เตือนภัย 'ซิลิโคนปลอม' พร้อมวิธีตรวจสอบเบื้องต้น ก่อนเลือกใช้ให้เหมาะสม
"หมอส้ม" แพทย์หญิง ภคมน เดชส่งจรัส ผู้อำนวยการการแพทย์ประจำ นภัสรีย์ คลินิก และเจ้าของเพจ "หมอส้มว่าสวย" เตือนภัย 'ซิลิโคนปลอม' ที่ไม่ได้มาตรฐาน อันตรายแค่ไหน พร้อมข้อสังเกต และวิธีตรวจสอบมาฝากกันค่ะ
จากข่าวการเข้าจับกุมสถานที่ผลิตซิลิโคนเถื่อน ภายในโรงสีข้าว จ.สุพรรณบุรี จนเป็นข่าวครึกโครมไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงเป็นผลมาจากปัจจุบันนี้การทำศัลยกรรม ประเภทที่ต้องใช้ "ซิลิโคน" ร่วมด้วย เช่น การเสริมจมูก เสริมคาง เสริมหน้าผาก หรือเสริมหน้าอก ฯลฯ เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความต้องการใช้ “ซิลิโคน” เพิ่มขึ้นตามไปด้วยจนเป็นที่มาของการปั๊ม "ซิลิโคนปลอม" ที่ไม่ได้มาตรฐานขึ้นนั่นเอง ซึ่งวันนี้ “หมอส้ม” แพทย์หญิง ภคมน เดชส่งจรัส ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ความงามและชะลอวัย, ผู้อำนวยการการแพทย์ประจำ นภัสรีย์ คลินิก และเจ้าของเพจ “หมอส้มว่าสวย” จะมาเตือนภัยเกี่ยวกับซิลิโคน ที่ไม่ได้มาตรฐานกันว่ามีความอันตรายมากขนาดไหน และมีข้อสังเกตหรือตรวจสอบว่าซิลิโคนที่ใช้นั้นได้มาตรฐานหรือไม่มาฝากกันค่ะ
"ซิลิโคน" ที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ คือ ซิลิโคนที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยา ว่าไม่ส่งผลต่อเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ ในระยะยาว มีลักษณะสำคัญคือ โอกาสการแพ้น้อย, ไม่มีส่วนประกอบของlatex ไม่มีสารพิษปนเปื้อน ไม่มีรูพรุน ต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และปลอดเชื้อ
"ซิลิโคนปลอม" ที่ไม่ได้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานด้านบนหรือในทางการแพทย์เรียกว่า Non-Medical grade เป็นซิลิโคนจะไม่ผ่านการรับรองจาก FDA เรื่องการส่งผลในระยะยาวต่อเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ
อันตรายที่มาจากการศัลยกรรมด้วย "ซิลิโคนปลอม" ที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้มีปัญหาเนื้อเยื่ออักเสบ บวมแดง ติดเชื้อ หรือเปลี่ยนรูป หลังจากการผ่าตัด อาการแบบนี้มักจะได้รับการแก้ไขด้วยการถอด ซิลิโคน และรับประทานหรือฉีดยาฆ่าเชื้อ แต่ปัญหาเช่นนี้ก็อาจเกิดการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดไม่ถูกต้อง หรือการได้รับการผ่าตัดที่ไม่ได้มาตรฐานได้ด้วยเช่นกัน
วิธีการตรวจสอบสำหรับ ซิลิโคนเสริมจมูก คาง โดยปกติแล้วจะมีอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ
1.แบบแผ่นใหญ่ ซึ่งศัลยแพทย์จะนำไปตัด แบ่ง เหลา ให้เข้ากันแต่ละบุคคล ซิลิโคนควรมี ชื่อบริษัท และเลข LOT/serial number อยู่ที่แผ่น ที่มาจากโรงงาน ซึ่งหากตัดแบ่งเป็นชิ้นย่อย ๆ แล้ว จะต้องนำซิลิโคนไปใส่ซองแยกย่อยเพื่อไปอบฆ่าเชื้อ โดยในแพคย่อยๆ เหล่านี้ (มักอยู่ในซองสีฟ้า) ควรจะต้องมีเขียนรายละเอียดเลข LOT และวันเดือนปีที่อบฆ่าเชื้อด้วย
สิ่งที่สามารถตรวจสอบ หรือสอบถามจากทางคลินิก หรือโรงพยาบาล
- ชื่อยี่ห้อของซิลิโคนที่ใช้
- เลข LOT/serial number
2.แบบสำเร็จรูป ทำเป็นรูปทรงเรียบร้อย ส่วนมากจะแยกเป็นแพคเกจย่อยๆ และ sterile ไว้ในซองแล้ว ซึ่งจะต้องมีเลข LOT หรือ serial number แยกมาในแต่ละชิ้น ที่สามารถตรวจสอบได้
สำหรับการเสริมหน้าอก เสริมก้น หรือสะโพก การตรวจสอบจะทำได้ง่ายกว่าซิลิโคนเสริมจมูกและคาง เพราะทางบริษัทจะมีกล่องแยกมาอย่างชัดเจน มีชื่อผลิตภัณฑ์ ขนาด เลข LOT/serial number ที่ชัดเจน และยังมีใบรับประกัน ทั้งแบบกระดาษและออนไลน์ให้คนไข้เก็บไว้อีกด้วย
หมอเชื่อว่าผู้เข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมเสริมความงามทุกคน ต้องการให้ผลการผ่าตัดออกมาเป็นที่น่าพอใจ ไม่เกิดปัญหาในอนาคต การผ่าตัดใส่ซิลิโคนผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานเข้าไปในร่างกายทำให้เกิดความเสี่ยง อาจส่งผลร้ายกับใบหน้าและร่างกายโดยตรง นอกจากซิลิโคนที่จะใช้ต้องได้มาตรฐานทางการแพทย์แล้ว ห้องผ่าตัดที่ได้มาตรฐาน วิธีการและเทคนิคการผ่าตัดก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ล้วนส่งผลกับผลการผ่าตัดเช่นกัน ดังนั้นใครที่อยากทำศัลยกรรมควรศึกษาข้อมูลให้ดี เลือกสถานพยาบาล คลินิก หรือโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานทางการแพทย์เท่านั้น