เก็บ แยก รีไซเคิล จาก "ขยะกระทง" แปลงร่างเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจากใยกล้วย
เทศบาลเมืองน่าน นำทีมเยาวชน ลงพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำน่าน ร่วมกันเก็บคัดแยก "ขยะกระทง" ถอดแม็ก ตะปู ออก ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลผลิตเป็นกระดาษ และผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจากใยกล้วย
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับประเพณีลอยกระทง ที่ปีนี้บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก มีประชาชน ออกมาร่วมลอยกระทงกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทงที่นำมาลอยนั้น ส่วนใหญ่จะทำมาจากวัสดุที่ย่อยสลายง่าย หรือสามารถใช้เป็นอาหารปลาได้
แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ก็ยังคงเกิดขยะที่เกิดจากกระทงอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดแนวคิดในการแปรรูปขยะกระทง ให้สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์
เทศบาลเมืองน่าน นำโดยนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองน่าน นักเรียนนักศึกษา ได้ช่วยกันจัดเก็บขยะกระทง ที่ลอยเกลื่อนบริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็น ขยะกระทง หลังจากเทศกาลประเพณีลอยกระทงเมื่อค่ำคืนวันที่ 8 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา
เพื่อนำมาให้คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน บ้านสวนตาล ได้นำขยะกระทง นำมาคัดแยกวัสดุที่เกิดจากการทำกระทง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน
นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวว่า ทุกปีหลังเสร็จสิ้นประเพณีการลอยกระทงประจำปี พบว่าเกิด “ขยะกระทง” เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำน่าน เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ ซึ่งวัสดุส่วนใหญ่ที่ประชาชนนิยมนำมาประดิษฐ์เป็นกระทงได้แก่ ต้นกล้วย ใบตอง ดอกไม้ ก้านกล้วย
แม้ว่าประชาชนจะหันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถนำขยะกระทงที่จะต้องเก็บไปทิ้งยังบ่อฝังกลบขยะของเทศบาลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้นำไป ผลิตกระดาษสา กระดาษกล้วย และอีกหลายผลิตภัณฑ์ ให้เข้าสู่กระบวนการ เพื่อนำไปผลิตเป็นกระดาษจากใยกล้วยต่อยอดทำเป็นกล่องกระดาษใยกล้วย หรือผลิตภัณฑ์รักษ์โลกอื่นๆ
ทั้งนี้ เทศบาลเมืองน่าน ได้สร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน จาก “ขยะกระทง” สู่ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่ไม่ธรรมดา และเด็กนักเรียนยังได้เรียนรู้การคัดแยกขยะกระทง การแยกเทียนเพื่อนำไปหลอมเป็นเทียนได้ใหม่ ดอกไม้ใบตองสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ ตะปูในกระทงสามารถนำไปใช้ซ้ำได้
จากนั้นทางเทศบาลเมืองน่านได้นำรถบรรทุกหยวกกล้วย ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่ใช้ทำกระทง หลังจากได้คัดแยกออกจากวัสดุอื่น ๆ แล้ว ได้ขนไปยังศูนย์เรียนรู้ 3R พาพอเพียง โรงเรียนดรุณวิทยาฯ เพื่อนำหยวกกล้วยเข้าสู่กระบวนการแปลงสภาพจาก “หยวกกล้วย” ให้กลายเป็นกระดาษกล้วยเพื่อสร้างมูลค่า และผลิตเป็น “ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก” เช่น กล่องใส่ของขวัญ ของที่ระลึก กล่องใส่อุปกรณ์การเรียน บอร์ดนิทรรศการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดปริมาณขยะได้ ยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กและเยาวชนเมืองน่าน อีกด้วย
สมาน สุทำแปง จ.น่าน
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek