ไลฟ์สไตล์

เป็นเบาหวานไม่รู้ตัว

09 มิ.ย. 2554

เบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง เนื่องจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอยู่เป็นเวลานาน และทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตา ไต และระบบประสาทได้

ในคนปกติก่อนรับประทานอาหารเช้าจะมีระดับน้ำตาลในเลือดประมาณ 70-110 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หลังจากรับประทานอาหารแล้ว 2 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลจะอยู่ที่ประมาณ 140 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ที่ระดับน้ำตาลสูงไม่มาก อาจจะไม่มีอาการ
 การวินิจฉัยโรคเบาหวาน ทำได้โดยการเจาะเลือด ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยเบาหวานสามารถเจาะเลือดด้วยเครื่องตรวจที่ทำได้ด้วยตนเองแล้ว
 จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปัจจุบันคนที่ป่วยเป็นเบาหวาน มีมากกว่า 3 ล้านคน และที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ ผู้ที่เข้ารับการรักษากว่าครึ่ง ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าป่วยเป็นเบาหวาน 
 สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือป่วยเป็นโรคเบาหวานมานาน หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจตีบอื่นๆ เช่น สูบบุหรี่ กรรมพันธุ์ จากเครือญาติที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันสูง มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ และโรคแทรกซ้อนทางตา
 ควรระมัดระวังดูแลตนเองด้านอาหารการกิน ออกกำลังกายแบบพอดีไม่หักโหมจนเกินไป หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายบางประเภทที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยาฉีดอินซูลิน และควรป้องกันแผลอันอาจเกิดขึ้นจากการออกกำลังกาย เพราะนอกจากแผลจะหายยากแล้ว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นอีกได้
 ในกลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นเบาหวาน ด้านประวัติครอบครัว มีพ่อแม่ พี่ หรือน้อง ป่วยโรคเบาหวาน ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือด แม้ว่าจะยังไม่มีอาการก็ตาม รวมถึงในกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น
 -คนที่มีรูปร่างอ้วน หรือมีน้ำหนักเกิน 20% ของน้ำหนักปกติ
 -ผู้ที่อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป
 -ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 140/90
 มีวิธีตรวจสอบที่ทำได้ง่ายและสะดวกที่สุด คือ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่ออ่านค่าเลือดว่า ปกติ สูงไป หรือต่ำไป นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
 นอกจากการดูแลสุขภาพด้านอาหารการกิน การพักผ่อน ออกกำลังกายแล้ว การมีเครื่องมือช่วยตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่ใช้งานง่าย ก็ทำให้สะดวกในการตรวจสุขภาพของตนเอง โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน หรือกลุ่มเสี่ยง การป้องกัน หรือรู้ทันระดับน้ำตาลในเลือด ย่อมดีกว่าเป็นเบาหวาน เมื่อมีข้อสงสัย หรือมีอาการผิดปกติใดๆ ต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวทันที
พญ.ศิริกานต์ นิเทศวรวิทย์
รพ.บางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล