"จันทรุปราคา" ส่อง 7 ขั้นตอน การเกิด ราหูอมจันทร์ วัน ลอยกระทง 2565
"จันทรุปราคา 2565" จันทรุปราคาเต็มดวง ส่อง 7 ขั้นตอน การเกิด ราหูอมจันทร์ "วันลอยกระทง 2565" ครั้งสุดท้ายของปี
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา หรือ หรือความเชื่อทางโหราศาสตร์เรียกว่า "ราหูอมจันทร์ เกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์และเป็นจังหวะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลก ทำให้ผู้สังเกตบนโลกฝั่งกลางคืน ในพื้นที่กว่าครึ่งโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งหายไปในเงามืดแล้วโผล่กลับออกมาอีกครั้ง "จันทรุปราคา 2565" จะเกิดขึ้นอีกครั้งในคืน "ลอยกระทง 2565" วันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งจะเป็นการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
จันทรุปราคาเต็มดวง วันลอยกระทง 2565
วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง บริเวณที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้ ได้แก่ ด้านตะวันตกของแอฟริกา ยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะเกิดจันทรุปราคา ดวงจันทร์อยู่ในกลุ่มดาวแกะ จันทรุปราคากำลังดำเนินอยู่ขณะดวงจันทร์ขึ้นเหนือขอบฟ้าประเทศไทย
ขณะเกิดจันทรุปราคาในวันนี้ ดาวยูเรนัสกำลังจะผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์พอดี ทำให้บางส่วนของโลก รวมทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย สามารถเห็นดวงจันทร์บังดาวยูเรนัสได้
ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา "ลอยกระทง 2565"
- ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก เวลา 15:02:15
- เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน เวลา 16:09:12
- เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เวลา 17:16:39
- ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด เวลา 17:59:10 (ขนาดอุปราคา = 1.3592)
- สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง เวลา 18:41:39
- สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน เวลา 19:49:05
- ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก เวลา 20:56:11
ลักษณะของดวงจันทร์เมื่อเกิดราหูอมจันทร์ หรือจันทรุปราคาเต็มดวง
เมื่อเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์ไม่ได้หายไปจนมืดทั้งดวง แต่จะเห็นเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากมีการหักเหของแสงอาทิตย์เมื่อส่องผ่านชั้นบรรยากาศของโลก สีของดวงจันทร์เมื่อเกิดจันทรุปราคาแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน แบ่งออกได้เป็น 5 ระดับ ดังนี้
- ระดับ 0 ดวงจันทร์มืดจนแทบมองไม่เห็น
- ระดับ 1 ดวงจันทร์มืด เห็นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลแต่มองไม่เห็นรายละเอียด ลักษณะพื้นผิวของดวงจันทร์
- ระดับ 2 ดวงจันทร์มีสีแดงเข้มบริเวณด้านในของเงามืด และมีสีเหลืองสว่างบริเวณด้านนอกของเงามืด
- ระดับ 3 ดวงจันทร์มีสีแดงอิฐและมีสีเหลืองสว่างบริเวณขอบของเงามืด
- ระดับ 4 ดวงจันทร์สว่างสีทองแดงหรือสีส้ม ด้านขอบของเงาสว่างมาก
จันทรุปราคา เกิดจากอะไร
ข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย ระบุว่า จันทรุปราคาไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เนื่องจากระนาบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ และระนาบการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกทำมุมกัน 5 องศา ในการเกิดจันทรุปราคา ดวงจันทร์จะต้องอยู่บริเวณจุดตัดของระนาบวงโคจรทั้งสอง และต้องอยู่ใกล้จุดตัดนั้นมาก จึงจะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง หรือจันทรุปราคาบางส่วนได้
ระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์มีผลต่อความเข้มของจันทรุปราคาด้วย นอกจากนี้ หากดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากโลกมากที่สุด (apogee) จะทำให้ระยะเวลาในการเกิดจันทรุปราคานานขึ้น ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
- ดวงจันทร์จะเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ช้าที่สุดตลอดการโคจรรอบโลก
- ดวงจันทร์ที่มองเห็นจากโลกจะมีขนาดเล็ก จะเคลื่อนที่ผ่านเงาของโลกไปทีละน้อย ทำให้อยู่ในเงามืดนานขึ้น
ทั้งนี้ พ.ศ. 2565 มีจันทรุปราคาเกิดขึ้น 2 ครั้ง ประเทศไทยมีโอกาสเห็นจันทรุปราคาครั้งสุดท้ายเพียงครั้งเดียว คือ เกิดขึ้นในเวลาหัวค่ำของวันลอยกระทง 2565 วันที่ 8 พฤศจิกายน โดยจะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวยูเรนัสในช่วงเวลาเดียวกัน สังเกตดาวยูเรนัสอยู่ใกล้ขอบดวงจันทร์ได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์
ขอบคุณข้อมูล : สมาคมดาราศาสตร์ไทย ขอบคุณภาพ : Aaron Collier
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057