
เยือนอุทยานมิตรผลที่ภูเขียวดูแปรรูปอ้อยใช้ประโยชน์ทั้งต้น
ควันไฟสีขาวปนเทาม้วนตัวออกจากท่อขนาดใหญ่ใจกลางอุทยานมิตรผลภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ทำให้บางคนระแวงว่า จะเป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อมทางอากาศ แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงน้อยนิดแทบจะไม่ผลใดๆ เลย หากเทียบในชั้นอากาศและบรรยากาศนอกผิวโลกอ
โลกแห่งภาคอุตสาหกรรม คงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงให้โรงงานขนาดใหญ่ปราศจากควัน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประเภทใดก็ตามที่ใช้เครื่องขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เป็นต้น
ในส่วนของกลุ่มมิตรผล ผู้บริหารประกาศเสมอว่า ในการดำเนินธุรกิจต้องมุ่งสู่มาตรฐานสากล เพื่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในสังคม และต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้การดำเนินโครงการธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมของโรงงานน้ำตาลภูเขียว ได้รางวัล "อาเซียน บิสิเนส อวอร์ด 2550" (ASEAN BUSINESS AWRD 2008) เพราะมิตรผลมีเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรต้นแบบด้านการจัดการของเสียเหลือศูนย์นั่นเอง
จะเห็นได้ว่า ในเนื้อที่กว่า 1,200 ไร่ ใน ต.โคกสะอาด อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ถูกเนรมิตเป็นอุทยานมิตรผล มีเป้าหมายดำเนินธุรกิจอ้อยครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำยันถึงปลายน้ำ คือเริ่มพัฒนาสายพันธุ์อ้อย ส่งเสริมเกษตรกรปลูกในรูปแบบของคอนแทรคฟาร์มมิ่ง รับซื้อและแปรรูปอ้อยโดยไม่ทิ้งเศษให้เหลือ ฉะนั้นภายในอุทยานมิตรผลภูเขียว ประกอบด้วย สวนไม้สักด้านหน้าสุด ถัดไปเป็นที่ตั้งของสำนักงาน ห้องแล็บมิตรผลวิจัยพัฒนาอ้อยและน้ำตาล เลยไปอีกเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตน้ำตาลของมิตรผล โรงงานเอทานอล โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานผลิตไม้ปาร์ติเกิลบอร์ด (ไม้อัดชานอ้อย) ซึ่งล้วนแต่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบทั้งสิ้น นอกจากนี้ภายในอุทยานส่งเสริมให้พนักงานใช้จักรยานถีบแทนรถจักรยานยนต์ เพื่อลดก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง
"อ้อยทุกส่วนเราใช้ประโยชน์ทั้งหมด ชั้นแรกเมื่อได้อ้อยมาจากเกษตรกรจะเข้าโรงหีบ เราจะได้วัตถุดิบมา 2 ส่วน คือ ที่เป็นน้ำตาลอ้อย และชานอ้อย น้ำอ้อยนั้นนำเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำทราย กากจากน้ำตาลทราย หรือโมลาส ส่วนหนึ่งส่งขายให้โรงเบียร์ อีกส่วนหนึ่งเราเก็บไว้เพื่อผลิตเอทานอล ทุกวันนี้เราผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ 99.5% ได้วันละ 2 แสนลิตร กากของโมลาสหลังจากนำมาผลิตเอทานอลแล้ว ที่เป็นกากหม้อกรอง หรือกากขี้เป็ด นำมาเป็นปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด ส่วนที่เป็นน้ำทำเป็นน้ำชีวภาพ ส่วนชานอ้อยและใบอ้อย แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผลิตพลังงานชีวมวล ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 76 เมกะวัตต์ ส่วนหนึ่งใช้ในอุทยานเอง แต่ส่วนใหญ่ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และชานอ้อยส่วนหนึ่งผลิตปาร์ติเกิลบอร์ด หรือไม้อัดชานอ้อย นั่นแสดงให้เห็นว่า ทุกส่วนของอ้อยใช้ประโยชน์ทั้งหมด" อภิวัฒน์ บุญทวี ผู้อำนวยการด้านอ้อย โรงงานน้ำตาลมิตรผลภูเขียว กล่าวในส่วนของการผลิต
ในด้านการส่งเสริมเกษตรกรนั้น อภิวัฒน์ บอกว่า ได้ริเริ่มนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ในระบบการจัดการของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2545 โดยนำ 3 เทคโนโลยีที่เหมาะสม ได้แก่ การใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง, เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และเทคโนโลยีการบอกตำแหน่งบนพื้นผิวโลก (GPS) มาบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อใช้สำรวจและจัดทำแผนที่เขตเพาะปลูกอ้อยรายแปลง พร้อมทั้งเก็บข้อมูลการจัดการแปลงและปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลสำหรับการจัดการไร่อ้อยต่อไป
"การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ทำให้การสำรวจพื้นที่เพื่อเพาะปลูกอ้อยเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำ และยังช่วยค้นหาพื้นที่ในบริเวณอื่นที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อย ทำให้เราสามารถวางแผนเพิ่มเขตพื้นที่เพาะปลูกและการส่งเสริมได้ล่วงหน้าได้ นอกจากนี้ยังช่วยในการวางแผนการพัฒนาปัจจัยในการปลูกอ้อย เปรียบเทียบผลผลิตต่อไร่กับเขตใกล้เคียงที่มีผลผลิตต่อไร่สูง ไปจนถึงการวิเคราะห์ช่วงเวลาตัดอ้อยและนำส่งโรงงานในระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย" อภิวัฒน์ ชี้แจง
ล่าสุด อภิวัฒน์บอกด้วยว่า เมื่อปี 2551 โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียวได้พัฒนาโปรแกรมต่อเนื่องเพื่อใช้เก็บประวัติข้อมูลของชาวไร่และการอนุมัติสินเชื่อแบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้แก่ชาวไร่อ้อย ภายใต้ระบบการจัดการข้อมูลชาวไร่อ้อยที่สมบูรณ์แบบ หรือ เคน สมายล์ ซิสเต็ม (Cane Smile System) ประกอบด้วยระบบงาน 3 ส่วน ได้แก่
1.ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การใช้เครื่องวัดพิกัด (GPS) แบบอัตโนมัติตรวจวัดพื้นที่เขตเพาะปลูกอ้อยรายแปลงและสามารถตรวจสอบความซ้ำซ้อนของพื้นที่ได้ทันที ระบบนี้สามารถแสดงผลบนอินเทอร์เน็ตได้ มีความแม่นยำ 95% และช่วยลดเวลาในการสำรวจพื้นที่ลงถึง 30%, 2.ระบบนิติกรรมสัญญา โปรแกรมบันทึกข้อมูลการค้ำประกันด้วยหลักทรัพย์ของชาวไร่อ้อย ทั้งในรูปแบบของสินทรัพย์และบุคคลค้ำประกัน เพื่อใช้เป็นเครดิตสำหรับการอนุมัติสินเชื่อจากระบบเดิม ซึ่งใช้การตรวจบันทึกจากแฟ้มเอกสารเป็นหลัก จึงช่วยลดการใช้กระดาษในสำนักงาน และ 3.ระบบจ่ายสินเชื่อออนไลน์ โปรแกรม อี-ออฟฟิศ (E-Office) ที่เจ้าหน้าที่มิตรผลสามารถทำรายการอนุมัติสินเชื่อให้ชาวไร่อ้อยได้รวดเร็วภายใน 3 วัน จากเดิมนานถึง 19 วัน ช่วยประหยัดค่าเดินทางและน้ำมันปีละกว่า 1.25 ล้านบาท
ผลจากการนำระบบ เคน สมายล์ ทำให้โรงงานมิตรผลภูเขียวได้รางวัล “การประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ในอุตสาหกรรมเกษตรดีเด่น" (Geospatial Excellence Awards 2011) ด้วย
ด้าน นิรัญ ไทยป้อม ชาวไร่อ้อย ต.บ้านแสง อ.ภูเขียว บอกว่า การนำระบบ เคย สมายล์ มาประยุกต์ใช้ในการทำไร่อ้อยนั้น ทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับความสะดวกมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนจะต้องกังวลกับเรื่องการอนุมัติเงินค่าบำรุงไร่ที่ต้องรอเวลานาน ปัจจุบันสามารถตรวจสอบผลทางอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ระบบยังช่วยบันทึกการดำเนินงานในไร่อ้อย เช่น มีการเตรียมดินเมื่อไหร่ ใส่ปุ๋ย ใส่น้ำเมื่อไหร่ และตัดเมื่อไหร่ ทำให้ชาวไร่สามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบผลการดำเนินงานในแต่ละแปลงและนำไปปรับปรุงเพื่อเพิ่มผลผลิตในแปลงอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
นี่เป็นเพียงบางส่วนของแผนงานบริหารจัดการของอุทยานมิตรผลภูเขียว ที่ได้นำวิทยาการสมัยใหม่มาประยุกต์ ทั้งเน้นในการคล่องตัวในการดำเนินกิจการ บนพื้นฐานที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย หากหน่วยงานเน้นดุจเดียวกันนี้ ก็ทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
ดลมนัส กาเจ