"ลอยกระทง 2565" ตรงกับวันไหน เปิดความหมาย และ คำขอขมา พระแม่คงคา วันลอยกระทง
"ลอยกระทง 2565" ตรงกับวันไหน เป็น วันหยุด หรือเปล่า พร้อม เปิดความหมาย และ คำขอขมา พระแม่คงคา ในประเพณี "วันลอยกระทง"
"วันลอยกระทง" หรือ ประเพณีลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ซึ่งเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง โดยจะมีการนำ ดอกไม้ ธูป เทียน หรือสิ่งของใส่ลงในกระทงแล้วนำไปลอยน้ำ ซึ่งเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชา และขอขมาพระแม่คงคา "ลอยกระทง" จึงนับเป็นเทศกาลสำคัญในประเทศไทย ที่มีความหมาย ซึ่ง "ลอยกระทง 2565" นี้ตรงกับวันที่เท่าไร แล้วเป็นวันหยุดหรือไม่ ไปหาคำตอบกัน
"วันลอยกระทง" ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติบางปี เทศกาลลอยกระทงก็จะมาตรงกับเดือนตุลาคมด้วย เช่นปี พ.ศ. 2544 วันลอยกระทงตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม และจะมาตรงกันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2563 ส่วน "ลอยกระทง 2565" นี้ จึงตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน และไม่ถือเป็นวันหยุด
ประวัติ วันลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทงเชื่อกันว่าเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง มีนางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยนางนพมาศจะนำเอาดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสอง มาใส่เทียนประทีป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีหลักฐานว่า ประเพณีลอยกระทงไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1 สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทง ได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป มักจัดขึ้นบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ
ความหมายของวันลอยกระทง
ลอย หมายความว่า ไม่จม อยู่บนผิวน้ำ หรือ ปล่อยให้เคลื่อนไปตามน้ำ
กระทง หมายถึง ภาชนะที่ประดิษฐ์ ขึ้นอย่างรูปดอกบัว เป็นต้น เพื่อใช้ลอยน้ำในประเพณีลอยกระทง
ลอยกระทง หมายความว่า ชื่อเทศกาลอย่างหนึ่งที่ทำกันในวันเพ็ญเดือน 12 โดยเอากระทงบรรจุธูปเทียน ดอกไม้ เป็นต้น จุดไฟแล้วลอยลงในน้ำ เพื่อขอขมาพระแม่คงคา และลอยทุกข์ลอยโศกออกไป
ต่างประเทศมีประเพณีลอยกระทงหรือไม่
บางประเทศก็มีเทศกาลลอยกระทงด้วย เช่น
- ประเทศลาว มักจะลอยกระทงในวันออกพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ในงานไหลเฮือไฟของลาว
- ประเทศกัมพูชา มีการลอยกระทง 2 ครั้ง คือลอยกระทงของหลวง กลางเดือน 11 ส่วนราษฎรทำกระทงเล็ก และบรรจุอาหารไปด้วย ส่วนกลางเดือน 12 จะมีกระทงของหลวงเป็นกระทงใหญ่ ราษฎรจะไม่ได้ทำ และกระทงนี้จะมีอาหารบรรจุลงไปด้วย โดยมีคติว่า เพื่อส่งส่วนบุญไปให้เปรต เทศกาลน้ำจะมีการเฉลิมฉลองด้วยการแข่งเรือยาว การแสดงพุลดอกไม้ไฟ จัดขึ้นทุกปีตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ จนถึงแรม 1 ค่ำ เดือนพฤศจิกายน
- ประเทศเมียนมาร์ ในวันลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำ "กระทง" ตกแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในสายน้ำ (ในพื้นที่ติดทะเล ก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล) เชื่อว่า เป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าการลอยกระทง เป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคา
คำขอขมาพระแม่คงคา
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต
ข้าแต่คงคา ลูกขอวันทา ด้วยประทีปกระทง พระแม่คงคา มีความเมตตา ต่อลูกสูงส่ง คือน้ำในกาย สามส่วนมั่นคง กายจึงยืนยง ชุ่มชื่นยืนนาน พระแม่คงคา กำเนิดจากฟ้า โปรยปรายลงมา เป็นกระแสธาร เกิดเป็นแม่น้ำ หลายนามขนาน ปิง, วัง, ยม, น่าน คือเจ้าพระยา ท่าจีน, ตาปี นครชัยศรี โขง, ชี, มูล, ละหาร ห้วยหนองคลองบึง จนถึงแก่งกว๊าน น้ำใต้บาดาล อีกทั้งประปา ลูกลูกทั้งหลาย เดินทางขายค้า สำเร็จกิจจา คมนาคม นำมากินใช้ ได้ดั่งอารมณ์ ยามร้อนประพรม ชุ่มชื่นกายใจ ชำระมลทิน โสโครกทั้งสิ้น สะอาดสดใส ผุดผ่องพราวตา แลเลิศวิไล แม่น้ำรับไว้ สกปรกโสมม น้ำเสียเรือนชาน ซักผ้าล้างจาน เททิ้งทับถม ไหลลงคงคา ธาราระทม สารพิษสะสม เน่าคลุ้งฟุ้งไป วันนี้วันเพ็ญ พระจันทร์ลอยเด่น เป็นศุภสมัย ลูกจัดกระทง ประสงค์จงใจ นำมากราบไหว้ พระแม่คงคา เทวาทรงฤทธิ์ ซึ่งสิงสถิต ทุกสายธารา ทั้งผีพรายน้ำ อย่าซ้ำโกรธา ลูกขอขมา อโหสิกรรม ทำกิจใดใด อุทกภัย อย่าได้เติมซ้ำ อย่าพบวิบัติ ข้องขัดระกำ อย่าให้ชอกช้ำ น้ำท่วมพสุธา อย่าให้สินทรัพย์ ต้องพลันย่อยยับ เพราะสายธารา อย่าให้ชีวิต ต้องปลิดชีวา พระแม่คงคา รับขมาลูก เทอญ
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057