
ไฟเขียว! เตรียมเสนอ "พระปรางค์วัดอรุณฯ" ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
บอร์ดอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ไฟเขียว! เสนอ "พระปรางค์ วัดอรุณฯ" สู่บัญชีชั่วคราวเตรียมดันขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้ทรงคุณวุฒิและอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ในการประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม
ครั้งที่ 1/2568 ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระต่างๆ ดังนี้ การนำเสนอพระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เพื่อขอบรรจุเข้าสู่บัญชีชั่วคราว (Tentative List) ในชื่อ "พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (Phra Prang of Wat Arun Ratchawararam : The Masterpiece of Krung Rattanakosin)"
ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมในพุทธศาสนาประเภทพระปรางค์ที่มีความโดดเด่นที่สุด เป็นอัตลักษณ์หนึ่งเดียวของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย คุณสมบัติที่เลือกนำเสนอตรงตามเกณฑ์มรดกโลกข้อที่ 1 และข้อที่ 2 คือ เป็นผลงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมชิ้นเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระปรางค์ในศิลปะอยุธยา และพัฒนามาเป็นลักษณะเฉพาะของพระปรางค์ที่มีเพียงหนึ่งเดียวในสมัยรัตนโกสินทร์
“ขั้นตอนการนำเสนอแหล่งมรดกเพื่อขอบรรจุรายชื่อในบัญชีชั่วคราว หลังจากนี้ต้องเสนอให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อนนำเสนอเอกสารไปยังศูนย์มรดกโลกเพื่อให้รับรองบรรจุรายชื่อในบัญชีเบื้องต้น ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ช่วงเดือนมิถุนายน 2568 นี้” รมว.วธ. กล่าว
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดกรอบเวลาการนำส่งเอกสารขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกฉบับสมบูรณ์ (Nomination Dossier) ของแหล่งมรดกวัฒนธรรมในบัญชีชั่วคราว เนื่องจากการส่งเอกสารฯ (Nomination Dossier) รอบวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2569 จะเป็นปีสุดท้าย ก่อนปรับเปลี่ยนเป็นระบบใหม่ที่ต้องมีการประเมินขั้นต้น (Preliminary Assessment) ประกอบกับข้อกำหนดที่ให้รัฐภาคีสามารถนำเสนอแหล่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกได้เพียงปีละ 1 แหล่ง และจำกัดจำนวนแหล่งที่บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณาการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกปีละไม่เกิน 33 แหล่ง
คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม จึงพิจารณากำหนดกรอบเวลาในการนำส่งเอกสารฯ ของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่จะเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาภายในประเทศอย่างเป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งมรดกวัฒนธรรมในบัญชีชั่วคราว 4 แหล่ง ได้แก่
1. กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด
2. อนุสรณ์สถาน แหล่งต่าง ๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงล้านนา
3. พระธาตุพนม กลุ่มสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง
4. สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา