ไลฟ์สไตล์

3 ธ.ค. รู้จัก "วันคนพิการสากล" สิทธิที่คนพิการควรรู้

3 ธ.ค. รู้จัก "วันคนพิการสากล" สิทธิที่คนพิการควรรู้

03 ธ.ค. 2565

องค์การสหประชาชาติ UN ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี คือ "วันคนพิการสากล" พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ ขับเคลื่อนปฏิบัติการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่อง

องค์การสหประชาชาติ UN ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี คือ "วันคนพิการสากล" (International Day of People with Disability)  ตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา โดย สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ รับรองแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ  พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เฉลิมฉลองวันคนพิการสากลทุกปี เพื่อขับเคลื่อนปฏิบัติการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่องทั่วโลก 

องค์การสหประชาชาติ UN ต้องการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ "วันคนพิการสากล" ให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยอยู่บนฐานของสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม และได้มาตรฐานในระดับสากล อนึ่ง ตั้งแต่ปี 2530 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อวันคนพิการในแต่ละปีด้วย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ศักด์ศรีและความยุติธรรมเพื่อคนทั้งมวล ทุกเรื่องคนพิการต้องมีคนพิการ

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจทางสถิติขององค์การสหประชาชาติ พบว่า กลุ่มประเทศแถบเอเชียและแปซิฟิกนี้มีจำนวนประชากรที่เป็นบุคคลพิการมากที่สุดในโลก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหาของความยากจน นอกเหนือจากนั้นก็เป็นเพราะสาเหตุของความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุและผลของสงคราม และด้วยความพิการทุพพลภาพนี้เองที่เริ่มแพร่มากขึ้นทุกขณะ ทางองค์การสหประชาชาติจึงเร่งตระหนักที่หาหนทางวิธีการแก้ไขป้องกันโดยเร็ว เพื่อที่จะลดจำนวนของผู้พิการลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

ด้วยคำนิยาม "วันคนพิการสากล" ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ไว้ว่า ผู้พิการ คือ บุคคลที่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น ได้ยิน เคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา หรือ การเรียนรู้ ทำให้มีความจำเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้ปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้เหมือนคนอื่นทั่วไป ซึ่งสิทธิที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)  พ.ศ. 2556 ได้กำหนดสิทธิคนพิการที่ได้รับไว้ ดังนี้

 

 

สิทธิทางการแพทย์

  • ผู้พิการสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทองคนพิการ ท.74 ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง โดยไม่ต้องมีใบส่งต่อ และเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยมีสิทธิได้รับบริการขั้นพื้นฐานทางการแพทย์
  • สิทธิประโยชน์หลัก : บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การคลอดบุตร ทันตกรรม การตรวจวินิจฉัย และการรักษาพยาบาล
  • สิทธิเฉพาะผู้พิการ : การได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งในและนอกหน่วยบริการ ได้แก่ กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การฟื้นฟูการได้ยิน การฟื้นฟูการเห็น การกระตุ้นพัฒนาการ การได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการ และการพัฒนาศักยภาพในรูปแบบอื่นๆ เป็นต้น

 

สิทธิทางการศึกษา

  • ผู้พิการสามารถเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ ตั้งแต่แรกเกิดหรือเมื่อพบความพิการ และได้รับบริการสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ตามความจำเป็นและเหมาะสมอย่างทั่วถึง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มเรียนไปจนถึงปริญญาตรี สถานศึกษาใดปฏิเสธไม่รับคนพิการเข้าศึกษา ให้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย

 

  • สำหรับรายการเงินอุดหนุนการศึกษาระดับอุดมศึกษา ประกอบด้วย ค่าเล่าเรียน ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นในทุกหลักสูตร ไม่เกินอัตราบาท/ราย/ปี ดังนี้

1.) สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ อัตรา 60,000 บาท

2.) ศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ อัตรา 60,000 บาท

3.) วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อัตรา 70,000 บาท

4.) เกษตรศาสตร์ อัตรา 70,000 บาท

5.) สาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ อัตรา 90,000 บาทล

6.) แพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ อัตรา 200,000 บาท

 

สิทธิด้านอาชีพ

ผู้พิการสามารถ เข้ารับการฝึกอาชีพจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ ทั้งหมด 9 แห่ง, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ, สำนักงานประกันสังคม โดยศุนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน

นอกจากนี้ใน การจ้างงานคนพิการ นั้น กฎหมายได้กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องรับคนพิการเข้าทำงาน 1 คน (อัตราส่วน 100 : 1) เศษของ 100 คน ถ้าเกิน 50 คนรับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน หากสถานประกอบการไหนมารับลูกจ้างคนพิการ มี 2 ทางเลือก 2 ทาง คือ 1.) ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือ 2.) จ้างงานคนพิการ

ในส่วนของ การกู้ยืมเงิน เพื่อประกอบอาชีพ หากเป็นการกู้ยืมแบบรายบุคคล ผู้พิการที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปและผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมาย สามารถกู้ยืมเงินได้รายละไม่เกิน 60,000 บาท กรณีต้องการกู้ยืมเงินเกินกว่าวงเงินกำหนด จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยไม่เกิน 120,000 บาท ผ่อนชำระภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย และกรณีกู้ยืมเงินแบบรายกลุ่ม จะได้ไม่เกิน 1,000,0000 บาท ผ่อนชำระภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย

 

สวัสดิการเบี้ยผู้พิการ

  • ผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ สามารถลงทะเบียนขอรับสวัสดิการเบี้ยความพิการได้ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเมืองพัทยา โดยมีเกณฑ์การจ่ายสวัสดิการเบี้ยความพิการ รายเดือนๆ ละ 800 – 1,000 บาท

 

บริการล่ามภาษามือไทย

  • การให้บริการล่ามภาษามือสำหรับคนพิการทางการได้ยิน หรือการสื่อความหมาย โดยล่ามภาษามือได้ค่าตอบแทนในอัตราไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 300 บาท และไม่เกินชั่วโมงละ 500 บาท และอัตราชั่วโมงละ 600 บาท กรณีให้บริการในการประชุมสัมมนา ฝึกอบรม และกรณีความจำเป็นต่างๆ

 

สวัสดิการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย

  • การปรับสภาพที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ เพื่อความสะดวกในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ปรับปรุงห้องน้ำ ติดตั้งราวจับ ปรับพื้นผิวทางเดิน เป็นต้น กฎหมายกำหนดให้ในอัตราเหมาจ่ายรายละไม่เกิน 40,000 บาท

 

บริการผู้ช่วยผู้พิการ

  • ผู้พิการที่มีสภาพความพิการมากจนไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรที่สำคัญในการดำรงชีวิตด้วยตนเองได้ สามารถขอความช่วยเหลือจาก “ผู้ช่วยคนพิการ” (Personal Assistant : PA) เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจวัตรที่สำคัญในการดำรงชีวิตได้

 

การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ

  • หน่วยงานราชการ สามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการ อย่างน้อย 5 ประเภท ได้แก่ ทางลาด ห้องน้ำ ที่จอดรถ ป้ายและสัญลักษณ์ และบริการข้อมูลข่าวสาร

 

การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้พิการ

  • คนพิการสามารถขอความช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดหาทนายความว่าต่างทางคดีให้ได้รับความเป็นธรรมตามข้อกำหนดดังนี้
  • การให้คำปรึกษาหารือทางกฎหมาย
  • การให้ความรู้ทางกฎหมาย
  • การจัดทำนิติกรรมสัญญา
  • การไกล่เกลี่ยหรือการประนีประนอมยอมความ
  • การจัดหาทนายความ
  • การให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ในทางคดี

 

การลดหย่อนค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ

  • รถไฟฟ้าลอยฟ้า BTS ให้ขึ้นฟรีทุกสถานี
  • รถไฟฟ้าใต้ดิน  MRT ให้ขึ้นฟรีสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) และ สายฉลองรัชธรรม (สีม่วง)
  • แอร์พอร์ต ลิงค์ ให้ขึ้นฟรีทุกสถานี
  • ขสมก. และรถร่วม ขสมก. ลดค่าโดยสาร 50% (ไม่รวมค่าธรรมเนียม)
  • บขส. ลดค่าโดยสาร 50% (ไม่รวมค่าธรรมเนียม)
  • เรือโดยสารประจำทางแม่น้ำเจ้าพระยา เรือในคลองแสนแสบ และเรือข้ามฟาก ให้ขึ้นฟรี
  • รถไฟ ลดค่าโดยสาร 50% (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) และลด 25% สำหรับผู้ติดตาม ทุกชั้นตลอดทุกสายทาง ตลอดทั้งปี

 

การคุ้มครองสวัสดิภาพ

  • ผู้พิการที่ประสบปัญหาทางสังคม ไม่มีที่อยู่อาศัย ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู สามารถเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการได้

 

มาตรการภาษีสำหรับผู้พิการ

  • ผู้พิการจะได้รับการ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และผู้พิการที่มีเงินได้ ที่ต้องเลี้ยงดูบิดา มารดา สามีภรรยา และบุตร สามารถนำค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพได้คนละ 60,000 บาท
  • นอกจากนี้นายจ้างที่รับผู้พิการเข้าทำงาน สามารถนำรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่พนักงานผู้พิการไปลดหย่อนภาษีได้ 100%