"คลองเตย" ชุมชนนี้มีที่มา แต่ “ชาวชุมชนคลองเตย” วันนี้ (ยัง) ไม่มีที่ไป
รู้หรือไม่ว่าพื้นที่ "สลัมคลองเตย" หรือ "ชุมชนแออัดคลองเตย" อันมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลใจกลางกรุงเทพฯ นั้นมีที่มาอย่างไร และในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไป
“คลองเตย” เป็นหนึ่งในห้าสิบเขตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่และการพัฒนาตามแนววงแหวนอุตสาหกรรม หากแต่ทุกครั้งที่พูดถึง “คลองเตย” หลายคนอาจนึกถึง “ชุมชนแออัด” เป็นอันดับแรกเพราะ “ชุมชนแออัดคลองเตย” หรือที่เดิมเรียกกันว่า “สลัมคลองเตย” กลายเป็นพื้นที่สำคัญของเขตคลองเตย แต่ทั้งนี้หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนว่าพื้นที่ที่เราเห็นว่าเป็น “ชุมชนแออัด” อันมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลใจกลางกรุงเทพฯ นั้นมีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งวันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ จะพาไปรู้จักพื้นที่แบบเจาะลึกว่ากว่าจะเป็นชุมชนคลองเตยในวันนี้ พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นอะไรมาก่อน และในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไป
ประวัติความเป็นมา
“คลองเตย” ได้ชื่อตามคลองอันเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น สันนิษฐานจากชื่อเรียก “ต้นเตย” ที่ขึ้นมาก บริเวณริมคลองนั้น สมัยก่อนเป็นที่เปลี่ยว พื้นที่เป็นท้องนาและสวนผักอยู่โดยมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมใช้เรือเป็นพาหนะขึ้นล่องไปมาค้าขายตามลำคลอง ภายหลังเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อการคมนาคมคับคั่ง ความเจริญตามมา จำต้องขยายถนนและถมคลองเสีย ตำบลคลองเตย จึงไม่มีคลองอีกต่อไป
ชุมชนคลองเตยมีที่มาอย่างไร
จากการก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2481 – 2490 นั้น ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับคลองเตยอย่างรุนแรง การก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพ มีความจำเป็นต้องใช้วัสดุก่อสร้าง และแรงงานจำนวนมาก จึงมีการจ้างแรงงานช่าง และแรงงานกรรมกรไทยเป็นจำนวนมาก แรงงานส่วนใหญ่ถูกนำมาจากต่างจังหวัด และสร้างแคมป์พักคนงานในบริเวณที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั่นเอง เมื่อการก่อสร้างเสร็จ ประชากรเหล่านั้นจึงลงหลักปักฐานกันอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่ท่าเรือ (ตามแนวสองฟากฝั่งทางรถไฟสายแม่น้ำ) และมีการถ่ายเทเพิ่มเติม เปลี่ยนมือกรรมสิทธิ์กันมากยิ่งขึ้น ด้วยความต้องการที่อยู่อาศัยระหว่างกรุงเทพฯ พัฒนาทางเศรษฐกิจช่วง พ.ศ. 2510-2530 จึงเกิดเป็นชุมชน (แออัด) ขนาดใหญ่ขึ้นและขยายตัวออกไปอย่างไม่มีทิศทางดังนั้นชุมชนคลองเตยจึงเกิดขึ้นจากการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ โดยมีท่าเรือกรุงเทพเป็นปัจจัยหลัก ขณะเดียวกันภูมิหลังของพื้นที่เคยเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญมาก่อนแต่ถูกทิ้งร้างและเปลี่ยนหน้าที่ใช้งานไป ความแออัดของชุมชนเกิดจากการกระจุกตัวภายในพื้นที่แคบๆ ระหว่างท่าเรือและทางรถไฟตามแนวยาวของแม่น้ำ
ต่อมาในปี พ.ศ.2503 สหรัฐอเมริกาขอตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นในการทำสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐมีความต้องการแรงงานในการจัดตั้งฐานทัพ ตลอดจนทำงานต่าง ๆ ภายในที่ตั้ง จึงทำให้ผู้คนในต่างจังหวัดที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานคร พากันหลั่งไหลเข้ามาหางานทำ เพราะเชื่อว่ากองทัพสหรัฐจ่ายค่าแรงงามและไม่อั้น
คลองเตย จึงเป็นเป้าหมายหนึ่งของแรงงานอพยพ ในขณะที่การท่าเรือก็เริ่มมีปัญหากับแรงงานที่นำมาก่อสร้างท่าเรือเสร็จแล้วไม่ยอมกลับ พากันยึดแคมป์คนงานเป็นที่พักอาศัย และประกอบอาชีพต่อเนื่องจนกลายเป็นชุมชนย่อยๆ ขึ้นมาบนที่ดินของการท่าเรือ การท่าเรือพยายามแก้ปัญหาด้วยการรับเอาคนงานบางส่วน เข้าทำงานเป็นพนักงานการท่าเรือ และจัดสร้างบ้านพักเป็นห้องแถวริมถนนอาจณรงค์ แบ่งออกเป็นล็อกๆ ละ 8 ห้อง รวม 12 ล็อก
จากการหลั่งไหลของแรงงานต่างจังหวัด ทำให้การท่าเรือไม่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับชุมชนแค้มป์คนงานในพื้นที่ แม้ว่าจะรับคนงานเหล่านี้เข้าเป็นพนักงานการท่าเรือ และสร้างบ้านให้อยู่กันเป็นสัดส่วนแล้วก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าพนักงานของการท่าเรือเหล่านี้เอง ที่เป็นคนไปชักชวนแรงงานที่อพยพเข้ามาหางานทำกับฐานทัพอเมริกัน ให้เข้ามาปลูกสร้างบ้านพักชั่วคราวบริเวณหลังบ้านพนักงานการท่าเรือ จึงเรียกชุมชนเหล่านี้ว่า “ล็อก” ตามล็อกห้องแถวบ้านพักพนักงานการท่าเรือ คือตั้งแต่ล็อก 1 ถึง ล็อก 12
หลังจากรัฐบาลเริ่มจัดการกับสลัมย่อยๆ ในพื้นที่ต่างๆ โดยการไล่รื้อ ทำให้ชาวสลัมที่ถูกไล่รื้อพากันอพยพเข้ามายึดพื้นที่รอบ ๆ พื้นที่ใช้งานของการท่าเรือ และปลูกสร้างบ้านเรือนขึ้นมา ในประมาณปี 2510 จนถึง 2513 พื้นที่คลองเตยจึงกลายเป็นสลัมขนาดใหญ่ และการท่าเรือก็เริ่มใช้วิธีรุนแรงในการผลักดันสลัมเหล่านี้ออกไปจากพื้นที่ เริ่มจากสลัมรอบในที่อยู่ติดกับลานและโกดังสินค้าของการท่าเรือ โดนขับไล่ด้วยการนำเอาเลนที่เรือขุดดูดขึ้นมาจากสันดอน มาพ่นใส่พื้นที่ตั้งสลัม จนทำให้ชาวบ้านต้องรื้อย้ายบ้านเบียดรวมเข้าไปกับสลัมใหม่หลังบ้านพักพนักงานการท่าเรือ บางส่วนย้ายหนีลงไปสมทบกับสลัมรอบๆ ทำให้กลายเป็นสลัมขนาดใหญ่ขึ้น
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2520 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงเริ่มผ่อนคลายความรุนแรงลง เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการประนีประนอมกับสลัมมากขึ้น และสลัมคลองเตย เป็นสลัมแห่งแรก ที่รัฐบาลทดลองนำโครงการพัฒนาต่างๆ เข้ามา เพื่อพัฒนาสลัมคลองเตยเป็นการนำร่องไปสู่การพัฒนาสลัมในที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย
สลัมคลองเตย จึงเป็นสลัมแม่บทในการพัฒนา และยกระดับแหล่งเสื่อมโทรมที่ผิดกฎหมาย ให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสามารถอยู่ร่วมกับสังคมเมืองได้อย่างกลมกลืน ในปี 2521 จึงมีการทดลองจัดตั้งผู้นำชุมชนขึ้น โดยการแยกสลัมออกเป็นส่วน ๆ ได้ทั้งหมด 18 สลัม และให้แต่ละสลัมมีคณะผู้นำของตัวเอง และมีการยกเลิกคำเรียกว่า “สลัม” ที่หมายถึงแหล่งเสื่อมโทรม ให้เรียกว่า “ชุมชนแออัด” แทน หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ชุมชน”
ปี พ.ศ. 2563 ภาพของชุมชนแออัดคลองเตย หรือสลัมคลองเตยที่เคยได้เห็นและได้ยินชื่อ กำลังถูกลบทิ้งจากความทรงจำ เพราะพื้นที่ดังกล่าวกำลังจะถูกยกระดับสู่สมาร์ท คอมมูนิตี้
"ชุมชนคลองเตย" หรือ "ชุมชนรอบท่าเรือกรุงเทพ" ซึ่งแบ่งออกเป็นชุมชนในพื้นที่ของ กทท.จำนวน 26 ชุมชน และชุมชนใต้ทางด่วน 5 ชุมชน ทั้งหมด 31 ชุมชน รวมกว่า 13,000 ครัวเรือน บนพื้นที่ 197 ไร่ กำลังจะถูกยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นจากในปัจจุบัน
โดยล่าสุด กระทรวงคมนาคมได้สั่งการเร่งรัดให้ กทท. พัฒนาพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนในพื้นที่ โดยเปลี่ยนจากชุมชนคลองเตย หรือสลัมคลองเตยที่เรียกกัน ให้เป็นสมาร์ท คอมมูนิตี้ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2563-2573
ผุดสมาร์ท คอมมูนิตี้ ลบชื่อสลัมคลองเตย
สำหรับสมาร์ท คอมมูนิตี้ จะตั้งอยู่บนพื้นที่ 58 ไร่ ซอยตรีมิตร ติดถนนริมทางรถไฟสายเก่า ด้านหลังติดริมคลองพระโขนง ประกอบด้วยคอนโดมิเนียม 4 อาคาร ความสูง 25 ชั้น ชั้นที่ 1-5 เป็นที่จอดรถ ชั้นที่ 6-25 เป็นห้องพักอาศัย ขนาดห้อง 33 ตารางเมตร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวม 6,144 ยูนิต มีลิฟต์โดยสาร อาคารละ 4 ตัว ลิฟต์ดับเพลิง อาคารละ 2 ตัว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบดูแลความปลอดภัยด้วยคีย์การ์ดเข้า-ออก
นอกจากนี้ยังมีอาคารส่วนกลางที่เป็นสถานที่ราชการ สำนักงานต่างๆ พื้นที่ให้เช่าภายในอาคาร พร้อมด้วยอาคารจอดรถส่วนกลาง อาคารตลาดหรือพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เช่าขายสินค้า โรงเรียน อาคารอเนกประสงค์อื่นๆ และพื้นที่สีเขียว
เสนอ 3 แนวทางเลือก ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวชุมชน
สำหรับชาวชุมชนคลองเตยทั้ง 31 ชุมชน กทท. ได้เสนอสิทธิประโยชน์ไว้ 3 แนวทางเลือก โดยสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์ได้ครอบครัวละ 1 สิทธิ ได้แก่
1. สิทธิห้องชุดขนาด 33 ตารางเมตร ในโครงการ เพื่ออยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่อยู่เดิม โดยอาจจะเก็บค่าเช่าในอัตราเดียวกับการเช่าพื้นที่ของกรมธนารักษ์ในสัญญาระยะยาว 30 ปี
2. สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินเปล่า 1 แปลง ขนาด 19.5 ตารางวา ย่านหนองจอก มีนบุรี มูลค่าแปลงละ 300,000 บาท จำกัดจำนวน 2,140 แปลง
3. สิทธิเงินทุนพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อใช้กลับไปใช้ชีวิตที่ภูมิลำเนาเดิมของตนเอง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวนเงินที่เหมาะสม
ทั้งนี้ เบื้องต้นพบว่า มี 50% ที่ต้องการรับสิทธิอยู่อาศัยในโครงการ อีก 30% ต้องการรับสิทธิเป็นที่ดินย่านหนองจอก-มีนบุรี และอีก 20% ต้องการรับสิทธิเงินทุนเพื่อกลับภูมิลำเนาเดิม โดย กทท. จะเร่งดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากร และสอบถามความต้องการที่ชัดเจนของชาวชุมชน พร้อมทั้งเร่งสำรวจออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อสร้างให้ได้ในปี 2563
แบ่ง 3 โซนพัฒนา สู่ศูนย์กลางเมืองใหม่ใจกลางเมือง
การพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยชุมชนคลองเตย เป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่ในใจกลางเมือง และมีศักยภาพในการรองรับธุรกิจพาณิชยนาวี ส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบกทท.ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยแนวทางการพัฒนาที่ดิน 2,353 ไร่ ของ กทท. จะถูกแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 โซน คือ
โซน 1 พัฒนาพื้นที่ด้านการค้า ซึ่งจะมีอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี 17 ไร่ ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า 54 ไร่ อาคารสำนักงาน 126 ไร่ (ไม่รวมตลาดคลองเตย) ศูนย์การค้าธุรกิจทันสมัยครบวงจร 15 ไร่ รวมถึงการพัฒนาสมาร์ท คอมมิวนิตี้ ก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่เพื่อรองรับชุมชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ
โซนที่ 2 พัฒนาธุรกิจหลัก การให้บริการท่าเรือกรุงเทพ โดยจะปรับพื้นที่จากปัจจุบัน 943 ไร่ เหลือ 534 ไร่ แล้วพัฒนาสถานีบรรจุสินค้าเพื่อส่งออก และบูรณาการพื้นที่หลังท่าเรือเป็นคลังสินค้าขาเข้าเขตปลอดภาษี มีจุดบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ พร้อมทำท่าเทียบเรือแห่งใหม่ ปรับปรุงท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออกให้ทันสมัย และมีโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือและทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ เพื่อระบายรถบรรทุกขาออกที่มุ่งหน้าไปยังถนนบางนา-ตราดมายังท่าเรือกรุงเทพ
โซนที่ 3 พัฒนาเป็นเมืองท่าเรือกรุงเทพ โดยพื้นที่ส่วนนี้จะอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเมืองใหม่สำหรับรองรับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ส่งเสริมให้มีโครงการมิกซ์ยูส โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ รวมถึงพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวทางน้ำแบบครบวงจร
การพัฒนาชุมชนคลองเตยซึ่งเป็นชุมชนแออัดที่มีขนาดใหญ่ มีทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหายาเสพติด และปัญหาอาชญากรรม ด้วยการก่อสร้างโครงการสมาร์ท คอมมูนิตี้ เป็นส่วนหนึ่งในแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่ในใจกลางเมืองในอนาคต ควบคู่ไปกับการยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนให้ดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งขณะนี้ กทท.อยู่ระหว่างทำสำรวจสำมะโนประชากร เพื่อสำรวจจำนวนประชากรและสอบถามความต้องการของแต่ละครัวเรือน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ชาวชุมชนคลองเตย 261 ชุมชน ได้นัดรวมตัวกันบริเวณหน้ากรมศุลกากร ก่อนเดินทางไปยังการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อคืนแบบสำรวจเรื่องที่อยู่อาศัยที่ เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่ กทท.จะให้คนในชุมชนย้ายที่อยู่อาศัยโดยไม่มีการประชุมหารือกับชาวบ้าน โดยแกนนำและชาวบ้านได้ขอต่อรอง ให้คนที่อยู่ในชุมชนคลองเตยมายาวนานสามารถไปหนองจอกได้ เพราะไม่มีภูมิลำเนาให้กลับ แต่ขอให้เยียวยาด้วยการจัดหาที่ดินว่างเปล่าให้กับชาวบ้าน เพื่อสร้างโครงการบ้านมั่นคง ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจะยื่นให้กับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เพื่ออนุมัติสร้างบ้านมั่นคง โดยชาวชุมชนจะขอเช่าที่ เพื่อสร้างบ้านในราคาถูกต่อไป
กว่า 80 ปีที่บรรดาแรงงานเข้ามาอาศัยพื้นที่จนหลอมรวมเป็น “ชุมชนคลองเตย” แต่ ณ วันนี้ “ชาวชุมชนคลองเตย” จะมีเส้นทางเดินต่อไปอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป
ข้อมูล : สำนักงานเขตคลองเตย /
ศูนย์กลางข้อมูลชุมชนคลองเตยเพื่อการเรียนรู้
https://www.ddproperty.com/
ภาพ : https://www.ddproperty.com/
http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=1070323
https://www.carrushome.com/