
ประเพณีตรุษสงกรานต์
พรุ่งนี้วันที่ 13 เมษายน ในทุกๆ ปีชาวไทยเราจะถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งเราจะเรียกกันว่าวันสงกรานต์ หรือ วันมหาสงกรานต์ นั่นเอง แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่ชาวไทยเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ วันที่ 12 เมษายน ก็เท่ากับคือวันนื้นั่นแหละ
จะว่ากันจริงๆ แล้วก็เท่ากับวันนี้เป็นวันสิ้นปีหรือวันสุดท้ายของปีแบบไทยๆ ซึ่งไม่เหมือนกับวันปีใหม่สากล ก่อนหน้าวันขึ้นปีใหม่สากล 1 วันก็คือวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกๆ ปีจะถูกกำหนดให้เป็นวันสิ้นปี และ 1 มกราคม ก็จะเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยจะเห็นได้ว่าทั้งสองวันก็จะถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ แต่วันปีใหม่ของไทยเราวันหยุดราชการจะถูกกำหนดตั้งแต่ วันที่ 13-15 เมษายนของทุกๆ ปี จะเห็นได้ว่าวันที่ 12 เมษายนจะไม่มีใครกล่าวถึงและเห็นความสำคํญว่าวันนี้เป็นวันสิ้นปี
สาเหตุที่จะทำให้ผมเดาเอาได้ว่าทำไมถึงไม่มีใครกล่าวถึงวันที่ 12 เมษายนเป็นวันสิ้นปี และก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันนี้อีกต่างหาก เพราะว่าไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ
สาเหตุอาจจะเป็นเพราะว่าวันปีใหม่ของไทยเรามีถึง 3 วัน ก็คือ 13 -14 และ 15 ในเดือนเมษายนของทุกปี และก็จะมีชื่อเรียกของวัน ที่ต่างกันออกไป อย่างเช่นวันที่ 13 เมษายนจะเรียกว่า วันมหาสงกรานต์ นั่นก็แปลว่า ก้าวขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งความหมายจริงๆ ก็คือการที่พระอาทิตย์ก้าวเข้าสู่ประจำราศีใหม่ ส่วนวันที่ 14 จะเรียกว่า วันเนา แปลว่า อยู่ หรือ วันอยู่ ซึ่งมีความหมายถึงพระอาทิตย์ได้เข้าสู่ราศีเรียบร้อยแล้ว และองศาของดวงอาทิตย์ ก็จะอยู่ที่ 0 องศา ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่ากำลังย่างก้าวเข้าสู่ราศีเหมือนกับวันที่ 13
ในวันเนาหรือวันที่ 14 คนโบราณจะให้อยู่บ้านเฉยๆ ห้ามทำงานหรือทำกิจใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้เกิดความเป็นมงคลเจริญรุ่งเรืองสุขสบายตลอดทั้งปี กับตัวเรา ส่วนในวันที่ 15 นั้นจะเรียกว่า วันเถลิงศก ซึ่งก็คือ วันขึ้นศกใหม่ และก็ถือว่าเป็นวันขึ้นจุลศักราชใหม่ โดยเป็นวันแรกของดวงอาทิตย์ที่จะตรงกับ 1 องศา ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มนับศักราชใหม่อย่างแท้จริง และทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 วัน นั้นมีความสำคัญพอๆ กัน และความสำคัญของทั้ง 3 วัน อาจเป็นเหตุที่ทำให้ไม่มีใครเห็นถึงความสำคัญของวันที่ 12 เมษายน นั้นเป็นวันสิ้นปีนั่นเอง
โดยความจริงแล้วในสมัยก่อนชาวไทยเราจะนิยมเรียกวันสงกรานต์ว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ โดยคำว่าตรุษนั้นมาจาก ภาษาทมิฬ แปลว่า การสิ้นปี ดังนั้นประเพณีตรุษสงกรานต์ ก็จะมีความหมายว่า ประเพณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แต่ก็จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันนี้เราจะนิยมเรียกวันขึ้นปีใหม่ไทยว่า วันมหาสงกรานต์มากกว่าที่จะเรียก วันประเพณีตรุษสงกรานต์เหมือนสมัยก่อน จึงทำให้ความสำคัญของวันสิ้นปีลดน้อยลงไปอีก
ถ้าเป็นไปได้ผมคิดว่าหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนควรรณณรงค์คำว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ให้กลับมาเรียกกันในยุคนี้บ้างเผื่อวันหยุดอาจจะได้เพิ่มเป็น 4 วัน ก็เป็นไปได้นะครับ
ส่วนคำว่าสงกรานต์กับมหาสงกรานต์นั้นแตกต่างกันอย่างไรนั้น ก็คือสงกรานต์ซึ่งแปลว่า ย่างขึ้นหรือก้าวขึ้น ก็คือพระอาทิตย์เข้าสู่ราศีใหม่ ซึ่งก็จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกๆ เดือน แต่ถ้าในเดือนเมษายนจะถือว่าเป็นการเปลี่ยนราศีครบรอบ 12 เดือน และจะเป็นราศีที่เริ่มต้นนับ 1 ใหม่ ในเดือนนี้จึงเท่ากับว่าในเดือนเมษายนนั้นจะถือว่าเป็นวันสงกรานต์ปี ซึ่งต่างกับเดือนอื่นๆ ที่ถือว่าเป็นสงกรานต์เดือน จึงเป็นเหตุให้เดือนเมษายนนี้ เรียกว่าวันมหาสงกรานต์ก็คือแปลตรงๆ ว่า การย่างเข้าอย่างยิ่งใหญ่ นั่นเองครับ
ยังมีอีกนะครับ ในวันสงกรานต์หรือประเพณีตรุษสงกรานต์หรือเทศกาลสงกรานต์ ในการคำนวณของหลักเกณฑ์ คัมภีร์สุริยยาตร์นั้น จะถือว่าในวันแรกที่พระอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งถือว่าเป็นวันมหาสงกรานต์นั้น ความจริงแล้วส่วนใหญ่จะต้องตรงกับวันที่ 14 เมษายนมากกว่า จะมีก็ในบางปีอย่างเช่นปีหน้า พ.ศ.2555 พระอาทิตย์จะย่างเข้าสู่ราศีเมษ ในวันที่ 13 เมษายน ซึ่งทั้งหมดจะขึ้นอยู่ในการคำนวณของหลักสุริยยาตร์ แต่อย่างไรก็ตามในปฏิทินของไทยเราก็ได้กำหนดวันสงกรานต์นั้นให้ตรงกับ วันที่ 13-14 และ15 ในเดือนเมษายนของทุกๆ ปี จึงทำให้หลักการคำนวณของคัมภีร์สุริยยาตร์ไม่มีใครรู้จักไปโดยปริยาย
ทั้งหมดนี้ก็คือเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่นับวันเยาวชนรุ่นใหม่ก็จะไม่ค่อยมีใครสนใจในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งผมคิดว่าการเขียนลงในคอลัมน์ของผมนี้ อาจจะมีประโยชน์กับผู้ที่พบเห็นเผื่อที่จะได้เอาไปเล่าสู่ลูกหลานให้ได้ฟังกัน และสำหรับฉบับนี้ก็เหลือเนื้อที่นิดหน่อย และก็มีคำถามเข้ามาทางเฟซบุ๊ก ขุนอิน โลกใบนี้ ดนตรีไทย ว่าอยากทราบประวัติของ ครูเจี๊ยบอนันตชัย แมรา ก็ต้องขอติดเอาไว้ก่อนซัก 1 หรือ 2 ฉบับ เพื่อที่จะไปขอสัมภาษณ์เจ้าตัวเขาก่อน เพราะเนื่องจากผมเองก็รู้จักแต่ตัว ไม่ทราบว่าเขามีรายละเอียดอย่างไรในชีวิตของเขา... สวัสดีปีใหม่ไทยทุกๆ ท่านนะครับ
"ขุนอิน"