ไลฟ์สไตล์

เปิด 3 "วิธีเอาตัวรอด" หากต้องเผชิญ สถานการณ์รุนแรง หรือเหตุ "กราดยิง"

เปิด 3 "วิธีเอาตัวรอด" หากต้องเผชิญ สถานการณ์รุนแรง หรือเหตุ "กราดยิง"

07 ต.ค. 2565

"เอาตัวรอด" อย่างไร เมื่อต้องตกอยู่ในเหตุ "กราดยิง" หรือ สถานการณ์ความรุนแรง เปิด 3 วิธีเอาตัวรอด หวั่น ซ้ำรอย โศกนาฏกรรม กราดยิงหนองบัวลำภู

จากเหตุการณ์ "กราดยิงหนองบัวลำภู" กลายเป็นโศกนาฏกรรม ซ้ำรอยเหตุ "กราดยิงโคราช" เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งประเทศตื่นตระหนก และเศร้าสลดกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น หลายหน่วยงานตื่นตัวกับการรับมือกรณีเกิดเหตุวิกฤต แต่ก็เกินความคาดคิด เหตุการณ์สลด กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง กับเด็ก ที่ไม่มีทางล่วงรู้ภัย ที่มาถึงตัวเอง การเรียนรู้วิธีเอาตัวรอด เมื่อต้องเผชิญกับเหตุร้าย แบบเฉพาะหน้า โดยเฉพาะจากเหตุ กราดยิง จึงจำเป็นที่สุด

รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ ศัลยแพทย์จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้ หากประสบเหตุอยู่ท่ามกลางการกราดยิง ระบุว่า สิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งและโดยเร็วที่สุดคือ การหลบหนี การหลบซ่อน และการต่อสู้ (Run – Hide – Fight) มีข้อควรปฏิบัติดังนี้

 

 

หลบหนี (RUN)

 

  • หนีจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด รวมถึงสังเกตและจดจำทางเข้าออกให้แม่นยำ
  • วางแผน และเตรียมพร้อมในการหลบหนีออกจากสถานที่นั้นอย่างรวดเร็วที่สุด โดยหลีกเลี่ยงเส้นทางหนีที่คับแคบ
  • มีสติอยู่เสมอขณะหลบหนี ที่สำคัญควรสละสิ่งของหรือสัมภาระทั้งหมดเพื่อการหลบหนีที่คล่องตัว และหากเป็นไปได้ ควรช่วยเหลือคนรอบตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

หลบซ่อน (HIDE)

 

ในกรณีที่ไม่สามารถหลบหนีจากเหตุกราดยิงได้ รศ.นพ.รัฐพลี แนะนำให้หาที่หลบซ่อน เพื่อให้พ้นสายตาของผู้ก่อเหตุ โดยสิ่งที่ควรทำ มีดังนี้

 

  • ปิดไฟมืด ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องมือติดต่อที่ทำให้เกิดเสียง เช่นทีวี วิทยุ เปลี่ยนเสียงโทรศัพท์ให้เป็นระบบสั่น
  • หากมีหน้าต่างหรือประตู ให้ปิดม่าน และล็อคประตูให้แน่นหนา
  • พยายามหาวัตถุที่หนักและมั่นคง เช่น โต๊ะ ตู้ กั้นประตูไว้
  • การหลบซ่อนที่ดี ควรแอบอยู่หลังหรือใต้โต๊ะ ตู้ที่แข็งแรง
  • พยายามหลีกเลี่ยงที่อับปิดตาย และไม่ควรอยู่ใกล้ที่เสี่ยงอันตราย เช่น ริมหน้าต่างกระจก
  • หากหลบซ่อนอยู่หลายคน พยายามกระจายพื้นที่หลบซ่อนให้มากที่สุด และพยายามขอความช่วยเหลือโดยไม่ต้องใช้เสียง เช่น ขอความช่วยเหลือผ่านช่องทาง SMS หรือ LINE เป็นต้น

 

 

ต่อสู้ (FIGHT)

 

หากอยู่ที่สถานการณ์คับขัน ไม่สามารถหลบหนี หรือซ่อนตัวได้ วิธีการสุดท้ายในการเอาตัวรอดคือ การต่อสู้ด้วยสติ และกำลังทั้งหมดที่มี และสิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ ในสถานการณ์ซึ่งหน้านั้น ไม่ควรพูดเพื่ออ้อนวอน ขอร้องหรือเพื่อเกลี้ยกล่อมคนร้าย เพราะวิธีการเหล่านี้มักไม่ได้ผล และในทางกลับกัน อาจยิ่งกระตุ้นคนร้ายให้ตื่นตัวมากขึ้น การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์การกราดยิงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ 

 

 

รศ.นพ.รัฐพลี กล่าวว่า เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ควรพึงมีสติ หากมีเสียงดังผิดปกติ เสียงปืน หรือเสียงระเบิด ขอให้สังเกตทิศทางและแหล่งที่มาของเสียง หากได้ยินเสียงประกาศเตือน หรือเกิดความสับสนของกลุ่มคน ขอให้พึงระวังตนเองและหาที่หลบหนี หรือหลบซ่อนโดยเร็วเปลี่ยนการสื่อสารให้เป็นแบบไม่ต้องใช้เสียง รวมถึงหาช่องทางในการแจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ เพื่อบอกตำแหน่งของมือปืนต้นเหตุ จำนวนผู้ก่อเหตุ ลักษณะ และการแต่งตัวของผู้ก่อเหตุ จำนวนและประเภทอาวุธ และจำนวนผู้ที่ต้องสงสัยว่าบาดเจ็บ

 

การเตรียมพร้อมที่ทุกคนพึงมี

 

  • ควรทราบเบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็น เช่น เบอร์ 191, 1669 หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นช่วยเหลือฉุกเฉิน เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉินในหลาย ๆ ช่องทาง
  • ควรรับการฝึกอบรมปฐมพยาบาลสำหรับอุบัติเหตุ หรือการอบรมการห้ามเลือด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดคิด
  • ก่อนออกจากบ้าน ควรชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือให้เต็ม มีแบตเตอรี่สำรองพร้อมสายชาร์จเสมอ
  • บอกที่มาที่ไปและเวลากลับให้คนที่บ้าน หรือเพื่อนสนิททราบเพื่อสามารถช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน

 

ในประเด็นที่ควรทราบอีกประเด็นคือ การควบคุมสติให้สามารถรับมือกับความตึงเครียด ณ เวลานั้นให้ได้ ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำว่า การจะรอดจากเหตุการณ์นี้ อย่างแรกต้องมีสติ พยายามหายใจเข้าเพื่อเรียกสติกลับมา นอกจากนี้ ยังมีอีกหลักการหนึ่งที่เรียกว่า Grounding หรือการสังเกตรอบตัว เช่น การมองไปรอบตัว การฟังเสียงและวิเคราะห์เหตุการณ์รอบข้าง เมื่อสามารถปฏิบัติดังนี้ได้ สมองส่วนที่ใช้ในการคิดจะกลับมา และควรฝึกฝนสติให้อยู่กับตนเองสม่ำเสมอ

 

 

ทั้งนี้ เหตุการณ์ Mass Shooting หรือการกราดยิงในประเทศไทย เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือเหตุการณ์ปล้นชิงทองกลางห้างสรรพสินค้าในจังหวัดลพบุรี และเหตุกราดยิงโคราช โดยกรณีเหตุที่เข้าข่าย เป็นเหตุกราดยิง ประกอบด้วยเหตุการณ์จะเกิดในที่ชุมชน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4 คน ไม่รวมผู้ก่อเหตุ ขณะที่ผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมการเลือกเหยื่อ โดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า และอาจมีเป้าหมายอื่นนอกเหนือจากการคร่าชีวิตคน เช่น การปล้นทรัพย์การชิงทรัพย์ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ จากงานวิจัย พบว่า ผู้ก่อเหตุในกรณีเหตุกราดยิง จะพบจุดจบคือการเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการจนมุมเจ้าหน้าที่ แล้วกระทำอัตวินิบาตกรรม หรือถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญในที่เกิดเหตุ

 

 

ขอบคุณข้อมูล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057