"ยาลิ้นฟ้า" โรฮิบนอล คืออะไร อมใต้ลิ้น แล้ว หลอน แบบ มอส คลองขวาง จริงหรือไม่
"ยาลิ้นฟ้า" โรฮิบนอล Rohyphol 542 คืออะไร เทรนด์ใหม่ มาแรง อมใต้ลิ้น แล้ว หลอน แบบ "มอส คลองขวาง" จริงหรือไม่ อย.มีคำตอบแล้ว
จากกรณี "มอส คลองขวาง" ใช้อาวุธปืนบุกยิงถล่มบ้านหลังหนึ่ง ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย โดยผู้เสียหาย มีการอ้างถึง "ยาลิ้นฟ้า" 542 ที่ มอส คลองขวาง อมไว้ใต้ลิ้นตลอดเวลา จนเกิดอาการหลอน ซึ่งเกิดจากการเคี้ยวยาลิ้นฟ้า หรือ ยาโรฮิบนอล (Rohypnol 542) ขณะเดียวกันในตอนนี้ ประเทศไทยมีกระแส ยาลิ้นฟ้า กลายเป็นเทรนด์ใหม่ เกลื่อนโซเซียล จึงเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยาลิ้นฟ้า คืออะไร มีผลอะไร และส่งผลให้มึนเมา จนหลอน ทำให้ มอส คลองขวาง ก่อเหตุอุกอาจเช่นนั้นหรือไม่
"ยาลิ้นฟ้า" หรือยาโรฮิบนอล ( Rohypnol 542) เป็นยาระงับประสาทชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม ยามอมสาว มีชื่อทางเคมีคือ ฟลูนิแทรซิแพม (Flunitrazepam) จัดอยู่ในกลุ่มของยาคลายกล้ามเนื้อพวกยาซาแน็กซ์ (Xanax) และยาแวเลียม (Valium) มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการง่วงซึม และความจำเสื่อมชั่วขณะ
สำหรับในทางการแพทย์ ยาโรฮิบนอลเป็นยานอนหลับ มีฤทธิ์ทำให้นอนหลับ และสูญเสียความทรงจำชั่วขณะ จึงนิยมใช้เป็นยานอนหลับ ยานำสลบ และสงบประสาทก่อนทำการผ่าตัด การออกฤทธิ์เร็วหลังรับประทาน ภายใน 20-30 นาที หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และฤทธิ์จะอยู่นานประมาณ 8-12 ชั่วโมง
ยาลิ้นฟ้า หรือ ยาโรฮิบนอล ถือเป็นยาที่ผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา แต่ในบางประเทศยาดังกล่าวถูกกฎหมาย และถูกนำไปใช้เพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับ นอกจากนี้ ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ยามอมสาว เนื่องจากมีการนำยานี้ไปใช้ในทางที่ผิดอยู่บ่อยครั้ง เช่น ใช้นำไปมอมผู้หญิงเพื่อให้เหยื่อหมดแรงต่อสู้ และจำอะไรที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ เป็นผลให้เกิดการก่อเหตุร้ายตามมา ดังนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายยาโดยจิตแพทย์ เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย
อันตรายจากการใช้ยาลิ้นฟ้า
สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ หรืออันตรายจากการใช้ยาลิ้นฟ้า ได้แก่ ง่วงซึม มึนงง เดินเซ ปวดศรีษะ และความจำในระหว่างที่ได้รับยาลดลง การตัดสินใจไม่ดี ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการสั่นและฝันร้าย
ผู้ที่ใช้ยาลิ้นฟ้า หรือ ยาโรฮิบนอล ไม่ควรใช้ในขณะขับขี่ยานพาหนะ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานอื่นที่ต้องการความตื่นตัว เนื่องจากอาจมีอาการนอนไม่หลับ ประสาทหลอน พฤติกรรมผิดปกติ จนเกิดเป็นอาการหลอนทางประสาทได้
การใช้ยาลิ้นฟ้า ในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถควบคุมตัวเอง เป็นลมหมดสติ และความจำเสื่อมชั่วขณะได้ นอกจากนี้ การใช้ยาร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาเสพติดอื่น ๆ จะทำให้ผู้ใช้เป็นลมหมดสติ และสูญเสียความทรงจำในช่วงเวลาที่ยาออกฤทธิ์
ผลกระทบระยะยาว หากมีการใช้ยานี้มาเป็นระยะเวลานาน จนเกิดอาการดื้อยา จะส่งผลทำให้ต้องใช้ยาในปริมาณมากยิ่งขึ้น เป็นเหตุทำให้เกิด อาการเสพติดยา นั่นเอง
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เปิดเผยว่า ยาโรฮิบนอล 542 หรือยาลิ้นฟ้า ถือเป็นยาควบคุม จะไม่มีขายทั่วไป ต้องเป็นการจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น โดยโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลใดจ่ายยาดังกล่าว ก็ต้องทำรายงานมาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
นพ.สุรโชค ย้ำว่า ยาโรฮิบนอล เป็นยาที่ไม่อนุญาตให้ขายทั่วไป แม้กระทั่งในร้านขายยา ดังนั้น ข้อสำคัญคือ ยาที่ขายในอินเทอร์เน็ต จะเป็นของจริงหรือไม่ เพราะหลายครั้งผู้ที่ขาย อาจนำยาชนิดอื่นมาผสม ใส่สีให้เหมือน แล้วอ้างว่าเป็นยาลิ้นฟ้า หรือยาโรฮิบนอล
ส่วนกรณีที่ยาดังกล่าวออกฤทธิ์ให้นอนหลับ แล้วจะก่อให้เกิดอาการหลอนนพ.สุรโชค กล่าวว่า ต้องดูว่าเป็นยาจริงหรือไม่ อาจเป็นยาอื่นที่ถูกหลอกขายมา รวมถึงอาจเป็นการใช้ที่ไม่ถึงโดสนอนหลับ ก็จะเกิดอาการสะลึมสะลือ แต่ที่สำคัญต้องดูว่า ใช่ยาจริงหรือไม่ เพราะทางการแพทย์ก็ไม่ได้ใช้ในปริมาณมาก และต้องมีการรายงานการใช้ด้วย
ขอบคุณภาพจาก หมอแล็บแพนด้า
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote