เอกชน-ท้องถิ่นร่วมจัดการศึกษา"องคมนตรี"ชี้แนวโน้มการศึกษาโลก
เมื่อถึงวัยเกษียณ นั่นหมายถึงการได้พักผ่อนอยู่กับลูกหลาน แต่เมื่อ 10 ปีก่อนของ "ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย" นักวิชาการขั้นเทพระดับแถวหน้าของเมืองไทย ที่พรรคการเมืองต่างหมายปอง จนได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล "คิดเร็ว ทำเร็ว"
ให้กุมบังเหียนงานด้านการศึกษา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ฟ้าไม่ปรานีแค่ 3 เดือนก็ถอดใจเปิดหมวกอำลา เพื่อ "รักษาจุดยืน" ที่ยึดความถูกต้องเที่ยงธรรม ท่ามกลางความรักและอาลัยของคนในแวงวงการศึกษา
ฟ้ามีตา "ศ.นพ.เกษม" ได้รับพระบรมราชการโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี นับเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต เมื่อได้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะถือเป็นการรับใช้แผ่นดินไทย นอกจากงานตามโครงการพระราชดำริแล้ว "ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย" วัย 70 ปีในวันที่ 28 เมษายน 2554 ยังเป็นกำลังสำคัญในการปาฐกถาพิเศษ เผยแพร่แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เหนืออื่นใด "ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย" ในฐานะ เลขาธิการมูลนิธิพระดาบส ได้สละภารกิจเพื่อสะท้อนมุมมองถึงแนวโน้มการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาชาติที่ยั่งยืนต่อ "คม ชัด ลึก" ว่าการศึกษามีความสำคัญและจำเป็นมากในสามระดับ คือระดับบุคคล ระดับชุมชน และระดับชาติ การศึกษาระดับบุคคลเป็นการสร้างโอกาสให้บุคคลได้พัฒนาศักยภาพของตัวเอง ให้มีขีดความสามารถดำรงชีพได้
การศึกษาระดับชุมชน จะสร้างเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าชุมชนที่ได้รับการศึกษาจะพัฒนาคนในชุมชนให้สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ หลุดพ้นจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ การศึกษาจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาในทุกๆ ด้านของมนุษย์
การศึกษาในระดับชาติหรือระดับประเทศ การศึกษาเป็นกลไกหรือเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนที่ด้อยการศึกษาหรือยากจน ปากกัดตีนถีบก็ยากที่จะดำรงชีพอยู่ได้ เปรียบเหมือนความยากจนเป็นปุ๋ยชั้นดีของการคอรัปชั่น หากไม่พัฒนาการศึกษาให้ประชาชนก็จะไม่หลุดพ้นจากความยากจนและจะตกอยู่วังวนของการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เกิดปัญหาทุจริตคอรัปชั่นตามมา
ไม่เพียงเท่านั้น "การศึกษา" ยังมีความสำคัญและจำเป็นต่อมนุษย์ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การศึกษาไม่รอดก็จะเกิดวิกฤติธรรมชาติตามมา เพราะภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากน้ำมือของมนุษย์ หากมนุษย์รู้จักเรียนรู้ศึกษาสิ่งแวดล้อมก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
"การศึกษาจึงเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้คนอยู่ดีกินดี ประโยชน์ของการศึกษาจึงมีคุณประโยชน์มากมายมหาศาล แต่การจัดการศึกษาต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 อย่างคือ มีคุณภาพ และทั่วถึง ซึ่งระบบการศึกษาไทยมีมากว่า 100 ปี ตั้งแต่กระทรวงธรรมการ ประสบความสำเร็จพอสมควรในทุกระดับการศึกษา ทั้งระดับอนุบาล ประถมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา
แต่การศึกษาของไทยเผชิญกับอัตราเร่งการเจริญก้าวหน้าของประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีอัตราเร่งการเจริญก้าวหน้าด้านการศึกษามากกว่าไทยในอัตราที่แรง และเร็วในอัตราสูง ทำให้การศึกษาของประเทศเพื่อนบ้านล้ำหน้าไปกว่าประเทศไทย มีคุณภาพมากกว่า ดีกว่าประเทศไทย
ถึงวันนี้การจัดการศึกษาเพื่อก้าวไปสู่คุณภาพและทั่วถึงได้ เกินกว่าศักยภาพของกระทรวงศึกษาธิการจะแบกรับภาระเหล่านี้เอาไว้ได้แต่เพียงฝ่ายเดียว หน่วยงานอื่น หรือองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน จะงอมืองอเท้าอยู่ไม่ได้ ต้องมาช่วย เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อให้ทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่ม"
ผมอยากฝากให้ภาคเอกชนที่มีความแข็งแกร่งมากพอ มาร่วมมือร่วมใจจัดการศึกษา อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเพียงฝ่ายเดียว เพราะหากรอแต่ภาครัฐ การศึกษาของไทยอาจจะล้าหลังนานาประเทศออกไปเรื่อยๆ"
แต่เมืองไทยโชคดี เพราะปัจจุบันมีภาคเอกชนมาช่วยแบ่งเบาภาระในการจัดการศึกษา จากเดิมเอกชนจะให้เฉพาะทุนการศึกษาหรือช่วยสร้าง ช่วยซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน ซื้อหนังสือตำราเรียน รวมถึงการออกทุนจัดสร้างโรงเรียน แต่มาช่วงระยะหลังภาคเอกชนเข้ามาช่วยในการจัดตั้งมหาวิทยาลัย เหมือนประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศจีน ที่เอกชนเข้ามาตั้งมหาวิทยาลัย มีคณะยานยนต์ คณะช่วงล่าง คณะพริตตี้รถยนต์ ซึ่งคณะพริตตี้รถยนต์เพื่อการสื่อสารกับลูกค้า เกิดการผลิตบัณฑิตตรงตามความต้องการธุรกิจ เรียนจบแล้วมีงานทำ
"ในเมืองไทยก็มีโรงเรียนในโรงงาน เรียนด้วยทำงานไปด้วย ซึ่งเจ้าของโรงเรียนบอกว่าโรงเรียนในโรงงานเป็นการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของคนงาน ของแรงงานไทย และที่น่ายินดีในประเทศไทยมีภาคเอกชนสนใจงานด้านการศึกษา มาช่วยแบ่งเบาภาระกระทรวงศึกษาธิการ เช่นภาคเอกชนกลุ่มซีพี ที่มีโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ โดดเด่นด้านการค้าปลีก ผู้เรียนทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เมื่อเรียนจบแล้วอยากทำงานต่อที่ซีพีก็ได้ หรือทำงานที่อื่นก็ได้ นี่คือการเปิดกว้างทางการศึกษา และล่าสุดกลุ่มเนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ปที่เข้ามาช่วยจัดการศึกษา จัดตั้งมหาวิทยาลัยเนชั่น"
ขณะเดียวกัน โครงการหนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด ควรขยายเครือข่ายออกไปทั่วประเทศอาจจะจับมือกับภาคเอกชนที่สนใจงานด้านการศึกษา แต่การเข้ามาร่วมของภาคเอกชน ควรมีความโดดเด่นและแตกต่างจากภาครัฐที่จัดการศึกษา เช่น อาจจะเน้นทักษะอาชีพ ใส่ความเชื่อ ใส่อุดมการณ์
ที่น่ายินดีการจัดการศึกษาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมมือกับชุมชนเริ่มเห็นผลในหลายพื้นที่ ดูอย่างการศึกษาในพื้นที่เทศบาลเมืองพัทลุงได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากนายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง จากเดิมโรงเรียนแห่งนี้จะถูกปิดแต่เทศบาลเมืองพัทลุงเข้าไปร่วมจัดการศึกษากับชุมชน
"เดิมโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียน 40 คน เพิ่มเป็น 400 คน และ 900 คนในปัจจุบัน เพราะพ่อ แม่ ผู้ปกครองรวมถึงชุมชนเกิดความเชื่อมั่นว่าท้องถิ่นจะจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพและทั่วถึงให้แก่ลูกหลานของเขา จึงเกิดความร่วมมือร่วมใจ นี่คือตัวอย่างที่ดีของการร่วมจัดการศึกษา เพราะท้องถิ่นมีพลังจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ดูจากหลักสูตรท้องถิ่นจัดการศึกษาได้ดีกว่าส่วนกลาง แต่ในเรื่องของคุณภาพก็มีการจัดสอบโอเน็ต เป็นไม้บรรทัดวัดอยู่แล้ว
นี่คือแนวโน้มการจัดการศึกษาของโลก ที่ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการแต่เพียงอย่างเดียว แต่ภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ท้องถิ่นที่เข้มแข็งควรมาร่วมจัดการศึกษาได้ แต่เน้นความโดดเด่น เรียนแล้วไม่ตกงาน ขณะที่รัฐบาลก็มีการส่งเสริม สนับสนุนท้องถิ่นหรือเอกชนจัดการศึกษา ผมเชื่อการจัดการศึกษาที่ดีมีคุณภาพทั่วถึงเกิดขึ้นได้ ผมยังเชื่อว่าการศึกษาไทยยังก้าวไกลและมีความหวัง ยืนอยู่ในเวทีอาเซียนและเวทีโลกได้" องคมนตรีกล่าวทิ้งท้าย
0 กมลทิพย์ ใบเงิน 0 รายงาน