ไลฟ์สไตล์

มะเร็งต่อมลูกหมาก...รักษาหายได้ด้วยรังสีรักษา

มะเร็งต่อมลูกหมาก...รักษาหายได้ด้วยรังสีรักษา

25 มี.ค. 2554

มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคร้ายที่คุกคามผู้ชายทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้ชายทั่วโลก แม้กระทั่งผู้ชายไทย ที่พบมะเร็งต่อมลูกหมากบ่อยที่สุด

 ต่อมลูกหมาก เป็นต่อมที่มีเฉพาะในผู้ชายเท่านั้น มีลักษณะคล้ายลูกวอลนัท (Walnut) อยู่บริเวณด้านหน้าของลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากมีหน้าที่ผลิตน้ำเลี้ยงตัวอสุจิ ถ้าต่อมลูกหมากโต จะมีผลทำให้การไหลของปัสสาวะช้าลงและลำบาก
 โรคเนื้องอกของต่อมลูกหมากมี 2 แบบคือ โรคต่อมลูกหมากโต (BPH Benign Prostatic Hypertrophy) และ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer)
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรค
 มะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนมากเป็นในคนสูงอายุ พบมากในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จากปัจจัยทางกรรมพันธุ์พบว่า หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ทายาทก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า ไม่มีการศึกษาใดที่แสดงให้เห็นว่า อาหารมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาของมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ผู้ชายที่กินเนื้อแดง และอาหารไขมันสูง มีโอกาสการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าคนอื่น ปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ที่สูงขึ้น ก็เป็นสาเหตุในการเพิ่มอัตราเร็วของการเจริญของมะเร็งต่อมลูกหมาก
อาการ
 มะเร็งต่อมลูกหมาก จะดำเนินโรคช้า อาจไม่มีอาการใดๆ เลยก็ได้ ในรายที่มีอาการ ผู้ป่วยจะถ่ายปัสสาวะกระปริบกระปอย แสบหรือเจ็บปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะไม่พุ่ง ถ่ายปัสสาวะมีเลือดปน และปวดปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ในรายที่มะเร็งลุกลามออกไปนอกต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหลัง ปวดสะโพก หรือต้นขา ปวดไหล่ หรือปวดกระดูกบริเวณอื่น น้ำหนักลด อ่อนเพลียไม่มีแรง และอาจมีอาการอื่นๆ แล้วแต่ว่ามะเร็งได้ลุกลามไปที่ใด
 ในโรคบางโรค เช่น โรคต่อมลูกหมากโต โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อาจมีอาการในลักษณะเดียวกันนี้ได้ ดังนั้น หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากแบ่งเป็น 2 วิธี ได้แก่
 1. การรักษาด้วยวิธีฝังแร่กัมมันตรังสี (Brachytherapy)
 การรักษาด้วยวิธีฝังแร่กัมมันตรังสี เป็นการบำบัดรักษาโรคโดยใช้รังสีรักษา (Radiotherapy) วิธีหนึ่ง เป็นวิธีการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มะเร็งยังอยู่ภายในต่อมลูกหมาก (localized cancer)
 การรักษาด้วยวิธีฝังแร่กัมมันตรังสีแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
 - การฝังแร่แบบถาวร (Permanent Implantation) จะใช้รักษาในกรณีรอยโรคที่เป็นเฉพาะที่แบบความเสี่ยงต่ำ (low risk localized) แร่ที่ใช้เป็นแร่ไอโอดีน 125 (I-125)
 - การฝังแร่แบบชั่วคราว (Temporary Implantation) จะใช้รักษาในกรณีรอยโรคที่เป็นเฉพาะที่ แบบความเสี่ยงปานกลาง-สูง (Intermediate-high risk localized) เป็นกลุ่มที่พบมาก เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะนี้ จะมีโอกาสแพร่กระจายไปนอกเปลือกของต่อมลูกหมาก (capsular penetration) ลุกลามไปยังต่อมสร้างน้ำเลี้ยงตัวอสุจิ (seminal vesicle invasion) และสามารถแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง (lymph node metastasis) ได้ แร่ที่ใช้เป็นแร่อิริเดียม 192 (Ir-192)
 2. การฉายรังสีจากภายนอก เป็นวิธีการรักษาวิธีหนึ่งทางรังสีรักษา โดยการใช้รังสีจากภายนอกร่างกายฉายไปยังต่อมลูกหมาก ในปัจจุบันมีเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้น เช่น Intensity Modulated Radiation Therapy-IMRT นอกจากนี้ ยังมีการฝังโลหะทองคำไว้ในต่อมลูกหมาก เพื่อช่วยนำทางรังสีให้แม่นยำยิ่งขึ้น แล้วนำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบ CT Cone Beam มาตรวจหาตำแหน่งต่อมลูกหมากที่แท้จริงในแต่ละวัน
 การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยวิธีรังสีรักษา มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรค และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดภาวะแทรกซ้อนให้เหลือน้อยที่สุด เช่น อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรืออาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัว เป็นต้น ซึ่งการรักษาด้วยวิธีรังสีรักษานี้ประกอบไปด้วย การฝังแร่ชนิดถาวร การฝังแร่ชนิดชั่วคราวและการฉายรังสีจากภายนอกด้วยเทคโนโลยี IGRT
นพ.อภิชาต พานิชชีวลักษณ์
รพ.บำรุงราษฎร์ อินเตอร์ชั่นแนล