ไลฟ์สไตล์

ประเพณีทอดกฐิน ความเป็นมา กฐินหลวง คืออะไร ต่างจาก กฐินพระราชทาน อย่างไร

ประเพณีทอดกฐิน ความเป็นมา กฐินหลวง คืออะไร ต่างจาก กฐินพระราชทาน อย่างไร

27 ต.ค. 2567

ประวัติความเป็นมา ประเพณีทอดกฐิน กฐินหลวง คืออะไร ต่างจาก กฐินพระราชทาน อย่างไร ทำไมต้อง ทอดกฐิน หลังออกพรรษา

ประเพณี การทอดกฐิน หรือ การถวายผ้ากฐิน เป็นกาลทาน เป็นการถวายทานที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก ชื่อมหาวัคค์ เรื่อง กฐินขันธกะ (หมวดว่าด้วยกฐิน) ว่า ครั้งหนึ่งมีภิกษุชาวเมืองปาฐา หรือปาวา จำนวน 30 รูป ที่เดินทางมาด้วยหวังจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี พอถึงเมืองสาเกตุอีก 6 โยชน์จะถึงเมืองสาวัตถีก็ถึงกาลเข้าพรรษา จึงต้องอยู่จำพรรษา ณ เมืองสาเกตุ ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ ในระหว่างจำพรรษาอยู่นั้นก็มีความกระวนกระวายในการอยากจะเข้าเฝ้าพระผู้มี พระภาค

 

ครั้นเมื่อออกพรรษา ก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทันที ทำให้น้ำหรือโคลนตมเปรอะเปื้อนจีวรในระหว่างเดินทาง เมื่อภิกษุเหล่านั้นได้เข้าเฝ้า พระพุทธองค์ ทรงปฏิสันถารด้วยภิกษุเหล่านั้น และทรงทราบถึงความลำบากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น จึงทรงยกเป็นเหตุมีพระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน และโปรดให้เป็นการสงฆ์ คือเป็นสังฆกรรมสำหรับภิกษุทั้งหลายทั่วไป ในระยะเวลาภายหลังวันออกพรรษาแล้วหนึ่งเดือน (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12)

 

ทอดกฐิน 2567 ช่วงไหน 

 

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2567 – วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567

 

ประเพณีทอดกฐิน ความเป็นมา กฐินหลวง คืออะไร ต่างจาก กฐินพระราชทาน อย่างไร

ผ้ากฐิน คืออะไร ?

 

ผ้ากฐิน ผ้าที่จะทำเป็นผ้ากฐินได้นั้น เป็นผ้าใหม่ก็ได้, ผ้าเทียมใหม่ก็ได้, ผ้าเก่าหรือผ้าบังสุกุลก็ได้ แต่ผ้าเหล่านี้จะต้องมีพอที่จะทำไตรจีวรผืนใดผืนใดผืนหนึ่ง (ผ้าไตรจีวร ของพระสงฆ์มี ๓ ผืน คือ สบง = ผ้านุ่ง, จีวร = ผ้าห่ม, และสังฆาฏิ = ผ้าซ้อนห่ม หรือผ้าพาด) ผ้านี้คือผ้าองค์กฐิน ส่วนสิ่งของอื่นๆ ไม่ใช่องค์กฐิน แต่เป็นบริวารกฐิน บริวารกฐินนี้จะมีมากหรือน้อยก็ได้ไม่มีกำหนด แล้วแต่ตามศรัทธาของผู้ถวาย

 

ประเพณีทอดกฐิน ความเป็นมา กฐินหลวง คืออะไร ต่างจาก กฐินพระราชทาน อย่างไร

 

กฐิน มีกี่แบบ

 

กฐิน ตามอรรถกถาฎีกาต่างๆ กล่าวไว้มี 2 ลักษณะ คือ

 

  1. จุลกฐิน เป็นกิจกรรมสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันทำให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันหนึ่ง นับตั้งแต่การเก็บฝ้าย ปั่นฝ้าย กรอ ทอ ตัด เย็บ ย้อม ทำให้เป็นขันฑ์ ได้ขนาดตามวินัย แล้วทอดถวายให้แล้วเสร็จในวันนั้น
  2. มหากฐิน เป็นการจัดหาผ้ามาเป็นองค์กฐิน พร้อมทั้งเครื่องไทยธรรม บริวารเครื่องกฐินจำนวนมาก ไม่ต้องทำโดยรีบด่วน เพื่อจะได้มีส่วนหาทุนในการบำรุงวัด เช่น การบูรณะซ่อมแซมศาสนสถานภายในวัด
     

ประเพณีทอดกฐิน ในปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

 

1. พระกฐินหลวง เป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็น พุทธมามกะและเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ รวมทั้งพระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้เสด็จฯ แทนพระองค์นำไปถวายยังพระอารามหลวงสำคัญ ๑๖ พระอาราม ที่สงวนไว้ไม่ให้มีการขอพระราชทาน คือ

 

กรุงเทพมหานคร จำนวน ๑๒ พระอาราม

 

1. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
2. วัดอรุณราชวราราม
3. วัดราชโอรสาราม
4. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
5. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
6. วัดบวรนิเวศวิหาร
7. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
8. วัดสุทัศนเทพวราราม
9. วัดราชาธิวาส
10. วัดมกุฏกษัตริยาราม
11. วัดเทพศิรินทราวาส
12. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

 

จังหวัดนครปฐม จำนวน 1 พระอาราม

 

13. วัดพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม

 

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 2 พระอาราม

 

14. วัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน
15. วัดสุวรรณดาราราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา

 

จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 1 พระอาราม

 

16. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมืองพิษณุโลก

 


2. พระกฐินพระราชทาน คือ พระกฐินที่ถือว่า ผ้าพระกฐิน บริขาร และบริวารกฐิน เป็นของหลวง แต่เปิดโอกาสให้ส่วนราชการ องค์กร หรือบุคคลที่สมควร ขอรับพระราชทานอัญเชิญไปถวายยังพระอารามหลวงต่างๆ นอกจากพระอารามหลวงสำคัญ ๑๖ พระอารามดังกล่าว รัฐบาลโดยกรมการศาสนาจัดหาผ้าพระกฐิน และบริวารพระกฐิน (ปัจจุบันมีจำนวน ๒๖๕ พระอาราม มีรายชื่อตามบัญชีพระอารามหลวง) ซึ่งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สมาคม บริษัทห้างร้าน และบุคคลทั่วไป จะต้องยื่นความจำนงขอพระราชทานผ่านไปยังกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และเมื่อถึงกำหนดกฐินกาลก็ติดต่อขอรับ ผ้าพระกฐินและบริวารพระกฐินจาก กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา เพื่อนำไปทอด

 

ณ พระอารามที่ขอรับพระราชทานไว้ เมื่อทอดถวายเรียบร้อยแล้วผู้ขอรับพระราชทานจะต้องจัดทำบัญชีรายงานถวายพระราชกุศลในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ส่งไปยัง กรมการศาสนา เพื่อจะได้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน ส่งไปยัง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งให้สำนักราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูล พระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายพระราชกุศลในการที่หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลทั่วไป อัญเชิญผ้าพระกฐินไปถวาย ณ อารามนั้น

 

ประเพณีทอดกฐิน ความเป็นมา กฐินหลวง คืออะไร ต่างจาก กฐินพระราชทาน อย่างไร

 

กฐิน มีทั้งหมด 4 ประเภท

 

1. กฐินหลวง หมายถึง กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองเป็นประจำ ณ วัดสำคัญต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค จำนวน 16 วัด

 

2. กฐินต้น หมายถึง กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินวัดที่ไม่ได้เป็นวัดหลวง และไม่ได้เสด็จไปอย่างเป็นทางการ หรืออย่างเป็นพระราชพิธี แต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์เอง

 

3. กฐินพระราชทาน เป็นของหลวง ให้ส่วนราชการ องค์กร หรือบุคคลที่ขอรับพระราชทานอัญเชิญไปถวายยังพระอารามหลวงต่างๆ ปัจจุบันมีจำนวน 265 พระอาราม

 

4. กฐินทั่วไปหรือ "กฐินราษฎร์" เป็นกฐินที่ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามีกำลังศรัทธานำผ้ากฐินของตนเองไปทอดถวายไปยังวัดต่างๆ

 

ประเพณีทอดกฐิน ความเป็นมา กฐินหลวง คืออะไร ต่างจาก กฐินพระราชทาน อย่างไร