ไลฟ์สไตล์

คำวัด - ฆราวาส -ฆราวาสธรรม

คำวัด - ฆราวาส -ฆราวาสธรรม

20 พ.ค. 2554

"ประธานฝ่ายฆราวาส" เป็นตำแหน่งของหัวหน้า หรือผู้นำในพิธีกรรมงานบุญต่างๆ และผู้ที่มักจะถูกยกให้เป็น "ประธานฝ่ายฆราวาส" มักจะเป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งสูงสุด หรือสำคัญสุด ในพิธีกรรมงานบุญนั้นๆ "ประธานฝ่ายฆราวาส" เป็นตำแหน่งของหัวหน้า หรือผู้นำในพิธีกรรมงาน

   พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า ฆราวาส (อ่านว่า คะราวาด) นัยแรกแปลว่า การอยู่ครองเรือน, การอยู่ในเรือน, การเป็นอยู่แบบชาวบ้าน เช่น

 "ฆราวาสเป็นที่คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง...."
 ฆราวาส นัยที่สองแปลว่า ผู้ครองเรือน, ผู้อยู่ในเรือน ได้แก่ชาวบ้านทั่วไปที่มิใช่นักบวช เป็นคำที่มีความหมายเดียวกับคำว่า คฤหัสถ์ เช่น "ฆราวาสธรรมเป็นธรรมสำหรับผู้ครองเรือนจะพึงประพฤติปฏิบัติ" หรือ "เมื่อเรายังเป็นฆราวาสอยู่ ได้ตกแต่งร่างกายนุ่งห่มเสื้อผ้าอันงาม ทัดทรงดอกไม้ ลูบไล้ด้วยจุรณจันทน์ ....."

 ฆราวาส มักพูดหรืออ่านเพี้ยนไปว่า ฆารวาส (อ่านว่า คา-ระ-วาด)
 ส่วนคำว่า “ฆราวาสธรรม” (อ่านว่า คา-ระ-วาด-ทำ) ประกอบด้วย ๒ คำ "ฆราวาส" แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตในทางโลก, ผู้ครองเรือน และ "ธรรม" แปลว่า ความถูกต้อง, ความดีงาม, นิสัยที่ดีงาม, คุณสมบัติ, ข้อปฏิบัติ

 ทั้งนี้ เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายของคำว่า “ฆราวาสธรรม” ไว้ว่า คุณธรรมสำหรับผู้ครองเรือน หลักปฏิบัติสำหรับผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ เป็นชาวบ้าน และผู้อยู่ครองเรือนเป็นสามีภรรยากัน
 ฆราวาสธรรม ประกอบด้วยธรรมะ ๔ ประการ คือ
 ๑.สัจจะ แปลว่า จริงใจต่อกัน
 ๒.ทมะ แปลว่า ระงับอารมณ์ขมใจได้
 ๓.ขันติ แปลว่า อดทนกันได้
 ๔.จาคะ แปลว่า เสียสละแก่กัน

 ฆราวาสธรรม เป็นธรรมที่นำมาซึ่งความสุข ความเจริญ และความสงบเย็นแก่ผู้ปฏิบัติตาม เป็นธรรมที่จะนำพาครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข นำพาให้ชีวิตการครองเรือนเป็นไปด้วยความราบรื่น อยู่กันยืดยาวตลอดไป โดยไม่แตกร้าว ไม่เกิดความกินแหนงระแวงแก่กัน

 ความสำคัญของหลักธรรม ๔ ประการ เป็นคุณสมบัติของผู้ที่สามารถสร้างเกียรติยศ สร้างปัญญา สร้างทรัพย์สมบัติ และสร้างหมู่ญาติมิตรให้เกิดขึ้นได้สำเร็จด้วยกำลังความเพียรของตน

"พระธรรมกิตติวงศ์"