"โรคฮิสโตพลาสโมซิส" เชื้อรา ฆ่าไม่ตาย ด้วย ความร้อน เช็ค อาการ ใครเสี่ยงสูง
ทำความรู้จัก "โรคฮิสโตพลาสโมซิส" Histoplasmosis เชื้อรา ที่ฆ่าไม่ตาย ด้วย ความร้อน เช็ค อาการ กลุ่มไหน เสี่ยงสูง เป็นแล้ว เสียชีวิต ได้ง่าย
จากกรณีที่ "หมอมนูญ" นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้แชร์ข้อมูลเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า หลังจากที่คณะเดินทางศึกษาธรรมชาติ ได้เดินเข้าไปในโพรงต้นไม้ใหญ่ในป่า เพื่อชมค้างคาวในเวลาเพียง 2-15 นาที ทำให้หลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์ 7 ใน 10 คน มีอาการไอ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เอกซเรย์ปอด พบมีจุดขนาดแตกต่างกันกระจายไปทั่ว โดยพบว่าป่วยเป็น "โรคฮิสโตพลาสโซิส" แล้วโรคนี้ สาเหตุเกิดจากอะไร รุนแรงหรือไม่ แล้วมีโอกาสพบในประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน
"โรคฮิสโตพลาสโมซิส" หรือ ฮิสโตพลาสโมสิส (Histoplasmosis) คือ เป็นโรคที่เกิดจากการหายใจสปอร์ของเชื้อรา ชนิด ฮิสโตพลาสมา แคปซูตาลุม (Histoplasma capsulatum) จากมูลค้างคาว หรือ นก ซึ่งเชื้อนี้ในระยะแรก จะเป็นการติดเชื้อในปอด หรือที่ผิวหนัง แต่เมื่อโรครุนแรงขึ้น เชื้อจะเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง และกระแสโลหิต ลุกลามแพร่กระจายไปได้ทุกเนื้อเยื่อ อวัยวะของร่างกาย เช่น สมอง ตับ ม้าม ไขกระดูก และกระดูก จนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
เชื้อรา ฮิสโตพลาสมา พบได้ที่ไหน
เชื้อราชนิดนี้ พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมของทุกสถานที่ ทั่วโลก ในดิน ตามตึกร้าง โรงนาเก่า โรงสีเก่า ซากหักพังต่าง ๆ ที่รวมถึงซากต้นไม้ แต่จะพบได้มากขึ้นในแหล่งที่เป็นที่อาศัยของนกและค้างคาว เนื่องจากเป็นเชื้อที่จะอยู่ในมูลของสัตว์เหล่านี้ และเชื้อรานี้ เจริญได้ดีในดินที่มีความชื้น และมีสารออร์กานิก (Organic compound) ต่าง ๆ เช่น มูลนก ซึ่งเชื้อรานี้จะสร้างสปอร์ (Spore) ได้ สปอร์นี้จะมีขนาดเล็กมาก มองเห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์ ที่โดยปกติคนจะหายใจเอาสปอร์เหล่านี้เข้าสู่ปอด หรือสัมผัสกับผิวหนังอยู่แล้ว แต่เป็นปริมาณไม่มาก ร่างกายจึงสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานเชื้อนี้ได้ แต่เมื่ออากาศแห้งแล้ง หรือมีการทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย เช่น พรวนดิน เดินในถ้ำ รื้อบ้าน ตึก โรงงาน หรือโรงนาเก่า ที่ทำให้คนสูดดมเชื้อรานี้เข้าไปมากขึ้น โดยเฉพาะในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านโรคต่ำ ร่างกายกำจัดเชื้อนี้ได้ไม่หมด เชื้อนี้จึงก่อให้เกิด "โรคฮิสโตพลาสโมซิส"
เชื้อฮิสโตพลาสมาฆ่าไม่ตายด้วยความร้อน
นอกจากนั้น เชื้อรา ฮิสโตพลาสมา ยังพบว่าสัตว์หลายชนิดก็เป็นโฮสต์ของราชนิดนี้ได้ เช่น ม้า วัว ควาย แมว สุนัข เป็ด ไก่ หนู และรวมถึงคน โดยเชื้อนี้มีชีวิตได้นานเป็น 10 ปีในดิน และเจริญได้ดีในอุณหภูมิช่วง -18-37 องศาเซลเซียส (Celsius) และถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้ หรือในที่แห้งแล้ง เชื้อนี้ก็ยังอยู่ได้ แต่จะอยู่ในรูปแบบของสปอร์ เชื้อนี้จึงฆ่าให้ตายได้ยากด้วยความร้อน แต่สามารถหยุดการเจริญเติบโต หรือตายได้ เมื่อใช้น้ำยาฆ่าเชื้อบางชนิด เช่น Sodium hypochlorite, 2% Phenol, Isopropyl alcohol, Formaldehyde
ข้อสำคัญ "โรคฮิสโตพลาสโมซิส" ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ติดต่อจากคนสู่คน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน หรือจากคนสู่สัตว์ หรือในระหว่างสัตว์
โรคฮิสโตพลาสโมซิส พบทั่วโลก แต่เป็นโรคที่พบไม่บ่อยมัก แต่มักเจอในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งจัดเป็นโรคประจำถิ่น นอกจากนั้น ยังพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ และผู้ใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ทั้งนี้พบโรคนี้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ เพศหญิงและเพศชาย มีโอกาสเกิดโรคได้เท่ากัน
"หมอมนูญ" ยกเคสตัวอย่าง ผู้ป่วยหญิงอายุ 45 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ไปเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช เดินเข้าโพรงต้นไม้ใหญ่ อยู่ห่างคลองวังหีบประมาณ 200 เมตร เพื่อไปดูค้างคาว ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย อยู่ในโพรงต้นไม้ประมาณ 3 นาที หลังจากนั้น 15 วัน เริ่มไอแห้ง ๆ บางครั้งไอมีเสมหะสีขาว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เดินขึ้นบันไดเหนื่อย เบื่อหาร น้ำหนักลด 2 กิโลกรัม ไม่มีไข้ ไม่ปวดหัว ไม่ปวดกระดูก ไปหาแพทย์วันที่ 5 ก.ย. 2565 เอกซเรย์ปอดผิดปกติ มีก้อนเล็ก ๆ กระจายทั่วปอดทั้ง 2 ข้าง ทำคอมพิวเตอร์สแกนปอด และช่องท้อง พบก้อนเล็ก ๆ ในปอดกระจายทั่วปอดทั้งสองข้าง ก้อนในปอดด้านล่างขนาดใหญ่ถึง 1 เซนติเมตร พบก้อนในต่อมหมวกไตข้างซ้ายขนาด 0.5 x 1.1 เซนติเมตร และม้ามโตเล็กน้อย ได้ทำผ่าตัด ตัดชิ้นเนื้อจากปอดด้านซ้าย ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา พบว่า มีเนื้อเยื่อตาย และการอักเสบแบบแกรนูโลมา (necrotizing granulomatous inflammation) ไม่พบวัณโรคย้อมสี พบเชื้อราลักษณะเป็นยีสต์ เพาะเชื้อราขึ้น Histoplasma capsulatum มีลักษณะเป็นราสาย Histoplasma อยู่ในกลุ่มรา (Dimorphic) อยู่ในเนื้อเยื่อมีรูปเป็นยีสต์ อยู่ในธรรมชาติมีรูปเป็นเส้นใยราสาย
สรุป : ผู้ป่วยเป็นโรคฮิสโตพลาสโมซิส จากการหายใจสปอร์ Histoplasma capsulatum หลังจากเข้าไปในโพรงต้นไม้เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2565 ทำให้เกิดปอดอักเสบ กระจายไปที่ต่อมหมวกไตและม้ามวันที่ 19 ก.ย. 2565 เนื่องจากอาการไม่หนักมาก จึงเริ่มยาฆ่าเชื้อราชนิดกิน ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) 200 มิลลิกรัม เช้า เย็น หลังกินยา 2 สัปดาห์ อาการและเอกซเรย์ปอดดีขึ้นช้า ๆ และจะให้ยารักษาต่อประมาณ 12 เดือน คนที่จะเข้าถ้ำหรือโพรงต้นไม้ ต้องใส่หน้ากากอนามัยแบบแพทย์ใส่ในห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันหายใจสปอร์ของเชื้อราเข้าปอด
อาการ โรคฮิสโตพลาสโมซิส (ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ)
- ไข้สูงเฉียบพลัน
- เหงื่อออกมาก
- หนาวสั่น
- ไอมากมักไม่มีเสมหะ(แต่มีเสมหะก็ได้) อาจมีไอเป็นเลือด
- เจ็บหน้าอก
- อาจหายใจลำบาก
- เบื่ออาหาร
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดข้อ
- เอกซเรย์ปอด พบมีปอดอักเสบ อาจมีต่อมน้ำเหลืองในช่องอกโต/อักเสบ และอาจมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดได้
ถ้ารักษาควบคุมโรคระยะปอดอักเสบเฉียบพลัน หรือ ระยะปอดอักเสบเรื้อรังไม่ได้ โรคจะลุกลามแพร่กระจายทางกระแสโลหิต ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้กับทุกอวัยวะทั่วร่างกาย ที่เรียกว่า "ฮิสโตพลาสโมซิสระยะแพร่กระจาย (Disseminated histoplasmosis) ซึ่งจะมีอาการต่าง ๆ ได้แตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นกับว่า เป็นการติดเชื้ออวัยวะอะไรบ้าง เช่น
- สมองอักเสบ
- ช่องปากอักเสบเป็นแผล
- ลูกตาอักเสบ (Uveitis)
- กระดูกอักเสบ
- เยื่อบุหัวใจอักเสบ
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- ตับอักเสบ
- ไตอักเสบ
- ต่อมหมวกไตอักเสบ
- และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วย “กลุ่มเสี่ยง”
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w