ไลฟ์สไตล์

หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง จากวิกฤตโควิด สู่เส้นทางสร้างรายได้ไหมแพรวา

หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง จากวิกฤตโควิด สู่เส้นทางสร้างรายได้ไหมแพรวา

27 มี.ค. 2568

เปิดใจ "อังคาร ไชยมหา" เล่าจุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็นช่างทอผ้าไหมแพรวา ราชินีแห่งไหมไทย มรดกล้ำค่าสืบสานรุ่นสู่รุ่น

นายอังคาร ไชยมหา เยาวชนคนรุ่นใหม่ผู้หลงใหลในเสน่ห์ผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ "ไชยมหา" เปิดใจถึงจุดเริ่มต้นของการหันมาสนใจการทอผ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากคุณแม่และคุณยายของเขาประกอบอาชีพทอผ้าอยู่แล้ว ภาพที่เห็นท่านทั้งสองทอผ้ามาโดยตลอดฝังอยู่ในความทรงจำ กระทั่งในช่วงที่สถานการณ์ Covid-19 ระบาดอย่างหนัก และเป็นช่วงที่เขาเรียนจบใหม่ๆ ยังไม่มีงานทำ นายอังคารจึงตัดสินใจลองเรียนรู้การทอผ้าอย่างจริงจังจากคุณแม่และคุณยาย

 

หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง จากวิกฤตโควิด สู่เส้นทางสร้างรายได้ไหมแพรวา

 

 

 

ด้วยความคุ้นเคยและพื้นฐานที่มีอยู่ ประกอบกับการเรียนรู้อย่างใกล้ชิดจากผู้เป็นแม่และยาย ทำให้นายอังคารสามารถทอผ้าเป็นภายในระยะเวลาเพียงครึ่งเดือน และเกิดเป็นความรักความชอบในงานทอผ้าอย่างต่อเนื่อง
 

หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง จากวิกฤตโควิด สู่เส้นทางสร้างรายได้ไหมแพรวา

 

ผ้าที่นายอังคารให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการผ้าไหมไทย ด้วยลวดลายอันเป็นมงคลและงดงาม อาทิ ลายแพรวา ลายพญานาค และลายขันหมากเบง นายอังคารได้นำแรงบันดาลใจจากลวดลายดั้งเดิมเหล่านี้มาปรับประยุกต์และพัฒนาเป็นลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

 

หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง จากวิกฤตโควิด สู่เส้นทางสร้างรายได้ไหมแพรวา

 

นอกจากนี้ เขายังได้สร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ ที่มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เช่น ลายกวาง ลายดอกไม้ รวมถึงการพัฒนาโทนสีของผ้าไหมแพรวา จากเดิมที่นิยมใช้สีแดง ก็ได้มีการนำเสนอสีสันที่หลากหลายและอ่อนหวานขึ้น อาทิ สีพาสเทล สีชมพูอ่อน สีเขียว และสีม่วง สำหรับลายผ้าที่เขาชื่นชอบมากที่สุดคือ ลายพันมหา หรือมหาเศรษฐี ซึ่งเป็นลายที่มีความหมายอันเป็นมงคลและสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ตามความเชื่อของผ้าไหมแพรวา

หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง จากวิกฤตโควิด สู่เส้นทางสร้างรายได้ไหมแพรวา

ด้วยผลงานที่โดดเด่นทั้งในด้านลวดลายและสีสัน ทำให้ผ้าไหมแพรวา "ไชยมหา" ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ที่ชื่นชอบผ้าไหมไทย ลูกค้าต่างชื่นชมในความประณีตและความคิดสร้างสรรค์ที่ถ่ายทอดลงบนผืนผ้า

เมื่อถามถึงผลตอบรับและยอดขาย นายอังคารเผยว่า โดยเฉลี่ยแล้วสามารถจำหน่ายผ้าไหมแพรวาได้ประมาณเดือนละ 2 ผืน เนื่องจากกระบวนการทอผ้าไหมแพรวามีความละเอียดและต้องใช้เวลานาน อย่างไรก็ตาม ลูกค้ายังคงให้ความสนใจและสั่งจองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการทอผ้าของเขามีทั้งแบบทอดั้งเดิมตามลวดลายโบราณ และการทอตามความต้องการของลูกค้า นอกจากผืนผ้าแล้ว ยังมีการนำผ้าไหมแพรวาไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ง่ายและเข้ากับยุคสมัย เช่น ชุด เสื้อเชิ้ต และกางเกงผ้าไหม

 

หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง จากวิกฤตโควิด สู่เส้นทางสร้างรายได้ไหมแพรวา

สำหรับระยะเวลาในการทอผ้าไหมแพรวา 1 ผืน จะขึ้นอยู่กับรายละเอียดและความซับซ้อนของลวดลาย หากเป็นลายที่มีการลงสีน้อย อาจใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน แต่หากเป็นลายที่มีรายละเอียดมาก มีการสลับสีสันหลากหลาย อาจต้องใช้เวลาถึง 8 เดือน หรือนานกว่านั้น

 

นอกเหนือจากการทอผ้าแล้ว นายอังคารยังได้สร้างสรรค์คอนเทนต์เกี่ยวกับการนุ่งผ้าและการแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอการแต่งกายของชนเผ่าภูไท ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวกาฬสินธุ์ที่อพยพมาจากประเทศลาว ซึ่งมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น เสื้อดำ ชุดดำ นุ่งสโล่ง และคาดผ้าแพรวา โดยเขานำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมและสร้างความสนใจในผ้าไทย

 

ในตอนท้าย นายอังคารได้ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจหรือกำลังมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย หรือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ให้ลองหันมาสนใจผ้าไหมแพรวาและผ้าไทยอื่นๆ ไม่ว่าจะลองศึกษา เรียนรู้ หรือนำมาสวมใส่และตัดเย็บ เพราะเป็นการช่วยสืบสานและอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน