
สงกรานต์ปีกระต่าย ฉ่ำกาย-ใจแห่เทพ
เทศกาลวันขึ้นปีใหม่ไทยทุกปี นอกจากความเย็นสดชื่นที่หลายคนรอคอยแล้ว สิ่งที่ตีคู่กันมาตามสายน้ำ หรือพูดได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการก้าวสู่ศักราชใหม่อย่างไทย เห็นจะเป็นสีสันด้านวัฒนธรรมที่สะท้อนความเชื่อความศรัทธาของผู้คนแต่ละท้องถิ่น
แต่หลายคนแอบหวั่นใจ ด้วย "นางสงกรานต์" ปีนี้ นามว่า "กิริณีเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาทรงขอช้าง หัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จนั่งมาเหนือหลังกุญชร (ช้าง) เป็นพาหนะ ตามคำทำนายจะเกิดเหตุร้ายมากกว่าดี แต่การเสด็จมาบนหลังช้างเชื่อว่าจะช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายไปจากประเทศไทยได้ ร้อนถึงเจ้าเก่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องตีฆ้องร้องป่าวไม่ว่าอากาศช่วงสงกรานต์จะหนาวเหน็บหรือน้ำท่วมเจิ่งนองจะยังคงบรรเลงเพลงสงกรานต์ทั่วไทยกับ "เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์" ปี 2544 โดยชูจุดขาย 13 จังหวัดรวมเมืองหลวงเป็นนางสงกรานต์กวักมือเรียกคนชอบน้ำให้ไปร่วมประเพณีดีงาม ไม่ใช่แค่สาดน้ำโครมครามไปมาให้คนเฒ่าคนแก่กร่นดาว่า "ไอ้ลูกหลานยุคนี้ ไม่มีวัฒนธรรมเอาเสียเลย"
และนั่นเองท้าทายให้คนรุ่นใหม่ผู้โหยหาวัฒนธรรม อยากค้นหาอีกมุมหนึ่งของสงกรานต์อย่าง "ประเพณีแห่พญายม" ของชาว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่นี่ไม่ได้แห่นางสงกรานต์เหมือนที่อื่นๆ ซึ่ง ธัญญาพร อนันตกูล นักวิชาการศึกษา กองการศึกษาเทศบาลตำบลบางพระ เล่าถึงที่มาของประเพณีแปลกนี้ให้ฟังว่าช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ทุกปีจะมีการปั้นหุ่นพญายมขึ้นมาจากความเชื่อความศรัทธา ตามตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่าเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว บางพระยังเป็นป่าดงดิบ ชาวบ้านมักล้มป่วยด้วยไข้มาลาเรีย เกิดความทุกข์ทรมาน ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากภูตผีปีศาจ จึงมีการคิดหาทางแก้ด้วยการปั้นหุ่นองค์พยายมซึ่งเชื่อว่าสามารถปัดเป่าดวงวิญญาณร้ายให้ออกไปจากหมู่บ้านได้ นับแต่นั้นมาจึงกลายเป็นประเพณีการปั้นและแห่หุ่นพญายมต่อๆ กันมาเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ซึ่งปีนี้ตั้งชื่องานว่า "บางพระนริยะกาล" หมายถึงบางพระช่วงเวลาแห่งความทุกข์ แสดงให้เห็นจุดเริ่มต้นของการปั้นหุ่น
"ไม่ใช่ใครก็สามารถปั้นได้คนปั้นต้องสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ละปีจะมีการเลือกภาคพญายมมาปั้นด้วย ปีนี้เป็นภาคเทพใบหน้าหล่อเหลา โดยในวันที่ 16-17 เมษายนนี้จะมีการเฉลิมฉลอง แล้ววันที่ 18 เมษายน จะเริ่มขบวนแห่องค์พยายมเริ่มต้นที่คอเขาบางสะพาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มปั้นหุ่นองค์แรกเมื่อปี 2442 จากนั้นแห่มาถึงชายทะเล จุดนี้จะมีพิธีบวงสรวงองค์พญายมทั้งพิธีพุทธโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวด และพิธีพราหมณ์ เชิญพราหมณ์จากสำนักพระราชวังมาทำพิธี ก่อนจะอัญเชิญองค์พญายมให้ลอยไปตามทะเลเพื่อความเป็นสิริมงคล" ธัญญาพร กล่าว
อีกหนึ่งความเชื่อความศรัทธาจนกลายมาเป็นประเพณีช่วงสงกรานต์ เกิดขึ้นทางภาคใต้นั่นคือประเพณีพิธีบูชาบรรดาเทพในศาสนาพราหมณ์ "บุญเดือน 5 มหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร" ที่สืบทอดกันมากว่า 1,500 ปี ตั้งแต่ครั้งบรรพชนจากอินเดียรุ่นแรกๆ เดินทางมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนครศรีธรรมราช พร้อมกับนำเทพที่เคารพเข้ามาประดิษฐานบนผืนแผ่นดินนี้ ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์เมืองนคร อันประกอบด้วย หอพระอิศวร และหอพระนารายณ์ ซึ่งมีเสาชิงช้าประดิษฐานอยู่มาช้านาน
"นางดาน" หมายถึงแผ่นกระดานจำหลักเป็นรูปเทพชั้นรองของท้องถิ่น ประกอบด้วย พระอาทิตย์/ พระจันทร์ ซึ่งพระอาทิตย์ หมายถึงผู้สร้างกลางวัน ให้แสงสว่างและความร้อนแก่โลกมนุษย์และดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ก่อให้เกิดวัฏจักรแห่งดินฟ้าอากาศเป็นฤดูกาล ขณะที่พระจันทร์ หรือ "รัชนีกร" เป็นผู้สร้างกลางคืน เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และงดงามอ่อนละมุน
พระแม่คงคา เทพผู้อำนวยความชุ่มฉ่ำสมบูรณ์ให้แก่สรรพสิ่ง และ พระแม่ธรณี ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักของสรรพสิ่งและพยุงสิ่งทั้งหมาย โดยไม่รังเกียจ เป็นเทพผู้สะสมคุณงามความดี โดยระหว่างวันที่ 11-15 เมษายนนี้ ชาวนครจะจัดขบวนแห่กระดานทั้ง 3 แผ่น ซึ่งปฏิบัติกันมาในพิธีตรียัมปวาย (โล้ชิงช้า) ขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติแบบพราหมณ์ มารอรับพระอิศวรศิวะเจ้า ผู้เป็นมหาเทพ บริเวณหอพระอิศวร ในวาระที่พระองค์ทรงเสด็จมายังโลกเพื่อทดสอบความแข็งแรงมั่งคงแห่งพื้นพิภพด้วยพิธีการโล้ชิงช้า
ยังมีมหาสงกรานต์ทั่วไทยอย่างสงกรานต์กรุงเก่า, อัศจรรย์วันสงกรานต์ สุพรรณบุรี, วันไหลพัทยา ชลบุรี, สงกรานต์พระประแดง, สะรีปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่, มหาสงกรานต์สุโขทัย, สงกรานต์นครพนม-รื่นรมย์บุญปีใหม่ไทย-ลาว, เทศกาลดอกคูน-เสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ขอนแก่น, สงกรานต์อีสานหนองคาย, หาดใหญ่มิดไนท์สงกรานต์ และสงกรานต์ริมหาด ภูเก็ต
ก็ได้แต่หวังว่าบรรดาเทพยดาทั้งมวล จะช่วยปัดเป่าภัยร้ายทั้งทางธรรมชาติและจากมนุษย์ที่กำลังแผ้วพานชาวไทยด้วยเทอญ...