รู้จัก 'กมลนาถ องค์วรรณดี' ผู้พาทีม 'ซอฟต์พาวเวอร์' ด้าน แฟชั่น ออกยกชุด
รู้จัก 'กมลนาถ องค์วรรณดี' แฟชั่นดีไซเนอร์ ชื่อดัง แบรนด์ระดับโลก หลังพาทีม 'ซอฟต์พาวเวอร์' ด้าน แฟชั่น ลาออกยกชุด
การประกาศยุติการดำเนินงาน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่น ยกทีม นำโดย “กมลนาถ องค์วรรณดี” ประธานกรรมการและกรรมการฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 กลายเป็นที่สนใจของสังคมทันที คมชัดลึก พาไปทำความรู้จัก “อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี” ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “แฟชั่นดีไซเนอร์” ตัวแม่
“อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี” ทำงานในแวดวงแฟชั่นมาหลากหลายด้าน ทั้งในฐานะนักออกแบบ บล็อกเกอร์ที่สนใจเรื่องเสื้อผ้าในแง่ของงานคราฟต์ เจ้าของบล็อกยุคบุกเบิกอย่าง Vanillawalk และการทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ประเทศไทย
จุดเริ่มต้นแวดวงแฟชั่น หลังจากจบการศึกษา และสั่งสมประสบการณ์จากการฝึกงาน และทำงานเกี่ยวกับแฟชั่นมาหลากหลาย จากเดิมที่เป็นนักออกแบบแฟชั่นเพื่อความสวยงาม ในลักษณะของการวาดลวดลาย เพื่อสั่งผลิตเป็นเสื้อผ้าจำนวนมาก
ต่อมาเธอเริ่มมีความคิดว่า จะสามารถออกแบบเสื้อผ้า ให้มีความคิดสร้างสรรค์อย่างไร ที่นอกเหนือไปจากเพื่อความสวยงาม เธอเลยตัดสินใจเรียนต่อด้านสิ่งทอที่ประเทศอังกฤษ โดยช่วงที่เรียนต่อ ได้เจอกับผู้อำนวยการของ Fashion Revolution ที่เปิดรับ student ambassador ให้นักศึกษาสมัครเป็นตัวแทนเพื่อนำเสนอเรื่องราว เธอเลยสมัครจัดกิจกรรม พอกลับมาไทย ทาง Fashion Revolution ให้เธอทำต่อที่ไทยภายใน 1-2 ปี
Fashion Revolution ได้สร้างมูฟเมนต์ให้คนตระหนักถึงปัญหาของ Fast Fashion ผ่านกิจกรรมมากมาย ภายใต้ ‘Fashion Revolution Week’ ซึ่งจัดขึ้นในเดือน เม.ย.ของทุกปี โดยมีแคมเปญอย่าง Clothes Swap หรือกิจกรรมแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ามือสอง เพื่อเป็นการลดขยะจากการบริโภคแฟชั่นที่มากเกินไป รวมถึงแคมเปญการติดเเฮชเเท็ก #WhoMadeMyClothes ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้แบรนด์แฟชั่น หันมาดูแลโลก และใส่ใจทรัพยากรมนุษย์มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการผลิตสินค้าอย่างโปร่งใส ฯลฯ
เพจ greenery ให้นิยามตัวตน “กมลนาถ องค์วรรณดี” ว่า “แฟชั่นดีไซเนอร์ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนมุมมองแฟชั่นใหม่ให้ดีต่อโลก นักขับเคลื่อนที่เชื่อมั่นในวิถีแห่งการบริโภค และความยั่งยืน” คนนอกวงการอาจจินตนาการ ไม่ออก แต่ภารกิจของ Fashion Revolution ดูจะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่ทำให้การส่งเสริมแฟชั่น ในฐานะ Soft Power ของประเทศไทยสู้กับแฟชั่นในระดับเวทีโลกได้
และจากการที่เธอคือคนที่ทำงานด้านนี้มาอย่างเข้มข้น และยาวนาน เธอจึงถูกเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนสาขาแฟชั่น ที่ความคิดเธอ คืออยากผลักดัน Slow Fashion ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามของ Fast Fashion ด้วยการหันมาสนับสนุนแบรนด์ท้องถิ่น ให้คุณค่ากับกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้าน รวมถึงการสนับสนุนการใช้เสื้อผ้ามือสอง ที่จะช่วยลดวงจรการทำลายโลก ก่อนที่สุดท้าย เธอจะตัดสินใจยุติบทบาทอันยิ่งใหญ่นี้ไปในที่สุด
ขอบคุณที่มาข้อมูล : mirrorthailand, adaymagazine
ขอบคุณภาพจากเพจ : Kamonnart Ong