำริให้นำปีกและส่วนต่างๆ ของแมลงทับบ้านมาตกแต่งเป็นเครื่องประดับมากมายหลายชนิด
ขณะเดียวกันสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนีนาถ ก็ทรงเกรงว่าแมลงทับบ้านอาจสูญพันธุ์ จึงให้ศึกษาเพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์ด้วย คณะวนศาสตร์จึงได้ศึกษาความหนาแน่นของตัวหนอนและตัวเต็มวัย รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของแมลงทับบ้านขาแดง เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางเพิ่มประชากรแมลงทับบ้านขาแดงในป่าเต็งรังสะแกราช ตลอดจนสามารถสร้างเป็นสะแกราชโมเดลในการเพิ่มประชากรแมลงชนิดนี้
รศ.ดร.เดชา บอกอีกว่า การลดลงของแมลงทับชนิดนี้เกิดจากปริมาณซากพืชที่สะสมตามพื้นป่ามีจำนวนมากเกินไปทำให้เป็นการขัดขวางการวางไข่ในดิน ดังนั้นแนวทางในการเพิ่มประชากรแมลงทับ คือ 1.จัดการลดปริมาณซากพืชที่สะสมในป่าเต็งรัง โดยอาจเผาแบบควบคุมหรือเอาซากพืชออกไปจากบริเวณเป้าหมาย ซึ่งควรดำเนินการในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนกรกฎาคม 2.การจัดการศัตรูธรรมชาติ เช่น มด ซึ่งถ้านำซากพืชออกไปก็เท่ากับเป็นการลดพื้นที่อาศัยและแหล่งอาหารของมดตามไปด้วย 3.การจัดการไฟป่าจะต้องทำให้เหมาะสมและไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศมากนัก 4.การเก็บแมลงทับตัวเต็มวัยจากป่าอื่นมาปล่อยสู่พื้นที่ขาดแคลน โดยเน้นว่าต้องเป็นแมลงทับบ้านขาแดงเท่านั้น เพราะแมลงชนิดนี้จะอาศัยในป่าเต็งรังที่มีหญ้าเพ็กเท่านั้น
นี่คือแนวทางในการฟื้นฟูประชากรแมลงทับบ้านขาแดงของ ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา เพื่อสร้างสมดุลให้ป่าเต็งรังสะแกราชอย่างยั่งยืน