ไลฟ์สไตล์

รู้จักประเพณี "ตักบาตรน้ำผึ้ง" สืบทอดชาวไทยเชื้อสาย มอญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10

รู้จักประเพณี "ตักบาตรน้ำผึ้ง" สืบทอดชาวไทยเชื้อสาย มอญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10

10 ก.ย. 2565

"ตักบาตรน้ำผึ้ง" เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวไทยเชื้อสายมอญ มีขึ้นในวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ลักษณะของการตักบาตรน้ำผึ้ง เหมือนกับการตักบาตรโดยการใส่ข้าวหรือว่าอาหารอื่นๆ เพียงแต่เปลี่ยนเป็นน้ำผึ้งแทน

ประเพณี "ตักบาตรน้ำผึ้ง" ได้สืบทอดกันมาช้านานซึ่ง ชาว มอญได้ปฏิบัติต่อๆ กันมาเป็นประเพณีหนึ่งของชาวบ้านที่แสดงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาทางวัดจะจัดเตรียมบาตรไว้บนศาลาการเปรียญสำหรับให้ชาวบ้านนำน้ำผึ้งรินลงในบาตรที่ใต้บาตรมีผ้าขนาดผ้าเช็ดหน้าวางอยู่ด้วย น้ำผึ้งที่ชาวบ้านตักใส่บาตรไว้นั้น วัดจะรวบรวมเพื่อใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรคชาวมอญเชื่อว่าการตักบาตรดังกล่าวมีอานิสงส์มากเพราะพระสงฆ์จะเก็บน้ำผึ้งไว้เพื่อใช้เป็นยาในคราวจำเป็นเมื่อเกิดอาพาธ เพราะน้ำผึ้งเป็นส่วนผสมที่สำคัญของยาดังนั้นชาวมอญจึงมีความเชื่อว่าการถวายน้ำผึ้งแด่พระสงฆ์จะได้อานิสงส์มากและจะเป็นผู้ที่อุดมไปด้วยลาภยศทั้งชาตินี้และชาติหน้า

 

 

"ตักบาตรน้ำผึ้ง" เป็นประเพณีถวายเภสัชแก่พระภิกษุสงฆ์ นิยมปฏิบัติในภาคกลาง กระทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาว มอญ ซึ่งแต่เดิมนั้น ชาวมอญอาศัยอยู่ทางตอนล่างของประเทศพม่า กระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 16 ชนชาติพม่าได้ขยายอิทธิพลลงมา ทำให้ชาวมอญต้องอพยพมาสู่ดินแดนภาคกลางของไทยเป็นระยะ พร้อมกันนี้ ได้นำศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ จารีตประเพณี และวิถีชีวิตของตนเองตามมาด้วย         

 

 

 

ที่มาของการ "ตักบาตรน้ำผึ้ง"

การถวายทานด้วยน้ำผึ้ง ปรากฏในชีวประวัติของ “พระสีวลี” พุทธสาวกที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องให้เป็น “ภิกษุที่เลิศทางมีลาภ” โดยในอดีตชาติหนึ่งนั้น พระสีวลีเกิดเป็นชาวบ้านธรรมดา ในตำบลใกล้เมืองพันธุมวตี แต่เป็นผู้ขยันขันแข็งด้านการถวายทาน อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวเมืองสมัยนั้นนิยมถวายทานแข่งกับพระราชา โดยชาวเมืองเห็นว่าน้ำผึ้งกับเนยแข็งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในทานของพวกเขา จึงจำเป็นต้องจัดหามาถวายทานให้ได้เพื่อจะได้ไม่น้อยหน้าพระราชา ดังนั้น จึงแต่งตั้งคนดูต้นทาง ให้สอดส่องสังเกตหน้าประตูเมืองว่ามีใครมีของสองสิ่งนี้ติดตัวมาบ้าง

            

 

ขณะเดียวกัน สีวลีหนุ่ม ก็กำลังเดินทางเข้าเมืองพร้อมด้วยเนยแข็งเพื่อนำไปแลกกับสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งระหว่างทาง เขาได้พบรวงผึ้งขนาดเท่างอนไถที่ไม่มีผึ้งอาศัยอยู่ จึงนำติดตัวไปด้วย เมื่อผ่านประตูเมือง คนดูต้นทางไม่รอช้า เข้าเจรจาขอซื้อเนยแข็งกับรวงผึ้งทันทีในราคา 1 กหาปณะ (4 บาท) แต่สีวลีหนุ่มคิดว่านี่เป็นราคาที่สูงเกินไป จึงต้องการจะสืบต้นสายปลายเหตุให้รู้แน่ เขาจึงโก่งราคาไปเรื่อย ๆ จนสูงถึง 1,000 กหาปณะ จึงได้สอบถามจนได้ความตามต้น สีวลีหนุ่มจึงตัดสินใจไม่ขาย แต่จะขอใช้น้ำผึ้งกับเนยแข็งนี้ร่วมทำบุญกับชาวเมืองด้วย ทั้งยังตั้งจิตอธิษฐานให้ผลบุญนี้ทำให้ตนเป็นเลิศในลาภยศในอนาคตด้วย

            

 

การถวายน้ำผึ้งของชาว มอญ จึงเป็นความเชื่อที่มีผลพวงมาจากการที่ชาวมอญนั้นมีความเคารพ ศรัทธาในพระสีวลี จึงมีประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งสืบทอดต่อกันมา การที่ชาวมอญได้ถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุสงฆ์ตามแบบอย่างที่พระสีวลีเคยทำในชาติก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ในปัจฉิมชาติ ที่ได้เป็นเอตทัคคะทางด้านการมีลาภมากนั้น ชาวมอญเชื่อว่าการถวายน้ำผึ้งจะเป็นทางที่จะทำให้ผู้ที่ถวายจะมีโชคมีลาภ เหมือนกับพระสีวลี หากไม่สมหวังในชาตินี้ ในชาติหน้านั้นก็คงจะได้อย่างแน่นอน

 

ในสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกิริยาแล้ว พระพลานามัยยังไม่ฟื้นคืนดังเดิม วันหนึ่ง นางสุชาดานำข้าวมธุปายาส (ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมเจือน้ำผึ้ง) มาถวาย ก็ปรากฏว่าพระวรกายฟื้นฟูกลับมาอย่างรวดเร็ว มีพระปรีชาญาณจนตรัสรู้ได้ในที่สุด ทั้งยังมีคราวหนึ่ง ในช่วงเดือน 10 พระภิกษุร่างกายชุ่มด้วยน้ำฝน ต้องเหยียบย่ำโคลนตม เกิดอาพาธอาเจียนหลายรูป กายซูบเศร้าหมอง พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุฉันน้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยข้น เนยใส และน้ำมันพืชได้ในยามวิกาล โดยถือเป็นยารักษาโรคและบำรุงร่างกาย การตักบาตรน้ำผึ้งจึงเป็นการถวายเภสัชทาน บำรุงสุขภาพภิกษุสงฆ์ เป็นการสืบต่อพุทธศาสนาได้ทางหนึ่ง จึงยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีเรื่อยมา

 

 ประเพณี "ตักบาตรน้ำผึ้ง" ในเมืองไทย             

 

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10  โดยก่อนวันพิธีตักบาตรน้ำผึ้ง ชาวบ้านจะเตรียมทำข้าวต้มเพื่อไปทำบุญ แต่ละบ้านจะทำข้าวต้มไม่เหมือนกัน เช่น ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มคลุก ข้าวต้มมัด ข้าวต้มลูกโยนมีลักษณะลูกกลมห่อด้วยยอดจาก จะทิ้งหางยาว ข้าวต้มคลุกมีลักษณะลูกใหญ่และยาวห่อด้วยยอดจากเวลาทานต้องหั่นเป็นชิ้นคลุกด้วยน้ำตาลทราย เกลือ และมะพร้าวขูด ข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มผัดมีลักษณะเป็นยาวข้างในใส่ถั่วดำและกล้วยห่อด้วยใบตองหรือใบจากก็ได้ประกบคู่แล้วมัดด้วยยอดจากฉีกครึ่ง เมื่อถึงช่วงเย็นของวันที่ทำข้าวต้มมัดหรือข้าวต้ม ชาวบ้านจะให้ลูกหลานนำข้าวต้มนั้นไปส่งตามบ้านผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือ 

              

นอกจากพุทธศาสนิกชน จะนำอาหารและข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มลูกโยนไปทำบุญที่วัดกันตามปกติแล้ว จะนำน้ำผึ้งบริสุทธิ์ พร้อมด้วยน้ำตาลทรายกับผ้าแดงผืนเล็กติดตัวไปด้วย โดยจะตักหรือรินน้ำผึ้งใส่ในบาตรจำนวน 32 ใบ ที่เป็นสัญลักษณ์แทนอาการของมนุษย์ปกติ โดยต้องเป็นน้ำผึ้ง เดือนห้าแท้ ไม่ควรเป็นน้ำผึ้งผสม เพราะจะทำให้น้ำผึ้งบริสุทธิ์เสื่อมคุณภาพ ขณะที่น้ำตาลจะใส่ในฝาบาตร และผ้าแดงจะวางไว้หลังบาตร             

 

ประเพณีการ "ตักบาตรน้ำผึ้ง" ปัจจุบันประเพณียังคงมีให้เห็นในวัด มอญ หลายแห่ง อาทิ วัดบางน้ำผึ้งนอก วัดบางน้ำผึ้งใน จ.สมุทรปราการ, วัดสโมสร วัดชมภูเวก จ.นนทบุรี, วัดศรัทธาธรรม (วัดมอญ) ดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม เป็นต้น

 

ติดตาม คมชัดลึก คลิก

Line: https://lin.ee/qw9UHd2

YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565 ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote  ในครั้งนี้

รู้พร้อมกันที่ คมชัดลึก ทุก Platform

(https://awards.komchadluek.net/#)