ไลฟ์สไตล์

แพทย์แนะ 'อากาศเย็น' ต้องดูแล 'ผิว' อย่างไร ไม่แห้ง แตก ลอกเป็นขุย

แพทย์แนะ 'อากาศเย็น' ต้องดูแล 'ผิว' อย่างไร ไม่แห้ง แตก ลอกเป็นขุย

29 ธ.ค. 2566

แพทย์เฉพาะทางแนะนำ วิธีดูแลผิว ในช่วง 'อากาศเย็น' ต้องดูแลสุขภาพ 'ผิว' อย่างไร ไม่ให้ผิวแห้ง แตก และลอกเป็นขุย

เมื่ออุณหภูมิเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทำให้อากาศเริ่มเย็น การเตรียมตัวเพื่อ ดูแลผิว ในช่วงอากาศเย็นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายเกี่ยวกับสาเหตุของ ผิวแห้ง ผิวแตก ผิวลอกเป็นขุย พร้อม วิธีดูแลผิว ในช่วง อากาศเย็น เพื่อจะได้นำไปสังเกตสุขภาพผิวของตัวเองได้อย่างถูกต้อง

 

พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์

 

• การดูแลสุขภาพผิว แบ่งตามประเภทผิว ได้แก่

การดูแลสุขภาพผิว ควรแบ่งตามประเภทของผิวได้แก่ ผิวแห้ง, ผิวมัน, ผิวผสม และ ผิวแพ้ง่าย ซึ่งแต่ละประเภท ผิว พบปัญหาที่แตกต่างกัน

 

• สาเหตุของ ผิวแห้ง ผิวแตก ผิวลอกเป็นขุย  คืออะไรบ้าง? 

 

สาเหตุและปัจจัยภายใน

 

1. พันธุกรรม : เป็นจากโรคบางชนิดที่เกิดปัญหาผิวแห้ง ผิวแตกง่าย ตามพันธุกรรม เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งเกิดได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด และสะเก็ดเงิน มักพบหลังช่วงวัยรุ่น

2. ฮอร์โมน : การเปลี่ยนแปลงของปริมาณฮอร์โมนและสภาพร่างกาย เช่น ระยะตั้งครรภ์, ภาวะหมดประจำเดือน

3. อายุ : อายุที่มากขึ้น ร่างกายจะผลิตไขมันใน ผิว ลดลง ทำให้ชั้นปกป้องผิวอ่อนแอลงมาก สูญเสียน้ำออกจากผิวได้ง่ายมากขึ้นเรื่อยๆ

4. ประเภทอาหาร : พฤติกรรมการเลือกรับประทานแค่บางชนิด หรือกลุ่มที่แพ้อาหารบางชนิดแล้วไม่สามารถรับประทานได้นั้น ทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารสำคัญในการช่วยบำรุงผิว โดยเฉพาะ โปรตีน วิตามิน และธาตุสังกะสี ซึ่งทำให้ผิวแห้งมากขึ้นได้อีกกว่าปกติ

5. ชั้นผิวอ่อนแอ : น้ำในผิวที่ลดลง จนผิวขาดความชุ่มชื้น ส่งผลให้ผิวลอกเป็นขุยได้ง่าย

 

 

สาเหตุและปัจจัยภายนอก

 

1. การทำความสะอาดผิวบ่อยเกินไป : เพิ่มโอกาสการชำระล้างไขมันที่จำเป็นใต้ชั้น ผิว ออกไปมากเกินไป ทำให้ผิวอ่อนแอ สูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่ายขึ้น

2. การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะกับสภาพผิว :  เช่น ไม่เพียงพอต่อการขจัดไขมันชั้นผิว หรือความมัน และสิ่งอุดตันในผิวมัน ไม่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของชั้นผิว ไม่แก้ปัญหาการสูญเสียน้ำใต้ชั้นผิวของผิวแห้ง ทำให้ผิวไม่ได้รับการฟื้นฟูเต็มที่

3. สภาพอากาศ : การเปลี่ยนแปลงของอากาศ, การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล – ผิวแห้งมักเกิดมากในช่วงหน้าหนาว หรือแสงแดดในฤดูร้อน นอกจากจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยแล้ว ยังทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย และทำให้ผิวแห้งมากขึ้นอีกด้วย

4. การใช้ยารักษาโรค : การรักษาโรคบางชนิด เช่น การฉายรังสี การล้างไต ยาหรือสารเคมี ที่ใช้ในการรักษา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผิวสูญเสียน้ำได้มากกว่าปกติ รวมถึงการแตกแห้งเป็นริ้วๆ การแห้งหรือแสบแดงง่ายกว่าปกติด้วย

 

 

สาเหตุของ ปากแตก ปากแห้ง มีปัจจัยที่มากกว่า ผิวแห้ง ผิวแตก 

 

1. การเลียริมฝีปาก บางคนเลียริมฝีปากตัวเองจนเป็นนิสัย หรือเผลอเลียเวลาปากแห้ง ซึ่งยิ่งทำให้ปากแห้งมากกว่าเดิม เพราะน้ำลายจะดึงเอาความชุ่มชื้นออกไปจากริมฝีปาก และทำให้ปากแห้งมากขึ้น

2. การดื่มน้ำน้อย จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ร่างกายไม่ได้รับน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของร่างกาย นอกจากอาการปากแห้งซึ่งสังเกตุได้ง่ายที่สุดแล้ว ยังมีอาการตาแห้ง ตาโหล ชีพจรเบาเร็ว อ่อนเพลีย หน้ามืด ปัสสาวะออกน้อย เป็นลมตามมาได้ด้วย

3. ภาวะขาดสารอาหาร มีลักษณะอาการคล้ายคลึงกับภาวะร่างกายขาดน้ำ คือปากแห้ง แต่การขาดสารอาหารเช่น

 

  • วิตามิน ทำให้เกิดอาการตาแห้ง มองไม่ชัดตอนกลางคืน แผลที่มุมริมฝีปาก แผลร้อนใน มีกลิ่นปาก ปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ ไปจนก่อให้เกิดอาการ กระดูกเปราะ ฟันผุ ได้เช่นกัน
  • เกลือแร่ ทำให้ ผิวแห้งมากกว่าปกติเกิดขุยลอก เกิดแผล แผลหายช้า เป็นแผลเป็นได้ง่าย เล็บลอกเปราะบาง ผมร่วงง่าย ผมบาง ไปจนถึงก้นลอก ได้เช่นกัน

4. การใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิด ซึ่งอาจมีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อริมฝีปาก เช่น ลิปบาล์ม ลิปสติก ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หรือครีมกันแดด

5. โรคเรื้อรัง เช่น ภูมิแพ้อากาศ หรือภาวะเรื้อรังทางผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคพุ่มพวงหรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง อาจส่งผลให้เฉพาะปากแห้ง แตก หรือระคายเคืองได้

 

 

วิธีการดูแลสุขภาพ และสุขภาพผิว ทำอย่างไรได้บ้าง

 

  1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่อ่อนโยนต่อผิว ทั้งผิวหน้าและผิวกาย มีค่า pH ที่สมดุลต่อผิว
  2. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะกับสภาพผิว และให้ความชุ่มชื้นต่อผิวให้ยาวนานยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนที่ต้องอยู่กับเครื่องปรับอากาศนานๆใช้ให้เป็นประจำ เสมือนเป็นการเสริมเกราะป้องกันจากแสงอาทิตย์ ลม หรือสภาพอากาศที่เย็นและแห้งได้ดี
  3. ควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อร่างกาย ประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน เพื่อให้ผิวชุ่มชื้นจากภายในร่างกาย
  4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผลไม้และผัก ที่จะช่วยบำรุง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว 
  5. เลือกเพิ่มอาหารเสริมที่มีคุณประโยชน์ ให้สามารถช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของร่างกาย
  6. สำหรับผู้ที่มีปัญหา เรื่องการแพ้อาหารบางชนิด สามารถเสริมอาหารกลุ่มทดแทนชนิดอื่นๆ เพื่อให้สามารถทดแทนในส่วนที่ขาดหายไปอย่างเหมาะสมได้
  7. ใช้เครื่องฟอกอากาศ ที่นอกจากจะช่วยฟอกอากาศระบบ HEPA filter แล้ว ยังมีระบบปรับสมดุลความชื้น เพื่อปรับสภาพอากาศที่แห้งและ อากาศเย็น ให้มีความชื้นเพิ่มขึ้นด้วย

 

ข้อห้าม…

 

  1. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนเพราะอาจทำให้ผิวแห้งและขาดความชุ่มชื้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อากาศแห้งมากอยู่แล้ว
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดด โดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัมผัสโดยไม่มีเครื่องป้องกันใดๆ ทั้งอุปกรณ์ และกลุ่มทาผิว
  3. ไม่ควรเลีย เม้ม หรือกัดริมฝีปาก เพราะยิ่งทำให้สูญเสียความชุ่มชื้นและจะทำให้ริมฝีปากแห้งมากขึ้น ทั้งยังไม่ควรดึงหรือแกะ หากปากแห้ง ผิวแตกและลอกเป็นขุยอยู่แล้ว เพราะจะยิ่งทำให้ปากลอกและผิวแห้งแตกมากยิ่งขึ้น
  4. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีสารระคายเคืองหรือน้ำหอม (ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เริ่มใช้เป็นครั้งแรก ควรทดลองกับบริเวณท้องผิวที่ข้อมือ แขน หรือผิวที่ไม่แพ้ง่ายดูก่อน)

 

 

ใครบ้างที่ต้องระวัง หรือดูแลเป็นพิเศษ

 

ไม่ว่าใครและเมื่อไหร่ ทุกคนย่อมมีปัญหาของผิวพรรณ ทั้งผิวหน้า ผิวกาย หรือผิวบริเวณต่าง ๆ มารบกวนได้เสมอๆ แต่…ในทารกแรกเกิด

 

  • เด็กเล็กที่มีผิวแพ้ง่าย ไวต่อสิ่งกระตุ้น
  • ผู้มีปัญหาสุขภาพผิวอยู่แล้ว
  • ผู้มีความเสี่ยงต้องสัมผัสแสงแดด หรือ อากาศหนาวแห้งเป็นประจำ
  • ผู้มีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง
  • รวมถึง คนสูงอายุ…อาจพบปัญหาได้บ่อย ได้รุนแรงกว่า ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง และดูแลเป็นพิเศษ

 

หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ โทร.1507 I Line: @navavej