ไลฟ์สไตล์

ถอดบทเรียน 'ซิลิโคนเถื่อน' แพทย์แนะ 'เปลี่ยน' เพื่อความปลอดภัย ระยะยาว

ถอดบทเรียน 'ซิลิโคนเถื่อน' แพทย์แนะ 'เปลี่ยน' เพื่อความปลอดภัย ระยะยาว

02 มี.ค. 2566

แพทย์แนะ หากรู้ว่าซิลิโคนที่เสริมเข้าๆไปในร่างกายเป็น 'ซิลิโคนเถื่อน' ควรผ่าตัดออก และเปลี่ยนใส่ซิลิโคนที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ และผ่าน อย.เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในระยะยาว

เป็นข่าวครึกโครมและสะเทือนวงการศัลยกรรมความงามอยู่ไม่น้อย จากกรณีที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จับมือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา บุกทลายสถานที่ลักลอบผลิต "ซิลิโคนเถื่อน" ส่งคลินิกเสริมความงามทั่วประเทศ

 

เรื่องดังกล่าวสร้างความกังวลใจให้กับประชาชน ที่เข้ารับการทำศัลยกรรมกับคลินิกที่มีการเปิดเผยรายชื่อออกมาเป็นจำนวนมาก และตั้งคำถามว่าแล้วจะทราบได้อย่างไรว่าซิลิโคนที่ตัวเองเสริมเข้าไปเป็นซิลิโคนเถื่อนหรือปลอม

 

นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล

 

นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงาม โรงพยาบาลบางมด แนะนำว่า หากเรารู้ว่าซิลิโคนที่เสริมเข้าไปเป็น ซิลิโคนเเถื่อน หรือซิลิโคนปลอม แนะนำให้เฝ้าสังเกตอาการ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า สารที่ใส่เข้าไปในร่างกายเรานั้นจะมีผลเสียกับร่างกายในระยะยาวหรือไม่ และวัสดุนั้นจะก่อให้เกิดมะเร็งในอนาคตหรือไม่ ดังนั้นจึงแนะนำให้ "เปลี่ยน" ผ่าตัดเอาออกและใส่ซิลิโคนใหม่ ที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ ผ่าน อย. เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในระยะยาว

 

ซิลิโคนแผ่นใหญ่ก่อนนำมาเหลาและตกแต่ง

 

ซิลิโคนแผ่นใหญ่ก่อนนำมาเหลาและตกแต่ง

 

ทั้งนี้ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ FDA ขอเรียกคืนถุงซิลิโคนเสริมหน้าอก จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในหลายๆ รุ่น สาเหตุเพราะตรวจพบในภายหลังว่า มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด ALCL (มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งที่สัมพันธ์กับถุงซิลิโคนหน้าอก) ในระดับที่มากกว่าซิลิโคนอื่นๆ ซึ่งในกรณีนั้น ถุงซิลิโคนผ่านการรับรองของ FDA ตั้งแต่แรกแต่มาตรวจพบจากการวิจัยในช่วงหลัง คำแนะนำของ FDA ทั่วโลก จึงทำได้ชัดเจน เพราะมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง รุ่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ใช้การสังเกตอาการไปได้ ส่วนคนที่มีปัญหา ใช้ซิลิโคนรุ่นที่เสี่ยง ก็ทยอยมาเปลี่ยนตามความเหมาะสม อันนี้เป็นตัวอย่างวัสดุที่ผ่าน อย.แล้ว นอกจากจะมีความปลอดภัย ณ วันที่ตรวจสอบผ่านแล้ว  ในระยะยาว ยังมีการวิจัยต่อเนื่อง และมีการแจ้งเตือนหากพบความเสี่ยงในภายหลัง เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภคด้วย

 

เลข LOT และวันหมดอายุของการ sterile ระบุไว้ ในแต่ละชิ้น

 

ตัวอย่างซิลิโคนเสริมหน้าอก ก้น สะโพก จะตรวจสอบได้ง่ายกว่า จากกล่องของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

 

เมื่อกลับมาเปรียบเทียบกับข่าวในปัจจุบัน เป็นการจับโรงงานเถื่อนในการผลิตซิลิโคนเถื่อน และวัสดุไม่ผ่าน อย.ยิงตอกย้ำว่าเราจึงไม่ควรเสี่ยงที่จะใช้วิธีสังเกตอาการเลยเพราะขนาดของที่ผ่าน อย.ถูกต้องแล้ว ในอนาคตยังมีโอกาสเกิดโรคใหม่ที่ไม่คาดคิดได้ แล้วถ้าของที่ไม่ผ่าน อย.จะเสี่ยงมากขนาดไหน