
ถิ่นไทยงาม -รถม้าเอกลักษณ์คู่ลำปาง
ใครๆ ก็บอกว่า รถม้าเป็นของคู่กับจังหวัดลำปาง มาเมืองลำปางทั้งทีต้องมานั่งรถม้า รถม้าที่ลำปาง ไม่ใช่รถม้าที่วิ่งบริการนักท่องเที่ยวในสวนสาธารณะ หรือสถานที่ ที่จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเฉพาะ แต่เป็นรถม้าที่ให้บริการเหมือนกับรถรับจ้างประเภทหนึ่ง วิ่งรับ-ส่ง บ
เสียง กุบกับ กุบกับ ....ฮี้ ..ฮี้ ดูจะเป็น สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อย และก็ดูเหมือนว่า จะมีนักท่องเที่ยวซะเป็นส่วนใหญ่ที่ใช้บริการ ส่วนจะไปเส้นทางไหนก็อยู่ที่ตกลงกัน แต่ถ้าให้แนะนำ อยากให้นั่งรถม้าไปเที่ยวย่านบ้านไม้เก่าแก่ ถนนท่ามะโอ และถนนวังเหนือ หรือถนนสายวัฒนธรรม ที่แสนจะสงบ และสวยงาม
รถม้า คันแรกที่มาวิ่งใน จ.ลำปาง มีเมื่อประมาณ พ.ศ.2450 โดยเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิด เจ้าผู้ครองนครลำปาง ซื้อมาจากกรุงเทพฯ เพื่อใช้ส่วนตัว เป็นรถม้าแบบ 4 ล้อ เหมือนรถม้าในลำปางปัจจุบันนี้ ท่านได้จ้างแขกจากกรุงเทพฯ มาเป็นสารถี ต่อมาแขกสารถีรถม้าไปรู้จักกับแขกบ้านหัวเวียง จึงแนะนำให้ไปซื้อรถม้าจากกรุงเทพฯ เพราะกำลังจะขาย หันไปใช้รถยนต์กัน ปรากฏว่าเมื่อนำมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารมีรายได้ดี และมีแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งอาชีพรถม้าที่ขึ้นทะเบียนกับตำรวจในสมัยนั้น มีมากถึง 185 คัน
รถม้าทั้งหมดในจังหวัดลำปาง เจ้าของจะเป็นผู้ขับเอง และจะต้องมีม้าไว้ผลัดเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 2 ตัว ใช้เทียมรถตัวละไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน
แต่รถม้าจังหวัดลำปางจะยั่งยืนแค่ไหน คงต้องถามถึงความต้องการในท้องตลาด นายอัครินทร์ พิชญกุล นายกสมาคมรถม้า จ.ลำปาง บอกว่า ปัจจุบัน มีสมาชิกอยู่กว่า 100 คัน แต่ก็มีที่ไม่ได้เข้าสมาคม แต่ใครที่เข้ามาก็ดูแลและช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ เช่นเดียวกับสมาคมอื่นๆ ส่วนรถม้าจะอยู่นานหรือไม่ ต้องแล้วแต่เหตุและผล เหมือน "คาถาเยธัมมา" ถ้าสังคมต้องการ ก็อยู่ได้ตลอด
"รถม้าจะอยู่ได้นานแค่ไหน ก็เหมือนจักรยานกับมอเตอร์ไซค์ อยู่ที่คนต้องการใช้ ถ้าเพื่อการกีฬา ออกกำลังกาย ก็อาจจะต้องการจักรยานมากหน่อย แต่คงไม่เอาไปใช้ในทางธุรกิจ แต่ไม่แน่ ถ้าน้ำมันหมดโลก คนก็อาจจะกลับมาใช้จักรยาน ... ทุกวันนี้ รถม้าอาศัยนักท่องเที่ยวอย่างเดียว ถ้ายังมีนักท่องเที่ยว รถม้าก็ยังคงอยู่ต่อไป แต่ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวก็ไม่รู้จะอุกรักษ์ไปทำไม เพราะเค้าไม่มีรายได้ ใครจะเอาเงินไปสนับสนุนตั้งเยอะแยะ"
การผลิตรถม้าแต่ละคัน จัดเป็นงานชั้นฝีมือที่ผสมผสานกันถึง 3 ประเภท คืองานช่างไม้ งานผ้า และงานช่างเหล็ก ซึ่งทั้งหมดจะประกอบกันเป็นส่วนต่างๆ ของรถม้า 1 คัน เหล็กแหนบที่ใช้กับรถม้า จะเป็นแหนบรถจี๊ป ซึ่งขนาดจะกำลังดี แต่ก็ต้องมาตัดออกหน่อย เพื่อให้พอดีรองรับกับตัวรถม้า หรือบางขั้นตอนก็นำของเก่ามาใช้ อย่างเช่น ยางล้อ ที่นำยางนอกรถยนต์ที่ใช้แล้ว มาตัดให้พอดี
ต้นทุนการผลิตรถม้าคันหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 60,000-70,000 บาท ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ใช้ ใช้ทองเหลืองมากหน่อย ราคาต้นทุนก็แพง บางคันอาจจะถึงแสนบาท แต่ไม่ว่าต้นทุนการผลิตรถม้าจะแพงหรือถูก สิ่งสำคัญคงอยู่ที่ว่า ผลิตมาแล้วได้ใช้ประโยชน์ และมีคนเห็นคุณค่า เพื่อไม่ให้รถม้าลำปางต้องเลือนหายไปตามกาลเวลา