ไลฟ์สไตล์

รมว.ศึกษาธิการลงนามแต่งตั้งกก.ควบคุมม.อีสาน

รมว.ศึกษาธิการลงนามแต่งตั้งกก.ควบคุมม.อีสาน

29 เม.ย. 2554

"ชินวรณ์" ลงนามแต่งตั้งกรรมการควบคุม ม.อีสาน พร้อมตั้งกก. 17 คน มีผลทันที ชี้ ม.อีสานมีสิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งได้ภายใน 30 วัน ขณะที่ สกอ.ชงครม.ตั้งคณะกรรมการกลางตรวจสอบมหาวิทยาลัย 3 พ.ค.นี้ ขยายผลตรวจสอบซื้อขายปริญญาทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แถมโฆษณาเกินจริงผ

เมื่อวันที่ 28 เมษายน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 353/2554 เรื่อง ให้มหาวิทยาลัยอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และตั้งคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสานด้วย หลังจากกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า มหาวิทยาลัยอีสานได้จัดการศึกษาไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546

 คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ระบบทะเบียนนักศึกษา ป.บัณฑิตของมหาวิทยาลัยอีสานเป็นระบบที่ไม่มั่นคง ปลอดภัย เชื่อถือได้ รายได้ที่ได้บางส่วนไม่ได้นำเข้ากองทุนทั่วไป และไม่แจ้งรายชื่ออาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรให้สกอ.ทราบ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 43(6) และ 62 ของ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางการบริหารหลักเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา 2548 กรณีดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยอีสานได้ จึงมีมติให้ รมว.ศึกษาธิการสั่งให้มหาวิทยาลัยอีสานอยู่ในความควบคุมของ สกอ. และแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสานจำนวน 17 คน ดังนี้

 นายสมนึก พิมลเสถียร ประธานกรรมการ รศ.ชูชาติ อารีจิตรานุสรณ์ รศ.สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์ รศ.สุมนต์ สกลไชย รศ.อานนท์ เที่ยงตรง รศ.กำจร ตติยกวี รศ.จีรเดช อู่สวัสดิ์ ผศ.ชัยนรินทร์ วีระสถาวณิชย์ นายประเสริฐ ตันสกุล นางอรุณี ม่วงน้อยเจริญ น.ส.มัทนา สานติวัตร นางฉันทวิทย์ สุชาตานนท์ นายขจร จิตสุขุมมงคล ผอ.สำนักประสานและส่งเสริมกิจการอุดมศึกษา เป็นกรรมการเลขานุการ เจ้าหน้าที่ สกอ.3 ราย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

 ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอีสานมีสิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งควบคุม โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อ รมว.ศึกษาธิการภายใน 30 วัน แต่ว่าผลการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น คณะกรรมการจะเข้าไปทำหน้าที่วางนโยบายควบคุมดูแลทั่วไป และดำเนินการในฐานะสภามหาวิทยาลัย หรือนายกสถาบัน โดยให้นายกสถาบัน และกรรมการสถาบันพ้นตำแหน่งตามมาตรา 32(6) เพราะฉะนั้น คณะกรรมการควบคุมสามารถเข้าไปดำเนินการได้ทันที

 นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากถูกควบคุมแล้ว มหาวิทยาลัยอีสานจะถูกตรวจสอบต่อไป ถ้ามีการทำผิดกฎหมายใดๆ ก็จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย และในกรณีที่มีการปลอมแปลมเอกสารก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายแพ่งและอาญา พร้อมพิจารณาโทษผู้ที่เกี่ยวข้องตามลำดับต่อไป เช่น การพ้นสภาพของคณาจารย์ การกำหนดโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งอาญาและแพ่ง

 ในส่วนของคุรุสภา รายงานว่า ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบและยืนยันข้อมูลตรงกันว่าเป็นกระบวนการซื้อขาย ชัดเจน ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยอีสาน ได้ยกเลิกประกาศนียบัตร ป.บัณฑิต ไปแล้ว 1,300 ราย โดยวันที่ 28 เมษายนนี้ มีการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพเพื่อเพิกถอนบุคคลที่มีหลักฐานและข้อมูลดังกล่าวต่อไป เพื่อไม่ให้สามารถนำใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไปใช้ทำธุรกรรมอื่นใดซึ่งจะมีผลต่อเนื่อง และได้มอบให้คุรุสภาดำเนินการตรวจสอบบุคลลที่เกี่ยวข้องในการปลอมแปลงเอกสารและให้เอกสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อดำเนินการต่อไปทั้งทางแพ่งและอาญา โดยให้ สกอ. คุรุสภา ให้ความร่วมมือนักศึกษาที่มายื่นเอกสารดังกล่าวในฐานะพยาน เราจะคุ้มครองพยาน ตลอดถึงหากกลุ่มนักศึกษามีความประสงค์จะฟ้องร้องเรียกความเสียหายทางแพ่ง ขอให้ สกอ.จัดเจ้าหน้าที่ นิติกร อำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษา

 ด้านนายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า หลังจาก สกอ.ตั้งคณะกรรมการเข้าควบคุมมหาวิทยาลัยอีสาน ก็จะส่งผลให้ผู้บริหารรวมทั้งสภามหาวิทยาลัยต้องยุติบทบาทโดยอัตโนมัติ และจากนี้คณะกรรมการควบคุมจะเข้าตรวจสอบการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัย และหากพบว่าใครกระทำผิดก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งคาดว่าการดำเนินการตรวจสอบจะเสร็จก่อนมีรัฐบาลชุดใหม่อย่างแน่นอน ทั้งนี้ สกอ.ได้ส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณามูลฐานความผิดว่าจะเข้าข่ายและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอหรือไม่ หากพบว่าไม่เข้าข่ายก็จะดำเนินการส่งให้กองบังคับการปราบปรามดำเนินการตรวจสอบต่อไป

 นอกจากนี้ ในส่วนของ สกอ.ได้หารือถึงข้อกฎหมายและในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 พฤษภาคมนี้ จะเสนอขอจัดตั้งคณะกรรมการกลาง เนื่องจากอำนาจของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถตรวจสอบมหาวิทยาลัยได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยอำนาจ ครม.ตั้ง ซึ่งคาดว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการจะมี เลขาธิการกกอ.เป็นประธาน และมีตัวแทนจากดีเอสไอ กองปราบปราม กระทรวงไอซีที ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมสรรพสามิต ร่วมเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงการซื้อขายปริญญาทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยเฉพาะการโฆษณาเกินจริงผ่านเว็บไซต์ ซึ่งมีคนร้องเรียนเข้ามาจำนวนหนึ่ง

 นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ กกอ.กล่าวว่า หน้าที่คณะกรรมการกลางจะเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นการขยายผลต่อเนื่อง โดยหลังจากมีการตรวจสอบกรณีซื้อขายใบ ป.บัณฑิต ที่ผ่านมาก็เริ่มผู้ร้องเรียนเข้ามาหลายราย ซึ่งบางเรื่องก็มีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น เก็บค่าเล่าเรียนไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ และพอใกล้จะจบก็เรียกเก็บเพิ่มในอัตราที่แพงกว่าปกติ

 นอกจากนั้นยังจะเข้าไปดูในเรื่องของการโฆษณาเกินจริง หลอกว่ามีอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาสอน แต่พอไปเรียนจริงกลับไม่มี ทำให้เขาไม่ได้รับการศึกษาตามต้องการ หรือหลักสูตรที่อ้างว่าจะต้องมีการดูงานในต่างประเทศแต่ความจริงคือการไปเที่ยว โดยกลุ่มแรกที่จะไปตรวจสอบก่อนคือกลุ่มที่ได้รับร้องเรียน โดยเฉพาะ 4-5 แห่งที่ได้รับร้องเรียนว่ามีการซื้อขายปริญญา